สธ.ระบุจัดสรร "ไฟเซอร์" ให้บุคลากรการแพทย์ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส

สังคม
25 ก.ค. 64
12:56
1,924
Logo Thai PBS
สธ.ระบุจัดสรร "ไฟเซอร์" ให้บุคลากรการแพทย์ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส
"นพ.รุ่งเรือง" โฆษก สธ. ระบุวัคซีน "ไฟเซอร์" ที่ได้รับบริจาคล็อตแรก 1.5 ล้านโดส จะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้ ยืนยันบุคลากรทางการแพทย์-บุคลากรด่านหน้าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไม่น้อยกว่า 500,000 โดส

วันนี้ (25 ก.ค.2564) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแผนกระจายวัคซีน "ไฟเซอร์" ที่ได้รับจากการบริจาค หรือที่จะนำเข้ามาในไตรมาส 4 ปีนี้ รวมถึงแผนกระจายวัคซีน

นพ.รุ่งเรือง ระบุว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น กรณีที่ระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์-บุคลากรด่านหน้า จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เพียง 200,000 โดสนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะบุคลากรทางการแพทย์-บุคลากรด่านหน้าทุกคนที่มีความเสี่ยง จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไม่น้อยกว่า 500,000 โดส

การทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นคณะทำงาน วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่ได้รับการบริจาค ซึ่งเป็นล็อตแรกของวัคซีนไฟเซอร์ จะเข้ามาในประเทศไทยภายในเดือน ก.ค.นี้ และจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.

เน้นย้ำว่า บุคลากรทางการแพทย์-บุคลากรด่านหน้า ซึ่งเป็นกำลังพื้นฐานสำคัญในระบบสาธารณสุข จะได้ฉีดไม่น้อยกว่า 500,000 โดส และจะจัดสรรส่วนอื่นๆ ไปยังกลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เสี่ยง รวมถึงใช้ควบคุมการระบาด

 

การฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นการกระตุ้นเข็มที่ 3 จำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 โดส ขณะนี้บุคลากรส่วนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ไปเป็นตัวกระตุ้นบ้างแล้ว

นพ.รุ่งเรือง กล่าวถึงข้อมูลเรื่องระดับภูมิคุ้มกัน โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีน ซิโนแวค-ซิโนแวค, ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา, แอสตราเซเนกา-แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ และการติดเชื้อ

พบว่า ข้อมูลที่บุคลากรส่วนหนึ่งได้รับการฉีดแอสตราเซเนกาไปบ้างแล้วจำนวนหนึ่ง มีระดับภูมิคุ้มกันสูงมากกว่าทุกตัว สำหรับการฉีดวัคซีนในส่วนของซิโนแวค-แอสตราเซเนกา, แอสตราเซเนกา-แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์-แอสตราเซเนกา ข้อมูลทั้ง 3 ส่วนในวัคซีน 3 ชนิด มีระดับภูมิมิคุ้มกันที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า มีการบังคับบุคลากรทางการแพทย์-บุคลากรด่านหน้า ให้รับวัคซีนตัวที่เพิ่มเป็นแอสตราเซเนกานั้น ไม่เป็นข้อเท็จจริง

ทั้งหมดถึงแม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันที่ได้รับของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นซิโนแวค-ซิโนแวค และกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตราเซเนกา จะมีระดับภูมิสูงมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคลากรที่สมัครใจ และขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมที่จะฉีดเพิ่มเติมในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์-บุคลากรด่านหน้าตามจำนวนที่แจ้งไว้

นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า การเดินหน้าเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามา จำนวน 1.54 ล้านโดส จะเริ่มฉีดได้ต้นเดือน ส.ค.นี้ และขณะเดียวกันวัคซีนไฟเซอร์อีกจำนวน 20 ล้านโดส จะเข้าไทยและเริ่มฉีดได้ช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค.นี้

วัคซีนทั้ง 21.54 ล้านโดสเป็นการให้ฟรี ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน และวัคซีนที่เข้ามาจะเน้นให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ การแอบอ้างใดๆ ก็ตาม การหลอกลวง การเรียกเก็บเงิน การให้ข่าวปลอม นอกจากจะสร้างความสับสนและปั่นป่วนในสถานการณ์ที่เกิดภาวะวิกฤตในขณะนี้แล้ว ทาง สธ.ก็จะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดด้วย

นพ.รุ่งเรือง ย้ำว่า การฉีดวัคซีนจะเรียงตามลำดับ คือ ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และในพื้นที่เสี่ยง การจัดหาหรือจัดการวัคซีนดังกล่าวจะไม่มีการให้กลุ่มพิเศษ หรือ วีไอพี หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญอย่างเด็ดขาด หากพบกรณีดังกล่าวขอให้แจ้งเข้ามาที่ สธ.

"อาศัย-อยู่ในพื้นที่ระบาดหนัก" เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ COVID-19 ว่า รายงานผู้ป่วยรายใหม่ 15,335 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูง 129 คน ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์เสียชีวิตด้วย

ภาพรวมพบว่ามีการกระจายของผู้ติดเชื้ออยู่ในส่วนของต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในพื้นที่ กทม. พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 2,700 คน

วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อทุกจังหวัด โดยเฉพาะในส่วนของภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ก็มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคมี 3 ประเด็น คือ 1.ผู้ไปที่ไปจับจ่ายใช้สอย อาจไปอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ทันได้ระมัดระวังตัวเอง 2.โรงงานหรือสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อ และมีการสั่งปิดโรงงาน ทำให้คนงานที่มีเชื้อโดยไม่รู้ตัวกระจายออกไป 3.การระบาดในแคมป์คนงาน หรือการระบาดในชุมชน

สำหรับผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง พบว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการติดเชื้อ COVID-19 ในขณะนี้ จะแตกต่างจากช่วง 3-4 อาทิตย์ก่อนหน้าที่จะติดเชื้อจากคนรู้จัก คนในครอบครัว เพื่อร่วมงาน หรือเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้ในพื้นที่ระบาดมีการระบาดค่อนข้างมาก ซึ่งจากการสอบสวนโรคในหลายกรณี ไม่สามารถซักได้ว่าติดเชื้อจากใคร

ตอนนี้การอาศัย หรืออยู่ในพื้นที่ที่ระบาดหนักมาก เช่น กทม. ปริมณฑล หรือพื้นที่ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะเราไม่ทราบว่าคนที่อยู่ใกล้เราติดเชื้อแล้วหรือยัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง