กลุ่มหมอไม่ทน ร้องตรวจสอบ "วัคซีนบริจาค" ให้ถึงมือด่านหน้า

สังคม
27 ก.ค. 64
10:01
866
Logo Thai PBS
กลุ่มหมอไม่ทน ร้องตรวจสอบ "วัคซีนบริจาค" ให้ถึงมือด่านหน้า
กลุ่มหมอไม่ทน นำภาคีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข รวมตัวหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.54 ล้านโดส พร้อมขอให้ระบุเงื่อนไขเพื่อให้วัคซีนถึงกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรด่านหน้า

วันนี้ (27 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแพทย์ในนามหมอไม่ทน กลุ่มพยาบาลที่ร่วมกันขับเคลื่อนผ่านเพจ Nurses Connect, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายกลุ่ม รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา

ยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา ขอให้ช่วยตรวจสอบและระบุเงื่อนไขการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะมาถึงไทยในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ให้บุคลากรหน้าด่านและกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้รัฐเปิดเผยการจัดสรรวัคซีนอย่างโปร่งใส ไม่ให้ปกปิดข้อมูล หรือจัดสรรวัคซีนไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงกลุ่ม VIP ด้วย ซึ่งมีผู้แทนฝ่ายการเมืองสถานทูตสหรัฐอเมริกามารับฟัง พร้อมรับหนังสือข้อเรียกร้อง

ต่อมา นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ได้เดินทางมาที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อติดตามการยื่นหนังสือ หลังเคยยื่นหนังสือขอวัคซีนกับสถานทูตสหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. เพื่อส่งมอบให้ไทย เพราะยังมีวัคซีน mRNA ก่อนหมดอายุในเดือน ก.ย.-ต.ค.ที่ยังพอใช้ได้อยู่


ขณะที่ในสื่อสังคมออนไลน์ผุดแคมเปญ "เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร" และ "จับตาไฟเซอร์" จนเกิดการรณรงค์ยื่นรายชื่อผ่านทาง Change.org ขอร่วมลงรายชื่อ 75,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องการปลดล็อกวัคซีนตัวอื่น หลังพบเชื้อกลายพันธุ์ทั้งเดลตาและเบตา

โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 62,000 คน เพื่อนำวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ จัดสรรให้ทั้งกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้า หรือกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับตามความเสี่ยงและความจำเป็น โดยมี 4 ข้อเรียกร้องหลักถึงกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่

  1. นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้คนไทยทุกคน
  2. ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลว่ามีบุคลากรฯ ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นบูสเตอร์โดสไปแล้วเท่าใด และยังเหลือบุคลากรฯ ที่ยืนยันจะรับไฟเซอร์เป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้จำนวนวัคซีนที่ได้รับพอดีกับบุคลากรฯ ไม่มีเศษตกหล่นติดตามไม่ได้นอกระบบ
  3. นำข้อมูลสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking นั่นคือเส้นทางการกระจายวัคซีนโดยระบุยี่ห้อและลอตต่าง ๆ ของวัคซีน และเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต
  4. ระบุผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนกรณีเกิดการจัดสรรการกระจายวัคซีนผิดพลาดหรือทุจริต 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มหมอไม่ทน" ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โดยระบุว่า​ การยื่นหนังสือทุกคนมีสิทธิ ซึ่งกระทรวงฯ ยืนยันว่า สามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อวัคซีน รวมถึงเวชภัณฑ์​

ส่วนการเรียกร้องให้เปิดเผยว่า มีบุคคลใดได้รับวัคซีนบ้างนั้นเป็นเรื่องของการแพทย์ ผู้ที่จะเปิดเผยได้คืออธิบดีกรมควบคุมโรค ส่วนตัวไม่ติดอะไร เพราะถ้ายิ่งเปิด ยิ่งทำให้โปร่งใส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง