เสียงแพทย์ชนบทถึง "เมืองหลวง" ในช่วงวิกฤตโควิด-19

สังคม
24 ก.ค. 64
17:24
4,519
Logo Thai PBS
เสียงแพทย์ชนบทถึง "เมืองหลวง" ในช่วงวิกฤตโควิด-19
"นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ" ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดภารกิจช่วยตรวจเชิงรุกในกรุงเทพ รอบที่ 2 พบอุปสรรคด้านการบูรณาการ ตรวจมาก - เตียงไม่พอ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข หวังให้คนในเมืองหลวงของไทยรอดจาก COVID-19
ที่นี่เมืองหลวง ต้องดีกว่าต่างจังหวัดสิ แต่กลับตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่ไม่ไหว

จบภารกิจแพทย์ชนบทบุกกรุงครั้งที่ 2 กับการลุยตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ในกลุ่มชุมชนแออัด ช่วง 21-23 ก.ค.2564 ที่นำทีมชมรมแพทย์ชนบทออกหน่วยตรวจเชิงรุก 40 ชุมชน ในวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ และผลออกมาพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

"นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ" ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพีบีเอส เกี่ยวกับแผนปฎิบัติการและปรากฏการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นใน "เมืองหลวง"

หัวใจสำคัญที่มาช่วยตรวจเชิงรุกในกรุงเทพ รอบ 2 ?

นพ.สุภัทร - ผมคิดว่า สถานการณ์ในกรุงเทพแย่มาก ภาพรวมวันนี้กับตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 14,000 คน เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100 คน สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นช่องว่าง คือ การเข้าถึงจุดตรวจ COVID-19 ตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงในโรงพยาบาลที่ประชาชนหาจุดตรวจไม่ได้ และเป็นอุปสรรคมาก

แม้นโยบายจะเปิดให้มีจุดตรวจตามสถานที่ต่าง ๆ แล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนอีกมากที่เข้าไม่ถึงอยู่ดี เราคิดว่าเรามาเติมเต็มได้ ชมรมแพทย์ชนบทก็มาช่วยเติมเต็มแล้ว 2 รอบ

ผมเห็นว่า ภารกิจของ ศปค.กทม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล” ก็ต้องพยายามจัดการให้ได้เพื่อคนกรุงเทพ

เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการต่อ ?

นพ.สุภัทร - กรุงเทพต้องตั้งเป้าว่า ทุกคนที่ป่วยหนัก หรือ ป่วยปานกลาง กลุ่มสีเหลือง สีแดง ต้องมีโรงพยาบาลรองรับ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะไม่เช่นนั้นอัตราการป่วย และการเสียชีวิตก็จะสูง ซึ่งแปลว่าต้องเพิ่มโรงพยาบาลสนามอีกมาก ต้องเพิ่มศูนย์กักในชุมชน อย่างชุมชนแออัด ควรได้รับการสนับสนุนให้เปิดศูนย์กัก เพื่อแยกคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ เพราะถ้ายังอยู่ในครอบครัว ก็ต้องติดกันทั้งบ้าน เพราะบ้านเขาเล็ก

มองทางออก สถานการณ์นี้อย่างไร ?

นพ.สุภัทร - ต้องเพิ่มจุดตรวจ COVID-19 ให้มาก เพราะถ้าไม่ตรวจก็จะไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้ออยู่ที่ไหน และการตรวจ COVID-19 ทำไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอตรวจ เรื่องนี้ฝึกกันได้และเป็นภารกิจที่ นโยบายเปิดแล้ว แต่ภาคปฏิบัติยังไม่มีการจัดการอะไรให้สามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างเปิดกว้าง (ชุดตรวจแบบ Antigen test Kit)

ทำอย่างไรก็ได้ ให้ได้วัคซีนมามากที่สุด เท่าที่จะระดมฉีดให้ได้มากที่สุด ถ้าดูแลแล้ว ชุมชนแออัดน่าฉีดวัคซีนมาก ไม่มีทางเลือกอื่นเลย ถ้าเขาไม่ได้รับวัคซีนเขาต้องติดโควิดแน่นอน

โรงพยาบาล-ศูนย์พักคอย ยังไม่รับรองผลตรวจแบบเร็ว ? 

นพ.สุภัทร - ความทุกข์อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือ ผู้คนในกรุงเทพที่มีผลตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19 ที่เป็นผลตรวจแบบชุดตรวจ "Antigen test kit" ไปโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม จะได้รับคำตอบว่า ให้ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไปหาที่ตรวจเชื้อใหม่ แบบ RT-PCR ก่อน ปรากฏการณ์แบบนี้ ไม่ถูกต้อง เพราะว่าจะให้เขาไปหาที่ตรวจที่ไหน เรื่องนี้เป็นหน้าที่โรงพยาบาลในการหาจุดบริการ หาที่ตรวจ RT-PCR ให้เขา หรือ ตรวจเอง ไม่ใช่หน้าที่ให้เขาไปหาที่ตรวจ

เรื่องนี้จะมีแนวทางปลดล็อกได้ไหม ?

นพ.สุภัทร - เรื่องนี้ปลดล็อกง่ายมาก แค่มีนโยบาย หรือคำสั่งที่ชัดเจนว่าโรงพยาบาล ต้องไม่ปฎิเสธการตรวจ RT-PCR ให้ผู้ป่วย COVID-19 โรงพยาบาลอำเภอทุกแห่งในประเทศไทย โรงพยาบาลต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่ง ก็ยังตรวจ RT-PCR ให้ผู้ป่วย COVID-19 ทุกคนที่เราคิดว่าควรต้องตรวจ เขามาหาแล้วเรา เราไม่เคยปฎิเสธผู้ป่วย

แต่ที่นี่เมืองหลวง ต้องดีกว่าต่างจังหวัดสิ แต่กลับตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่ไม่ไหว

เรื่องศูนย์พักคอยรอส่งตัวของกรุงเทพแต่ละเขตก็เช่นกัน เมื่อมีผลตรวจยืนยันออกมาแล้วต้องดูแลเขาเหล่านี้ เพราะเขาเป็นคนที่อยู่ในการดูแลของกรุงเทพ เราไม่ควรผลักภาระให้เขาไปหาที่ตรวจ เพราะ ณ วันนี้ไม่มีสถานที่ตรวจจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการในกรุงเทพ ต้องดูแลเขา ไม่ใช่ผลักภาระ

ภารกิจของชมรมแพทย์ชนบทยังเน้นกลุ่มชุมชนแออัด ?

นพ.สุภัทร - ชมรมแพทย์ชนบท มีความชัดเจนว่า การลงพื้นที่ออกหน่วยตรวจเชิงรุก เราเน้นลงชุมชนแออัด เราไม่ได้ไปตรวจตรงศูนย์การค้า ไม่ได้ไปตรวจกลางเมือง เราตรวจในชุมชนแออัด เพื่อช่วยลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของผู้คน ซึ่งการทำงานของแพทย์ชนบท เวลาลงพื้นที่ เราจะตรวจซ้ำรอบ 2 ให้ผู้ติดเชื้อ แล้วส่งตรวจแบบ RT-PCR ให้ด้วยเลย 

ทีมหมอมากรุงเทพ ในช่วงที่พบผู้เสียชีวิตข้างถนน ?

นพ.สุภัทร - ครับ ปรากฎการณ์แบบนี้ สะท้อนถึงระบบบริการสุขภาพในกรุงเทพ ที่ต้องแก้ไขในระยะยาว สะท้อนถึงโรงพยาบาลมีไม่พอต่อประชากร 10 ล้านคน และประชากรแฝงอีกเยอะแยะ ระบบบริการ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพทำงานหนักแล้ว แต่ไม่พอครับ ประชากรมากเกินกว่าความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่มี ต้องการการปรับปรุงอย่างยิ่ง ต้องการการแก้ไขในระยะยาว

ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ ก็ช่วยกันไปก่อน แต่ระยะยาวต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นผู้คนในกรุงเทพก็จะถูกทิ้งอยู่ในชุมชน คนที่เข้าถึงโรงพยาบาลเอกชน เข้าถึงระบบประกันชีวิตเขาได้เปรียบ แต่คนยากคนลำบาก หาเช้ากินค่ำ เขาก็ลำบากมาก

การทำงานเห็นอุปสรรคอะไรบ้าง ?

นพ.สุภัทร - อุปสรรคสำคัญที่สุด คือ การบูรณาการและการประสานงาน ไม่รู้ว่าใครจะเป็นองค์กรบูรณาการ ซึ่งการเข้าถึงชุมชน ทางชุมชนก็ช่วยเรามากนะ ทั้งช่วยลงทะเบียนผู้มาตรวจ ช่วยประสานงานให้เราทุกอย่าง แต่พอผลออกมาพบมีผู้ติดเชื้อ ปรากฏว่า หน่วยงานในกรุงเทพที่เป็นหน่วยราชการ หน่วยบริการสาธารณสุขที่ต้องรับช่วงต่อ ยังมีช่องว่างว่าใครจะรับดูแลเขาต่อ

ทีมแพทย์ชนบทมาช่วยเติมเต็ม มาช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัด แต่เราก็ต้องกลับบ้านเรา แม้ว่าเรามีทีมภาคประชาชน ทีมหมออาสาที่มาช่วยดูแลต่อ แต่ก็ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร เพราะผู้ติดเชื้อทุกคน ยังไม่ถูกดูแลเต็ม 100%

ยังต้องการความร่วมมือและบูรณาการอย่างมาก ซึ่งภารกิจเหล่านี้ ผู้รับผิดชอบก็ต้องเป็น "กรุงเทพมหานคร" และนายกรัฐมนตรี ที่ต้องบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และช่วยเหลือให้ไว ผมเข้าใจว่า ยากแต่ต้องรีบทำ เพราะถ้าไม่รีบ ผู้ป่วยในวันนี้ อาจอาการหนักมากขึ้น ถ้าเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข

บูรณาเร่งด่วนในมุมมองคุณหมอต้องเป็นอย่างไร ?

นพ.สุภัทร - กรุงเทพต้องการการบูรณาการ คนบูรณาการได้มีคนเดียวตอนนี้ คือ นายกรัฐมนตรี เพราะท่านยึดอำนาจการบูรณาการไปแล้ว ในนาม “ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล” นี่คือ ภารกิจที่สำคัญ

ต้องไม่มีใครป่วยแล้วไม่มีโรงพยาบาล ป่วยหนักต้องมีโรงพยาบาล ป่วยสีเหลืองต้องมีโรงพยาบาลสนาม ป่วยสีเขียวนอนอยู่ที่บ้าน Home Isolation ได้ แต่ต้องมีระบบการดูแล ไม่ใช่นอนบ้านตามมีตามเกิด ต้องมีทีมโทรไปดูแลถามเขาเช้า-เย็น ส่งยาไปให้ถ้าจำเป็น ซึ่งทำได้ครับทำได้

แล้วต้องทำให้มีจุดตรวจ COVID-19 ให้มากขึ้น แล้วเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด จริง ๆ ภารกิจเหล่านี้รับรู้กันอยู่แล้วว่าต้องทำให้ได้ การสั่งการอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องการการบูรณาการ ต้องการการติดตาม ต้องการการคุยกันอย่างหนัก ต้องเพิ่มโรงพยาบาลสนาม

ทีมแพทย์ชนบทจะกลับมาช่วยกรุงเทพอีกรอบไหม ?

นพ.สุภัทร - ทีมแพทย์ชนบทจะกลับมาอีกกี่ครั้งก็ไม่พอครับ ถ้าเจ้าของพื้นที่ไม่ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองให้ได้ บูรณาการให้ได้ เรามาเพื่อเติมเต็มช่องว่างในช่วงแรกที่ยังไม่สามารถปรับระบบได้ทัน เราไม่ได้ว่างงาน เรามีภารกิจของเรา ในจังหวัดของเรา ในอำเภอของเราครับ แต่เราจะเสนอแนวทางพร้อมลงมือปฏิบัติการด้วยต่อไป 

เราจะกลับมาอีก เพื่อกู้ภัย COVID-19 ในกรุงเทพมหานคร หากเมืองหลวงรอดประเทศไทยก็จะรอด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง