วัคซีนไฟเซอร์ถึงไทย จับตาจัดสรรถึงมือใครบ้าง ?

สังคม
30 ก.ค. 64
10:49
2,066
Logo Thai PBS
วัคซีนไฟเซอร์ถึงไทย จับตาจัดสรรถึงมือใครบ้าง ?

หลังรอมานาน วัคซีนไฟเซอร์จากการบริจาคของประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.54 ล้านโดส เดินทางถึงไทยแล้วในเช้าวันนี้ (30 ก.ค.64) แต่ขณะเดียวกันสังคมไทยยังคงติดตามและตั้งคำถามเกี่ยวกับโควตาการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังไม่มาถึงไทย

#ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์

วันที่ 4 ก.ค.64 #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ เกิดขึ้นหลังสื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ โดยประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม คือ 1 ในความคิดเห็นบนเอกสาร มีการค้านฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส เข็ม​ 3​ ให้บุคลากรทางการแพทย์​ เพราะเท่ากับยอมรับวัคซีนซิโนแวคไร้ประสิทธิภาพ​

เช้าวันต่อมานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. ออกมายอมรับว่าเป็น "เอกสารจริง" แต่เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า "ไม่ใช่เอกสารจริง" เพราะคนที่เขียนสรุปไม่ได้เป็นฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการการประชุม แต่เขียนขึ้นมาเพื่ออ่านเอง​เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรการแพทย์เริ่มปรากฏชัดขึ้นหลัง ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค.ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติชัดเจนว่า กลุ่มที่จะต้องได้บูสเตอร์โดสก่อนคือ บุคลากรการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ซิโนแวคมากที่สุด โดยต้องฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์ จากนั้นจึงจะนำไปให้กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ต่อไป

#ริมน้ำ

ข้อกังขาเกี่ยวกับวัคซีน 1.54 ล้านโดส ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง #ริมน้ำ ทะยานขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หลังอาจารย์แพทย์คนหนึ่งเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า มีการทำวิจัยโดยใช้วัคซีนไฟเซอร์ เทียบกับแอสตราเซเนกา ในการกระตุ้นเข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์ โดยผู้โพสต์ออกตัวว่าจะยอมรับความเสี่ยงในการเลือกฉีดไฟเซอร์เพื่อให้มีข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

หลังโพสต์ดังกล่าวเริ่มมีการส่งต่อ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เริ่มตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการทำวิจัยว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะขณะที่หลายคนเพิ่งรับรู้ถึงการวิจัยครั้งนี้ กลับมีผู้ลงชื่อเข้าร่วมวิจัยเต็มแล้ว พร้อมตั้งคำถามถึงที่มาของวัคซีนไฟเซอร์ที่จะนำมาใช้ในการวิจัยว่าเป็นโควตา 1.54 ล้านโดสที่สหรัฐฯ บริจาคหรือไม่ ?

กระแส #ริมน้ำ เริ่มกระพือไปไกล จนทำให้เกิดการจัด Clubhouse ขึ้น โดยค่ำวันนั้น นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีแพทยศาสตร์ ศิริราช ก็ได้เข้าไปร่วมตอบคำถามมากมาย รวมถึงประเด็นวัคซีน 1.5 ล้านโดสด้วย

นพ.ประสิทธิ์ ตอบว่า จากการสอบถามวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส เดิมจะกระจายให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงก่อน แต่ในที่สุดมีการเสนอในที่ประชุมให้แบ่งมาให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าด้วย โดยบุคลากรมีสิทธิ์เลือกว่าจะกระตุ้นเข็ม ด้วย แอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์ โดยไม่มีการบังคับ พร้อมยืนยันว่างานวิจัยไม่ได้มีการล็อกกลุ่มตัวอย่างแต่อย่างใด

 

โควตาไฟเซอร์หายไป?

กระทั่งวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สังคมก็เริ่มกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์อีกครั้ง เมื่อ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ภาพตารางการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งระบุว่า จัดสรรให้บุคลากรการแพทย์ 500,000 โดส พร้อมตั้งคำถามถึงโควตาจัดสรรว่าทราบจากที่ประชุมถูกปรับลดเหลือ 200,000 โดส "แล้วอีก 300,000 โดส หายไปไหน?"

 
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาโต้ทันควัน ยืนยัน ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าไม่น้อยกว่า 500,000 โดส โดยจะเริ่มฉีดต้นเดือน ส.ค.นี้

แต่ความเคลือบแคลงใจที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มบุคลากรสาธารณสุขในนามกลุ่มหมอไม่ทน Nurses Connect ภาคีบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายกลุ่ม รวมตัวยืนหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบ และระบุเงื่อนไข การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เพื่อให้ถึงมือบุคลากรด่านหน้า เนื่องจากกังวลว่าจะมีการจัดสรรวัคซีนให้หน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงกลุ่ม VIP

ด้านนายอนุทิน ย้ำว่า ทุกคนมีสิทธิยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบทั้งการสั่งซื้อวัคซีน รวมถึงเวชภัณฑ์ ส่วนการเรียกร้องให้เปิดเผยว่าบุคคลใดได้รับวัคซีนบ้างนั้นเป็นเรื่องของการแพทย์ "ส่วนตัวไม่ติดอะไร เพราะถ้ายิ่งเปิด ยิ่งทำให้โปร่งใส"

เปิดแผนจัดสรรไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส

ตัวเลข 200,000 โดส หรือ 500,000 โดส ที่ยังไม่คลายความสงสัย ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี PMOC ก็ออกมาเปิดเผยตัวเลขใหม่ ด้วยแผนการจัดสรรวัคซีนเมื่อวันที่ 27 ก.ค.64 โดยระบุว่า จัดสรรให้บุคลากรการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ 700,000 โดส

ขณะเดียวกันยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับ #ริมน้ำ ว่าได้แบ่งไปทำการศึกษาวิจัยอีก 5,000 โดส พร้อมย้ำว่าการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ กรมควบคุมโรคพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์การควบคุมโรคของประเทศเป็นสำคัญ

โควตาในส่วนอื่น จัดสรรไปให้ กลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ / ผู้มี 7 โรคเรื้อรัง อายุ 12 ปีขึ้นไป / หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป )ในจังหวัดระบาดสูง 645,000 โดส รวมถึงชาวต่างชาติในไทย เน้นผู้สูงอายุ / มีโรคเรื้อรัง และผู้จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ 150,000 โดส และสำรองส่วนกลาง 40,000 โดส


วันนี้วัคซีนไฟเซอร์มาถึงไทยแล้ว แผนจัดสรรก็ออกมาชัดเจน แต่การจับตาการจัดสรรในครั้งนี้คงจะมีอย่างต่อเนื่องจนกว่าวัคซีนไฟเซอร์จะถึงมือบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสถึงไทย สธ.เร่งติววิธีเก็บ - ผสมน้ำเกลือ

สื่อสังคมออนไลน์ดันแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ 

"อนุทิน" รับเอกสารหลุดจริง ปมค้านฉีดไฟเซอร์ ยันยังไม่ใช่ข้อสรุป 

"นพ.โอภาส" ยันไม่มีเอกสารหลุดปมค้านฉีดไฟเซอร์ คาดหมอเขียนอ่านเอง 

"นพ.รังสฤษฎ์" ตั้งคำถามโควต้าไฟเซอร์ด่านหน้า 3 แสนโดส หายไปไหน 

กลุ่มหมอไม่ทน ร้องตรวจสอบ "วัคซีนบริจาค" ให้ถึงมือด่านหน้า 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง