สธ.เปิด 4 หลักการฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" บุคลากรแพทย์ด่านหน้า

สังคม
2 ส.ค. 64
11:19
9,127
Logo Thai PBS
สธ.เปิด 4 หลักการฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" บุคลากรแพทย์ด่านหน้า
อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิด 4 หลักการบุคลากรแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ระบุ 3 กลุ่ม "สูตรวัคซีนไขว้เข็ม - แอสตราฯ 2 เข็ม - ซิโนแวค 2 เข็มบูสเตอร์โดสแอสตราฯ" ไม่แนะนำให้ฉีดไฟเซอร์ตอนนี้ ขอรอข้อมูลวิชาการในระยะต่อไป

หลังจากเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขออกมาเปิดเผยถึงการจัดสรรวัคซีนในส่วนของกลุ่มบุคลากรการแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ทั่วประเทศ จำนวน 700,000 โดส ซึ่งมีการระบุว่า "เป็นเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน" 

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมีความกังวลว่า วัคซีนจะเข้าไม่ถึงบุคลากรการแพทย์ บางส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว หรือบุคลากรการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนบางยี่ห้อไปแล้ว 1 เข็ม

ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนข้อจำกัดกลาย ๆ ว่า หากต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์จำเป็นต้องฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน 2 เข็ม กลายเป็นปมร้อนให้กระทรวงสาธารณสุขจัดประชุมเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ (2 ส.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า มติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 4/2564 วันที่ 1 ส.ค.2564 เรื่อง คำแนะนำการให้วัคซีน COVID-19 ของไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วย COVID-19 จากการปฏิบัติงานทั่วประเทศรวมทั้งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วย COVID-19 อื่น ๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาล/หน่วยงานต้นสังกัด

4 กลุ่มบุคลากรด่านหน้าเข้าเกณฑ์ฉีดไฟเซอร์

โดยมีหลักการให้วัคซีน ดังนี้

  1. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม

  2. บุคลากรที่ได้รับวัคซีนวัคซีนใด ๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก

  3. บุคลากรที่ไม่เคยได้วัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์

  4. บุคลากรที่เคยติดเชื้อ COVID-19 และไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน

ทั้งนี้ การให้วัคซีนจะเป็นไปด้วยความสมัครใจไม่มีการบังคับแต่อย่างใด

3 กลุ่มไม่แนะนำฉีดไฟเซอร์ตอนนี้

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้

  1. วัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 หรือ

  2. วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม หรือ

  3. วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสราเซเนกา 1 เข็ม

คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ เนื่องจากเพิ่งฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม บุคลากรกลุ่มนี้ให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ และจะมีการพิจารณาข้อมูลวิชาการ และดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ ตามข้อมูลวิชาการและจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาเพิ่มในระยะต่อไป

หลักการฉีดวัคซีนนี้เพื่อให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ามีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยและระบบการรักษาผู้ป่วยไม่หย่อนลง

โต้กระแสกลุ่ม VIP ฉีดไฟเซอร์

นพ.โอภาส ยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีสื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อประเด็นกลุ่มวีไอพีออกมาโพสต์ว่าได้รับวัคซีนไฟเซอร์ว่า วัคซีนไฟเซอร์เพิ่งได้รับมาจากสหัรฐฯ ลงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 04.00 น. ของวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา แล้วนำไปเก็บที่คลังวัคซีน

ขณะนี้วัคซีนทั้งหมดยังเก็บอยู่ในคลัง ดังนั้น กระแสข่าวกลุ่มบุคคลได้รับวัคซีนไฟเซอร์ที่ไหนอย่างไร ยืนยันว่า ไม่ใช่วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขแน่นอน

ยืนยันไทยได้รับวัคซีน 1,503,450 โดส

นอกจากนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ประเทศไทยนั้น มีจำนวน 1,503,450 โดส "ยืนยันตัวเลขตามนี้" และในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมพิธีรับมอบวัคซีนไฟเซอร์จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแล้วในเช้าวันนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในสื่อสังคมออนไลน์มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับจำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคว่า มีวัคซีนหายไปกว่า 30,000 โดส เนื่องจากที่ผ่านมา ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาให้ข้อมูลว่า สหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทย 1,540,000 โดส แต่เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุว่า ส่งวัคซีนไฟเซอร์ถึงประเทศไทย 1,503,450 โดส

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง