สธ.ชี้แจงฉีดแอสตราฯ บูตเตอร์โดสให้บุคลากรด่านหน้า

สังคม
23 ก.ค. 64
17:09
931
Logo Thai PBS
สธ.ชี้แจงฉีดแอสตราฯ บูตเตอร์โดสให้บุคลากรด่านหน้า
กรมควบคุมโรค ชี้แจงจำเป็นต้องฉีดบูตเตอร์โดสบุคลากรด่านหน้าด้วยแอสตราเซเนกาก่อน เพราะกลุ่มนี้ยังมีการติดเชื้อวฃสูง หากไฟเซอร์เข้ามาแล้วจะฉีดควบคู่กันไป

วันนี้ (23 ก.ค.2564) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ชี้แจงการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน พร้อมอธิบายผลการศึกษาที่ระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิผล ร้อยละ 90 มีการศึกษาอย่างไร

สธ.เปิด 4 ผลการศึกษาในไทย "ซิโนแวค" ป้องกันโควิดได้ 71-90%

ปัจจุบันวัคซีนโควิดทั่วโลก มีการผลิต 4 รูปแบบเทคโนโลยี

1.วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย คือ วัคซีนโคโรนาแวค วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่มาจากประเทศจีน ทั้งนี้ ยังมีวัคซีนเชื้อตายอีกหลายประเทศ แต่ยังไม่ได้รับรองจากองค์การอนามัยโลก

2.วัคซีนที่ผลิตจากชิ้นส่วนของโปรตีน โดยสังเคราะห์ชิ้นส่วนจากโปรตีน ให้เลียนแบบเหมือนกับชิ้นส่วนของไวรัสโควิด แล้วผลิตสังเคราะห์ขึ้น วัคซีนประเภทนี้ยังไม่มีตัวใดได้รับการจดทะเบียน แต่มีวัคซีนตัวที่เชื่อว่า ได้ผ่านการทดลองเฟส 3 สำเร็จแล้ว และอาจได้รับการจดทะเบียนและนำมาใช้คือ วัคซีนโนวาแวกซ์

3.วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ อาศัยไวรัสชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายรุนแรง โดยอาศัยไวรัสนำชิ้นส่วนของไวรัสโควิดบางส่วน เข้าไปช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน คือ วัคซีนแอสตราเซเนกา วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน วัคซีนสปุตนิก

4.เทคโนโลยี mRNA เป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายสังเคราะห์ภูมิต้านทานขึ้นมา คือ วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา

ซึ่งประเทศไทยใช้วัคซีนซิโนแวคในการระบาดช่วงแรก จากนั้นใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือน มิ.ย. และในระยะถัดไปไทยจะใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งซื้อแล้ว คาดว่าจะมาในไตรมาสที่ 4 จำนวน 40 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้วัคซีนไฟเซอร์จากการบริจาคของรัฐบาลสหรัฐฯ 1-5 ล้านโดส

วัคซีนทั้ง 4 รูปแบบมีความปลอดภัยเหมือนกัน แตกต่างกันที่เทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้อาจทำให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดไม่เท่ากัน และภูมิต้านทานจะสามารถป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี

ซึ่งเราเชื่อว่าภูมิต้านทานจะไปป้องกันการติดเชื้อ หรือ ป้องกันการป่วย การเสียชีวิต ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีน บางคนไปตรวจระดับภูมิคุ้นกัน บางคนไปวัดระดับประสิทธิภาพที่ดูว่าสามารถทำให้คนไม่ติดเชื้อได้เท่าไหร่ หรือวัดที่ระดับการป้องกันการเสียชีวิตได้เท่าไหร่

ฉะนั้น สิ่งที่วัดประสิทธิภาพในการใช้จริง ทั้งการป้องกัน การติดเชื้อและการเสียชีวิต เรียกว่า วิธีการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งวัดจากการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งเกิดขึ้นจริงจากการใช้จริง ไม่ได้วัดภูมิต้านทาน เพื่อที่จะเปรียบเทียบได้ว่า ประสิทธิผลของวัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริงหรือไม่

สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค ที่ได้ทำการศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.สมุทรสาคร จ.เชียงราย และกรมควบคุมโรค ที่ จ.ภูเก็ต ทำการศึกษากับกลุ่มคนเสี่ยงสูงที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,541 คน ในระยะเวลา 14 วัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม 100 คน ติดเชื้อโควิด 1 คน (ร้อยละ 1) ขณะกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 1,138 คน ติดเชื้อโควิด 111 คน (ร้อยละ 10)

ทั้งนี้ วิธีวัดประสิทธิผลของวัคซีน ต้องนำอัตราที่ได้รับวัคซีน เปรียบเทียบกับอัตราการติดเชื้อ ในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงจะคำนวณออกมาเป็นประสิทธิผล ซึ่งวิธีเทียบในเชิงอัตราระบาดวิทยา Odds Ratio ได้ประสิทธิผลของวัคซีนที่ จ.ภูเก็ต คือ ร้อยละ 90.6 ฉะนั้นตัวเลขนี้จึงหมายถึง อัตราการติดเชื้อในคนที่ได้รับวัคซีน ต่ำกว่าอัตราการติดเชื้อในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ร้อยละ 90

ส่วนที่ จ.สมุทรสาคร ได้ทำการศึกษาในกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัวผู้ติดเชื้อเช่นกัน พบประสิทธิผลของวัคซีน ร้อยละ 90.5

ขณะที่ จ. เชียงราย ได้ทำการศึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ 413 คน ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 336 คน ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม 50 คน และไม่ได้รับวัคซีน 27 คน พบประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค ร้อยละ 88.8 และประสิทธิผลของวัคซีนแอสตราเซเนกา ร้อยละ 83.8

ทั้งนี้ การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคดังกล่าว ศึกษาในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา

สำหรับพันธุ์เดลตาที่เริ่มระบาดในเดือน มิ.ย. ซึ่งจากการติดตามประสิทธิผลขณะนี้ยังคงเดิม แต่ยังต้องติดตามไปอีก ซึ่งหลังสิ้นเดือน ก.ค.จะทำการศึกษาประสิทธิผลอีกครั้งหนึ่ง

ฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์

เมื่อถามถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์จะได้ฉีดบูสเตอร์โดส (เข็ม 3) เป็นวัคซีนไฟเซอร์หรือไม่นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ส่วนมากได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ซึ่งเกิน 3 เดือนแล้ว ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งต้องไม่ใช่แพลตฟอร์มเดิม

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ประเทศไทยมีในขณะนี้คือ แอสตราเซนเนกา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไวรัสเวกเตอร์ จำเป็นฉีดกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน เนื่องจากการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ยังสูง รอเวลาไม่ได้ ยืนยันว่าหากวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส เข้ามาแล้วจะใช้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ควบคู่กันไป

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจากเป็นวัคซีนบริจาค 1.5 ล้านโดส ขณะนี้ได้ทำกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้วัคซีนแล้ว ข้อเสนอเบื้องต้น ได้แก่ กลุ่มสาธารณสุขด่านหน้าที่มีโอกาสติดเชื้อสูง ,กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มพื้นที่ระบาดหนัก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง