ข่าวดี! "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" แห่งที่ 3 ของไทยแล้ว

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. 64
18:45
2,877
Logo Thai PBS
ข่าวดี! "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" แห่งที่ 3 ของไทยแล้ว
มติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ถือเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย

วันนี่ (26 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 17.30 น.ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นการประชุมทางไกล ได้เริ่มพิจารณาวาระของประเทศไทยในการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย หลังจากเลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ปี

ล่าสุดที่ประชุมมีมติขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกสำเร็จ

สำหรับการประชุมครั้งนี้คณะผู้แทนไทยนำโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัคราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ รวมทั้งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กว่า 6 ปีที่ไทยมุ่งมั่น ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีการนำเสนอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ.2558 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ.2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกปีนี้ และเป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

นับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก

 

10 ปีสู่เส้นทางมรดกโลกแก่งกระจาน

สำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่

ประเทศไทยผลักดันขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2553 โดยถูกเลื่อนการพิจารณามา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกปี 2560 มีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนไทย-เมียนมา จนต้องเลื่อนพิจารณามาแล้วรอบหนึ่ง

ต่อมาในปี 2562 ในคราวการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43  ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ประชุมฯ เลื่อนการพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 และให้ไทยกลับไปทำเอกสารเพิ่มเติมและส่งกลับมาพิจารณาใหม่โดยให้เวลา 3 ปี

ทั้งนี้มติขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน  3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง  2) การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน  และ 3) การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

 

เหตุผลในการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานได้นำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ซึ่งระบุไว้ใน Operational Guidelines for World Heritage (2005) ด้วยเหตุผล ที่ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วยถิ่นที่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธ์ุพืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์

สัตว์ที่หายาก เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิงรวมทั้งพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก มากกว่า 490 ชนิด ป่าผืนนี้ยังเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด และพื้นท่ีเกษตรกรรมใน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่ม SAVE บางกลอย ค้านเสนอป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง