เปิดแนวทางส่งตัว ATK ผลบวกเข้าดูแลในระบบ แก้ปัญหารักษาล่าช้า

สังคม
27 ก.ค. 64
14:03
2,992
Logo Thai PBS
เปิดแนวทางส่งตัว ATK ผลบวกเข้าดูแลในระบบ แก้ปัญหารักษาล่าช้า
กรมการแพทย์ย้ำแนวทางส่งตัวผู้ตรวจ ATK ผลบวกให้เข้าสู่ระบบ Home isolation ได้ทันที ขณะที่ผู้ที่เข้าศูนย์พักคอยจะต้องมีการแยกกักตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการรอผลตรวจ RT-PCR

วันนี้ 27 ก.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมแถลงถึงแนวทางการตรวจระบบ Antigen test kit (ATK) และการเข้าสู่ระบบการรักษาตัวของผู้ติดเชื้อ


นพ.สมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยอมรับผลตรวจ Antigen test kit (ATK) โดยขณะนี้เมื่อพบว่าผู้ตรวจด้วยระบบ ATK และมีผลเป็นบวกจะเรียกว่า "ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ COVID-19" เนื่องจาก ATK ในท้องตลาดมีหลายชนิด ซึ่งมีคุณภาพแตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่จากที่ อย. สธ. และ สปสช.รับรองเมื่อตรวจส่วนใหญ่จะให้ผลบวก แต่อาจจะเป็นผลบวกลวงได้โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5  ซึ่งแปลว่าผู้ตรวจ ATK ที่ผลออกมาเป็นบวกบางส่วนอาจไม่ใช่ผลติดเชื้อ COVID-19 จริง ซึ่งเป็นส่วนที่เรากังวล หากเรานำผู้ที่ไม่ติดเชื้อไปรวมกับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงอาจจะติดเชื้อได้

 

ส่วนกรณีหากผลตรวจ ATK เป็นลบ และหากสงสัย ควรจะตรวจซ้ำใน 2-3 วันให้หลัง ทั้งนี้การตรวจในช่วงแรกอาจจะตรวจผลไม่เจอจึงต้องตรวจซ้ำ ซึ่งอาจมีทั้งลบลวงและบวกลวงได้

ยืนยันอีกครั้ง หากผลตรวจ ATK เป็นลบ สามารถเข้าระบบ Home Isolation ได้เลย ไม่ต้องตรวจซ้ำ

ทั้งนี้ การแยกกักตัวที่บ้านจะต้องอยู่คนเดียว ใช้ห้องนอนคนเดียวไม่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับใคร แยกกิน แยกอยู่ แยกนอน แยกใช้ห้องน้ำ หรือใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แยกทิ้งขยะ แยกทุกอย่าง โดยมีสิ่งสนับสนุน คือ อาหาร 3 มื้อ, เครื่องวัดอุณหภูมิ,เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาที่จำเป็น โดย สปสช.สนับสนุนให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในการสนับสนุน

หากท่านมีอาการ หรือ โรคประจำตัวให้รับประทานยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด ซึ่งสามารถส่งยาไปที่บ้านได้


นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ขณะที่ ผู้ที่ผลตรวจ ATK เป็นบวก แต่ไม่สามารถทำ Home Isolation ได้จะขอเข้า Commumity Isolation โดยหลักการ จะไม่นำผู้ที่ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อไปรวมกับผู้ติดเชื้อได้ แต่เพื่อที่จะให้การรักษาไม่ล่าช้า เนื่องจากเป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อ โดยให้ลงนามใบยินยอมรับการรักษา โดยให้นำตัวไป Commumity Isolation (ศูนย์พักคอย) Hospitel ,โรงพยาบาล โดยให้ตรวจ RT-PCR คู่ขนานกันไป


หากตรวจช้าก็เข้าโรงพยาบาลหรือศูนย์พักคอยช้า ก็จะมีปัญหาในการรักษา ดังนั้นจึงให้เข้าศูนย์เลยและตรวจไปพร้อมๆกัน และพยายามแยกผู้ป่วยที่มี ATK เป็นบวก ระหว่างรอผล RT-PCR โดยจัดมุมให้ผู้ที่ ผู้ป่วยที่มี ATK เป็นบวก และรอผล RT-PCR เนื่องจากไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ 

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จะพยายามยกระดับศูนย์พักคอยทุกแห่งให้สามารถ ตรวจ RT-PCR ได้ทุกแห่ง และพยายามเร่งรัดผลการตรวจให้รวดเร็วมากขึ้น 

 

อย่าให้ผล RT-PCR เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย อย่าให้ผล RT-PCR เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยล่าช้า หลักการเป็นเช่นนี้

 

จัดทำ Temple Isolation ดูแลพระ-เณร ติดโควิด

นพ.สมศักดิ์ ยังตอบคำถามถึงแนวทางการดูแลกรณีพระภิกษุ และสามเณร ในโรงเรียนปริยัติธรรย่านบางนาติดเชื้อ COVID-19 กว่า 200 รูป ว่า ผอ.โรงพยาบาลสงฆ์รายงานว่า ได้เข้าทำ Temple Isolation ซึ่งจัดทำเป็นศูนย์พักคอย โดยดูแลพระในพื้นที่ หากอาการไม่มากก็จะดูแลในพื้นที่ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ดูแลร่วมกับลูกศิษย์วัดและชุมชนช่วยในการดูแล ทั้งวัดไข้ วัดออกซิเจน ถวายภัตตาหาร และดูอาการ หากบางรูปเริ่มมีอาการเข้าข่ายผู้ป่วยสีเหลืองก็จะนิมนต์มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ และหากเริ่มมีอาการก็จะเริ่มให้ยาในการรักษาทันที

เตียง "กทม.ปริมณฑล"รับผู้ป่วยเหลือง-แดง ตึง

นพ.สมศักดิ์ ยังตอบคำถามถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนว่า ขณะนี้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เตียงผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเตียงตึงเต็มที่แต่ขณะนี้พอมีที่ว่างสำหรับผู้ป่วยสีเขียวเนื่องจากมีการทำ Home isolation จำนวนมาก 

ขณะนี้ Hospitel ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีห้องประมาณ 20,000 กว่าห้อง หากแปลงห้องด้วยการเพิ่มเครื่องผลิตออกซิเจนเข้าไปได้ ก็จะสามารถรับคนไข้สีเหลืองและสีเหลืองเข้มที่ต้องการรับออกซิเจนสามารถนอนอยู่ใน Hospitel ได้ ซึ่งหากดัดแปลงประมาณร้อยละ 10 ก็จะมีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มขึ้นราว 2,000 ห้อง

แต่ขณะนี้ติดขัดเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจนและถังออกซิเจนเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่า มีการลักลอบนำออกไปต่างประเทศด้วยเช่น ประเทศเมียนมา

ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาด เดือนหน้ามาอีก 40 ล้านเม็ด

นพ.สมศักดิ์ ตอบคำถามถึงปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ว่ายังมีเพียงพอหรือไม่ โดยยืนยันว่า ขณะนี้มีสต็อกกว่า 10 ล้านเม็ด และในเดือนหน้าจะทยอยเข้ามาในแต่ละสัปดาห์ รวมประมาณ 40 ล้านเม็ดและเมื่อดูจากอัตราการใช้ไม่มีปัญหาในการใช้สต็อกยา


เดิมการเบิกยาค่อนข้างวุ่นวายก็พยายามตัดขั้นตอน รวมถึงร่วมมือกับภาคประชาสังคม ซึ่งที่กรมการแพทย์จัดทำโรงพยาบาลเสมือนจริง โดยจัดตั้งทีมและนำคนไข้ ที่โทร1668 ขึ้นทะเบียน Home Isolation และคนไข้ที่เริ่มมีอาการก็จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้

 

นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าว ขอบคุณภาพประชาสังคมทั้ง ต้องรอด เส้นด้าย และอื่น ๆ ที่ช่วยกันโดยเมื่อมีการประสานเข้ามาและคนไข้เริ่มมีอาการ จะพูดกับทีมโรงพยาบาลเสมือนจริงเพื่อขอชื่อคนไข้เพื่อลงทะเบียนและจัดส่งยาไปให้ โดยหลักการพยายามเอื้อส่วนนี้ให้มากที่สุด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวย้ำถึงการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ว่า ถ้าสบายดี ไม่มีอาการ ไม่มีโรคร่วม ยังไม่ต้องรับยา สามารถรับประทานยาลดไข้ หรือ ฟ้าทะลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการขอให้เริ่มยาโดยเร็วที่สุด สามารถนำไปรับประทานที่บ้านได้ หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหากไม่มีอาการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ หรือหากแพทย์พิจารณาว่าสามารถให้ได้

เปิดแนวทางดูแล ผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประชาชนพบว่ามีผลตรวจ ATK เป็นบวก ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมเปิดศูนย์คัดกรอง ATK ในหลายพื้นที่เช่น ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สามารถตรวจได้วันละประมาณ 2,500 คน

 

แนวทางคือ จะนำรายชื่อ หมายเลขบัตรประชาชนมาขึ้นทะเบียนในระบบฐานข้อมูล (Home Isolation Data Base) จากนั้นจะจับคู่ว่าประชาชนอยู่ใกล้กับคลินิกใดหรือศูนย์สาธารณสุขใด และศูนย์ฯนั้นก็จะรับคนไข้ไปดูแล

ระหว่างการดูและจะยืนยันซ้ำด้วยการตรวจ RT-PCR เพื่อที่จะเป็นประโยชน์สำหรับกรณีที่คนไข้ไม่สามารถอยู่บ้านได้ (Home Isolation) โดยเงื่อนไขที่จะอยู่ได้คือ ผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ที่เคยป่วยและนอนรักาาตัวที่โรงพยาบาลเกิน 10 วัน จากผู้ป่วยสีเหลืองมาจนไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคอ้วน และแพทย์พิจารณาว่าอยู่ Home Isolation ได้

 

แต่อีกกลุ่มที่อยู่บ้านไม่ได้ต้องไปอยู่ศูนย์พักคอย ซึ่งจะต้องมีผล RT-PCR ซึ่งการตรวจยืนยันผลตรวจจะไม่เป็นอุปสรรคในการักษา

ทพ.อรรถพร ย้ำว่า คนไทยทุกสิทธิสามารถเข้าตรวจคัดกรอง ATK ได้ รวมถึง RT-PCR ด้วยหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหากผลเป็นบวกเข้า Home Isolation ได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ทั้งนี้ประชาชนเมื่อตรวจมีผลเป็นบวกสามารถเข้า Home Isolation ได้ โดยลงทะเบียนผ่านฐานข้อมูล ทั้งเว็บไซต์ หรือ โทรศัพท์ไปที่ สายด่วน สปสช.1330 กด 14 ก็จะสามารถลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ทันที

เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation สถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยจะเยี่ยมผู้ป่วย 2 ครั้ง โดยผ่านระบบไลน์ วิดีโอคอลพูดคุยสอบถามอาการต่าง ๆ

รวมถึง สปสช.สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิและออกซิมิเตอร์ เพื่อวัดความเข้มข้นของออกซิเจน ซึ่งจะมีแพทย์ดูอาการและให้ยาที่จำเป็น และจัดส่งอาหารให้ 3 มื้อตลอดการกักตัวที่บ้าน 14 วัน

 

ขณะที่ในรายของคนไข้ที่รักษาเป็นระยะเวลา 10 วัน และอาการดีขึ้น หรือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง นะต้องนำส่งตัวจากสถานพยาบาลกลับมายังบ้านเพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation ทาง สปสช.จะออกค่ารถส่งต่อให้ รวมถึงค่าเอกซเรย์ด้วย

ทั้งนี้การจ่ายเงินจะจ่ายให้กับคลิกนิกเมื่อรับคนไข้ไปดูแล จะให้เงินสำหรับการดูแลคนไข้ คนละ 3,000 บาท/คน/สัปดาห์ โดยจะจ่ายล่วงหน้าสำหรับการดูแลคนไข้โดยจ่ายในทุก 15 วัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง