วิเคราะห์ : อาเซียนวิกฤตหนักคุม COVID-19 ไม่อยู่

ต่างประเทศ
26 ก.ค. 64
21:34
2,540
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : อาเซียนวิกฤตหนักคุม COVID-19 ไม่อยู่
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลังจากหลายประเทศมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ระบบสาธารณสุขใกล้ถึงจุดล่มสลาย ซึ่งหลายประเทศเริ่มใช้วิธีการแยกกักตัวผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงที่บ้าน เพื่อลดภาระโรงพยาบาล

วันนี้ (26 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตจาก COVID-19 สายพันธุ์เดลตา โดยไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่อจำนวนประชากรสูงที่สุด

สถานการณ์ในเวียดนามมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังจากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยในรอบ 24 ชั่วโมง เวียดนามมีผู้ติดเชื้อไมต่ำกว่า 6,200 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 100,000 คน รัฐบาลเวียดนามสั่งปิดพื้นที่กรุงฮานอย เพื่อควบคุม COVID-19 เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา

และวันนี้ (25 ก.ค.) กองทัพเวียดนามระดมกำลังเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 180 นาย พ่นยาฆ่าเชื้อตามท้องถนน ส่วนนครโฮจิมินห์ ประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่ 18.00 - 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เพื่อควบคุมโรค

 

ขณะที่สถานการณ์ในมาเลเซียมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังจากผู้ติดเชื้อสะสมทะลุหลักล้านคนเมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็ตาม เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ยังมีข้อยกเว้นให้ภาคการผลิต สามารถเปิดทำการได้ตามปกติต่อไป จึงเห็นคลัสเตอร์ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันมาเลเซียก็ถือเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรได้รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และเน้นตรวจเชิงรุกให้รู้สถานะผู้ติดเชื้อ เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลให้มากที่สุด

ส่วนรัฐบาลอินโดนีเซีย ตัดสินใจผ่อนปรนข้อจำกัดให้ธุรกิจบางประเภทให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนเด็กที่เสียชีวิตจาก COVID-19 ตลอดเดือน ก.ค.นี้ มีสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 100 คน สาเหตุหลักมาจากการเข้าถึงการรักษาค่อนข้างลำบาก เนื่องจากโรงพยาบาลประสบปัญหาผู้ป่วยล้น

 

ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาร่วมกันของหลายประเทศในภูมิภาค จนกลายเป็นภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเตรียมเพิ่มเตียงไอซียูในจุดที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ยังให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation เพื่อลดความแออัด

ข้อมูลจาก Malaysiakini บ่งชี้ว่า มาเลเซียตรวจคัดกรองโรคได้เฉลี่ย 125,000 คนตลอดสัปดาห์ที่ผ่าน แต่ถึงกระนั้นผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า การตรวจเชิงรุกในมาเลเซียยังทำได้ไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนย้ำเสมอว่า การตรวจเชิงรุกก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง