รองปธ.กมธ.สธ.คาดกทม. "ติดโควิด" ไม่แสดงอาการ 4-5 แสนคน

สังคม
28 ก.ค. 64
13:57
3,176
Logo Thai PBS
รองปธ.กมธ.สธ.คาดกทม. "ติดโควิด" ไม่แสดงอาการ 4-5 แสนคน
"หมอเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประเมินตัวเลขคน กทม.ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่แสดงอาการสูงถึง 400,000-500,000 คน ชี้ผลคัดกรองเชิงรุก ตัวบ่งชี้คนไม่แสดงอาการสูง ปัจจัยเชื้อแพร่ต่อเนื่อง แนะกทม.วางระบบแจกชุดตรวจโควิด ถ้าเจอจะระบบดูแล

วันนี้ (28 ก.ค.2564) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun โดยระบุว่า ความรู้เรื่อง COVID-19 (ตอนที่ 746) ประมาณว่า น่าจะยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการประมาณ 400,000-500,000 คน

ด้วยเหตุที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 เป็นไวรัสใหม่ และก่อให้เกิดโรคใหม่คือ COVID-19 จึงทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัส และ COVID-19 ทยอยพัฒนาเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

จากความรู้ทางด้านไวรัส ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดนั้น พบว่าเมื่อตอนต้นปี 2563 นักวิชาการคาดคะเนว่า ในผู้ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการมากถึง 80 % และติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ 20 % แต่เมื่อเวลาผ่านมาหนึ่งปีเศษ จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยจริง การตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ก็ประมาณการว่า

ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการมีเพียง 20 % หรือ 1 ใน 5 และมีการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมากถึง 80 % หรือ 4 ใน 5 ส่วน

นพ.เฉลิมชัยระบุว่า ศักยภาพการตรวจมาตรฐานเพื่อหาไวรัส หรือ RT-PCR มีข้อจำกัดทั้งเรื่องการเก็บตัวอย่างที่ยุ่งยาก ต้องใช้บุคลากรทางสาธารณสุข ต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ที่มีความซับซ้อนและราคาแพง ตลอดจนน้ำยาชุดตรวจก็มีค่าใช้จ่ายสูง การรอผลการตรวจก็กินเวลามาก

จึงทำให้เป็นข้อจำกัด ที่ทุกประเทศจะต้องเน้นตรวจ เฉพาะผู้ที่แสดงอาการเป็นหลัก และถ้ายังมีศักยภาพเหลือบางส่วน จึงจะนำไปตรวจผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่มีประวัติสัมผัสเสี่ยง ที่เรียกว่าการตรวจเชิงรุก

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จึงพบรายงานผลการตรวจในแต่ละวันว่า ผู้ติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มตรวจพบในระบบบริการ มากกว่าการตรวจเชิงรุก

อ่านข่าวเพิ่ม ไทยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 16,533 คน เสียชีวิต 133 คน หายป่วยแล้ว 10,051 คน

คนอาการน้อยไม่ได้รับการตรวจ-ปัจจัยแพร่เชื้อ

เฟซบุ๊กของ นพ.เฉลิมชัย ระบุอีกว่า เช่น วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการตรวจพบในระบบบริการ 10,407 คน ในขณะที่เป็นการตรวจเชิงรุกเพียง 3,459 คน

และเมื่อเก็บข้อมูลสะสม ย้อนหลังไป 14 วัน พบว่า เป็นการตรวจพบในระบบ 126,181 คน คิดเป็น 76.20 % ในขณะที่เป็นการตรวจเชิงรุกเพียง 39,402 คน คิดเป็น 23.80 % ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของการตรวจพบผู้ติดเชื้อแสดงอาการ และไม่แสดงอาการดังกล่าวข้างต้น

คาดว่า ยังมีประชากรที่ติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยมาก จึงยังไม่ได้รับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCT เป็นจำนวนมาก และประชากรส่วนนี้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การเกิดการแพร่ระบาดและควบคุมโรคได้ยาก เพราะเจ้าตัวเอง ก็ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ จึงไม่ได้ระมัดระวัง

การเร่งตรวจเชิงรุก เพื่อหาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ จึงเป็นมาตรการสำคัญยิ่ง เพื่อสกัดหรือควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ ได้มีการพัฒนาชุดทดสอบหาไวรัสด้วยตนเองที่บ้าน เรียกว่า Antigen Test Kit :ATK ซึ่งทำได้ง่าย ทราบผลเร็ว ราคาถูก และผลิตได้เป็นจำนวนมาก

ขณะนี้ทางการของไทย ก็ได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองได้แล้ว จึงเกิดประเด็นคำถามสำคัญขึ้นว่า ถ้ามีการระดมตรวจด้วยชุดทดสอบด้วยตนเองที่บ้าน (ATK) อย่างกว้างขวาง จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด และจะเป็นภาระในการดูแลผู้ติดเชื้ออย่างไรต่อไป

ประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2 วิธี

ทั้งนี้ นพ.เฉลิมชัย ระบุอีกว่า 1.ประเมินจากองค์ความรู้ที่บอกว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส 100 คน จะแสดงอาการเพียง 20 คน แล้วติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการถึง 80 คน สัดส่วน 1 ต่อ 4

ขณะนี้กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 137,263 คน เป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการในระบบ 104,594 คน

ทำให้คาดได้ว่า น่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเป็น 4 เท่า เท่ากับ 418,378 คน แต่ในการตรวจของกรุงเทพมหานคร ตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแล้ว 39,402 คน 

เมื่อนำมาหักออกจากค่าประมาณการ 418,378 คน จึงคาดว่าจะเหลือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่อีก 378,976 คน

และกรณีที่ 2 ประเมินจากการพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ด้วยชุดทดสอบตนเองที่บ้านแล้ว พบว่า มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 11.70 % ของจำนวนผู้ทดสอบทั้งหมด (โดยมาจากตัวอย่างเบื้องต้น 9427 ตัวอย่าง)

เมื่อคำนวณประชากรของกรุงเทพมหานคร ตามทะเบียนราษฎร์ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 จำนวน 5,487,876 คน จึงคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 642,081 คน

ประมาณการผู้ติดเชื้อกทม.-ปริมณฑลเฉียด 1 ล้านคน 

ขณะนี้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 137,263 คน จึงเหลือผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการอยู่ 504,818 คน จะเห็นได้ว่า การประเมินหรือคาดเดา จากทั้งสองวิธีนั้น มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ในเขตกรุงเทพมหานคร 400,000-500,000 คน

ทำให้ผู้รับผิดชอบในกรุงเทพมหานคร จำเป็นที่จะต้องวางระบบ เพื่อรองรับ ผู้ที่ตรวจพบผลเป็นบวก จากชุดทดสอบด้วยตนเองดังกล่าวซึ่งทางการได้ประกาศว่า จะแจกหรือใช้ตรวจให้กับประชาชนฟรีจำนวน 8.5 ล้านชุดทดสอบ

ถ้าเราตรวจพบผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพมหานคร 400,000-500,000 รายดังกล่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จึงสามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ มีเพียงส่วนน้อย ที่อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลัก

การจัดระบบความพร้อม ของผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) จำนวนมากนี้ จำเป็นจะต้องมีซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มที่จะรายงานอาการของผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน ให้ทราบการเปลี่ยนแปลง แจ้งผลมาที่โรงพยาบาลหลักโดยเร็วทุกวัน เพื่อที่จะรองรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้าน

 

และจากการคาดหมายในทำนองเดียวกัน ในเขตปริมณฑลอีก 5 จังหวัด ซึ่งมีประชากรรวม 5,228,137 คน เทียบเท่ากับประชากรของกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,487,876 คน แยกเป็นสมุทรปราการ 1,332,683 คน นนทบุรี 1,266,730 คน ปทุมธานี 1,166,979 คน
นครปฐม 910,511 คนสมุทรสาคร 551,234 คน

ก็คงจะมีผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ และตรวจพบด้วยชุดทดสอบด้วยตนเองที่บ้านในจำนวนใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ และต้องดูแลรักษาตัวที่บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีจำนวนมากถึง 800,000 ถึง 1,000,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,000,000 คนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องจัดระบบรองรับเป็นอย่างดีต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.ฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับพระสงฆ์ 221 วัด เริ่ม 30 ก.ค.นี้

ส่งเด็กหญิง 2 พี่น้อง ไปรักษาตัวที่ รพ.

กองทัพบกกระจายกำลัง ตั้งจุดบริการประชาชน รับเหตุฉุกเฉินใน กทม.

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง