สธ.แจงปมจัดหาวัคซีน ไม่มีเงินทอน-ยันรักษาประโยชน์ชาติ

สังคม
21 ก.ค. 64
17:21
2,096
Logo Thai PBS
สธ.แจงปมจัดหาวัคซีน ไม่มีเงินทอน-ยันรักษาประโยชน์ชาติ
กระทรวงสาธารณสุข แถลงโต้ปมถูกโยงเงินทอนซื้อวัคซีน COVID-19 ยันไร้ทุจริตแน่อน แจงสัญญาแอสตราเซเนกา ทำตามขั้นตอน บางเรื่องไม่เปิดเผยแต่ไม่ทำให้ไทยเสียประโยชน์ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด ด้านผอ.สถาบันวัคซีนขอโทษหาวัคซีนล่าช้า

วันนี้ (21 ก.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีน COVID-19 ที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ในหลายประเด็น โดยมีข้อมูลน้อยไม่ครบถ้วน จะยิ่งเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน โดยเฉพาะการกล่าว หาเรื่องการทุจริต และมีเงินทอน ทางสธ.มั่นใจว่าการจัดหาวัคซีนไม่มีการทุจริตแน่นอน

ส่วนที่ติงเรื่องการไม่เปิดผลการเจรจาเป็นสาธารณะ นพ.ศุภกิจ ระบุว่า การเจรจาจะมีสิ่งที่ต้องเป็นข้อตกลงกับผู้จัดหากับผู้ผลิตวัคซีน คือไม่เอาข้อความที่เจรจามาเปิดเผย เพราะมีทั้งเรื่องราคา คุณสมบัติ และถ้าเอาผลเจรจามาเปิดเผยทุกนัดจะกลายเป็นผลเสีย ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คนในแวดวงส่วนใหญ่เข้าใจ

การเปิดเผยผลการเจรจา หลายกรณีเป็นผลร้ายมา เช่น ช่วงการระบาดในปี 2563 ที่ไทย ขอให้แอสตราเซเนกา จัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตมาให้ก่อนเดือน มิ.ย. กระทั่งพอเริ่มมีเคสระลอก 2 ระบาดในเดือนพ.ย.-ธ.ค.2563 ซึ่งมาจากผลการเจรจาหลายครั้ง เขาก็ตัดล็อตวัคซีนจากยุโรปมาก่อน แต่พอมีข่าวออกไปทางยุโรปสั่งห้ามโรงงานในอิตาลีไม่ให้ส่งวัคซีนมาไทย

 

นพ.ศุภกิจ ระบุว่า สำหรับการจัดหาวัคซีน กลไกของสธ.มี 2 ส่วนคือกลไกตามกฎหมาย คือมี พ.ร.บ.วัคซีนแห่งชาติ มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ภายใต้กลไกนี้เกี่ยวข้องกับของการจัดหาวัคซีน มีกรรมการหลายฝ่าย การจัดซื้อวัคซีน จะซื้อเท่าไหร่ ต้องมีการนำมาพิจารณาเห็นชอบ

นอกจากนี้ยังมีกลไก ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ตั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข คนก่อน เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีน มีการเจรจาหาวัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามา รวมทั้ง โครงการโคแวก ซึ่งขณะนั้นคิดว่าเป็นช่องทางในการจัดหาวัคซีนมาให้ไทย 

ในคณะกรรมการชุดปลัดสธ.มีการคุยกับมาเป็นสิบครั้ง ตั้งแต่เดือนส.ค.2563 มีการนำข้อมูลมาคุยกัน บนผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับไทย เรียกว่าทำงานกันหนัก แต่เนื่องจากวัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไป ตอนนี้ทั่วโลกเองก็ยังไม่เพียงพอจากสถานการณ์โรคที่เกิดขึ้นจึงต้องปรับแผน

แจงยิบขั้นตอนจัดหาวัคซีนมาไทย  

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดหาวัคซีน COVID-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเป็นภารกิจสำคัญที่กรมควบคุมโรคต้องดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนการทำงานในระดับกรม ได้จัดทีมเจรจากับทางบริษัทผลิตวัคซีน COVID-19 ต้องดูทั้งเรื่องข้อมูล ผลศึกษาด้านประสิทธิภาพของวัคซีน ราคา ความเหมาะสมการใช้งานในไทย รวมทั้งการจัดเก็บ ขนส่ง และผลข้างเคียงต่างๆ

การทำงานจัดหาวัคซีนทำงานเป็นทีม ทั้งกรมควบคุมโรคสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน การพูดคุยต้องเป็นขั้นตอน ทั้งเรื่องการพิจารณาเอกสารที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ เอกสารต้องตรวจทาน เนื่องจากเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งต้องส่งไปให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความรอบคอบก่อนการลงนาม

ลั่นรักษาประโยชน์ประเทศ-ไม่เสียเปรียบ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องเอกสารการจองภาคภาษาอังกฤษ ที่มีเรื่องข้อผูกมัด ข้อตกลง จึงต้องมีการหารือร่วมกัน และต้องตรวจเอกสาร ก่อนจะลงนาม และสุดท้ายเป็นขั้นตอนสัญญาการสั่งซื้อของวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการลงนามเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.)

จะเห็นว่าการทำงานแต่ละขั้นตอนมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับไทยมากที่สุดทั้งเรื่องราคา เงื่อนไข การกำหนดวันส่งมอบวัคซีน การดูแลผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะส่งไปใช้ รวมทั้งสัญญามัดจำ

 

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า รวมถึงเมื่อมีการส่งมอบวัคซีน จะต้องจ่ายเงินอีกจำนวนเท่าใด ที่ต้องมีการหารือกับทางกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียด และต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า แต่ก็ยังใช้ระยะเวลาหลายเดือน แต่ไม่ได้ล่าช้ากว่าวันส่งมอบวัคซีน เพราะทราบแล้วว่า จะส่งมอบวันใด

ไทยมีกำหนดรับมอบวัคซีนไฟเซอร์ อยู่ในไตรมาสที่ 4  หากต้องการรวดเร็วกว่านั้น จะต้องมีการต่อรองเพื่อให้เร็วขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ไทยต้องการทั้งหมด

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการบริจาควัคซีนให้ไทย ก็ต้องทำสัญญาให้ครอบคลุมถึงเรื่องวัคซีนบริจาคด้วย เพื่อให้การดูแลเหมือนเงื่อนไขกับวัคซีนที่จัดซื้อ ยืนยันว่าทุกอย่างทำด้วยความรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลเสีย และให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด

ผอ.สถาบันวัคซีนขอโทษหาวัคซีนช้า-ยันดีลโคแวกซ์

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาจะหาวัคซีน โดยการติดต่อผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้ว และที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย มาตั้งแต่เดือนส.ค.63 และพยายามหาช่องทางจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า แม้ว่าวัคซีนจะอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ต่อมาเมื่อ สธ.ออกประกาศ ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18 (4) ที่เปิดให้สถาบันวัคซีน ทำการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ในระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาในการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส เป็นการจองล่วงหน้าตั้งแต่ ส.ค.63

ทั้งนี้ ก่อนการลงนามในส่วนใดจะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศเพื่อให้พิจารณาก่อน ทุกอย่างในการดำเนินงานของภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบระเบียบ จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่ทำให้เกิดความรับรู้ว่า การดำเนินการการจัดหาวัคซีนของอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี

ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่แม้จะได้พยายามอย่างเต็มที่ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด การระบาด COVID-19 ที่ไม่เคยเจอ และการกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ทำให้การระบาดรวดเร็วและรุนแรงกว่าช่วงปีที่แล้ว จนการจัดหาวัคซีนไม่ตรงสถานการณ์

พร้อมยังยืนว่าไทยยังอยู่ในระหว่างการเข้าร่วมโคแวกซ์ แต่ยังไม่ได้ลงนามเพื่อจัดหาวัคซีนร่วมกัน สถาบันวัคซีนได้เตรียมการอยู่ระหว่างเจรจาส่งหนังสือประสานไปยังหน่วยงานชื่อGavi เพื่อขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับ Covax เพื่อจัดหาวัคซีนปี 2565 ก่อนจะนำเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติด COVID-19 แตะ 13,002 คน เสียชีวิต 108 คน

รพ.สระบุรีเตียงเต็ม! ระบุภาพที่เห็นในโซเชียล ผู้ป่วยคัดกรอง-รอเตียง

สธ.เผยปี 64 ไทยจัดหาวัคซีนโควิดได้ 100 ล้านโดส

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง