ไขคำตอบ! ไม่จ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้กับผู้ป่วยโควิดทุกคน

สังคม
4 ส.ค. 64
13:30
108,178
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! ไม่จ่าย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้กับผู้ป่วยโควิดทุกคน
กรมการแพทย์ ไขคำตอบเหตุผลไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ให้กับผู้ป่วย COVID-19 ทุกคน ชี้เป็นยาอันตรายต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และไม่ควรใช้ฟุ่มเฟือย เสี่ยงเชื้อดื้อยา ไม่แนะนำกินร่วมกับฟ้าทะลายโจร และยาที่มีผลต่อตับ พร้อมขอเตือนอย่าซื้อทางออนไลน์ เสี่ยงได้ยาปลอม

ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันของไทยยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันนี้ (4 ส.ค.) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยใหม่ในไทยเพิ่ม 20,200 คน ผู้ติดเชื้อสะสม 643,522 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 17,975 คน และเสียชีวิตอีก 188 คน

สอดคล้องกับปัญหาการนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา และการให้ยาต้านไวรัส "ฟาวิพิราเวียร์" กลายเป็นข้อกังขาหลังพบว่า การตรวจหาเชื้อเชิงรุกด้วยการใช้ ATK บางแห่ง ก็มีการนำยาฟาวิพิราเวียร์ แจกให้กับผู้ที่มีรายงานผลตรวจเชื่อว่าติด COVID-19 เช่น จุดตรวจที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เดินทางไปรับการตรวจจำนวนมาก ที่เข้าระบบ Home Isolation บางคนกลับยังไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งปัญหาการผลิตยาที่ไม่เพียงพอกับผู้ป่วย จนเกิดปัญหาการรอยา ทำให้กลายเป็นคำถามว่า แท้จริงแล้วยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องใช้อย่างไรกับผู้ป่วย COVID-19 

กินยาอะไรระหว่างรักษาตัว?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาตัวระบบ Home Isolation รายหนึ่ง ระบุว่า ไม่เคยได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หลังจากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.จนถึงวันนี้ (4 ส.ค.) ซึ่งอาการเกือบจะหายดีแล้ว ส่วนใหญ่กินยาฟ้าทะลายโจร และยาตำรับอื่นๆ ที่รักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ตัวร้อน ยาแก้ไอ ร่วมกับน้ำสมุนไพร

มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะในช่วงที่รักษาตัวมีการส่งยามาให้เป็นลักษณะแคปซูลสีขาวขุ่นจำนวน 21 เม็ด และกำกับให้กินวันแรก 4 แคปซูลทุก 12 ชั่วโมง ส่วนวันต่อมาให้กิน 2 แคปซูลทุก 12 ชั่วโมงต่อจนครบ 4 วัน

 

ผู้ป่วยคนนี้ยอมรับว่า ยาที่ส่งมาให้ไม่มีเอกสารอ้างอิงใดๆ เป็นแค่แผงแคปซูล ไม่รู้ว่าใช่ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ เพราะหลังจากมีการนำยาดังกล่าวมาให้ มีคนโทรมาบอกว่ากินยาฟาวิพิราเวียร์หรือยัง

หลังจากนั้นตัวเองและสามี ก็กินยานี้จนหมดแผง และกินร่วมกับฟ้าทะลายโจร ซึ่งหากรู้มาก่อนว่า เป็นยาที่ห้ามกินร่วมกัน คงไม่เสี่ยง ตอนนี้อาการ COVID-19 ดีขึ้่นผลตรวจเป็นลบแล้ว และยังต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน

รู้จักยาฟาวิพิราเวียร์

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดเผยข้อบ่งชี้ และผลข้างเคียงของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วย COVID-19 ทุกคน จะจ่ายให้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านไวรัส ที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ในกลุ่มที่มีอาการซึ่งขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน ข้อดีของยา คือ ยานี้ดูดซึมง่าย แบ่งหรือบดเม็ดยา และให้ทางท่อหลอดอาหารได้

ฟาวิพิราเวียร์ ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไม่ต้องปรับขนาดยา อย่างไรก็ตามพบว่ายานี้เป็นยาอันตราย ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

อ่านข่าวเพิ่ม "ยาฟาวิพิราเวียร์" ผลิตในไทย ขึ้นทะเบียน อย.แล้ว จ่อส่งให้ผู้ป่วย ส.ค.นี้

ผลข้างเคียงของยาที่พบ และสิ่งที่ต้องระวัง?

เนื่องจากไวรัสปรับตัวเร็วมีหลายสายพันธุ์ ถ้าใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟุ่มเฟือย โดยไม่มีข้อบ่งชี้อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ทำให้ไม่มียารักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้นได้

สำหรับผลข้างเคียงของยาที่พบ ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการ หากรับประทานยา ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก   

นอกจากนี้ มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด รวมทั้งมีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรกิน ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือ ยาที่มีผลต่อตับ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์นอกระบบ เช่น ทางออนไลน์ เพราะเป็นยาอันตราย เนื่องจากคุณภาพที่ได้ ไม่เพียงพอต่อการรักษา และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้จ่ายให้สำหรับผู้ป่วยทุกคน จะจ่ายให้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อ่านข่าวเพิ่ม "ฟาวิพิราเวียร์" หมดหรือไม่หมด - อนุทินสั่งซื้อเพิ่ม 1 ล้านเม็ด

อย.เตือนอย่าซื้อยาฟาวิพิราเวียร์กินเอง  

ขณะเดียวกัน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการขายยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอเตือนประชาชนอย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน

รวมถึงการซื้อยาผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติด COVID-19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ยาฟาวิพิราเวียร์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยา การใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์ และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่จะตามมาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์

นอกจากนี้จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

นพ.สุรโชค ระบอีกว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีผู้ไม่หวังดีหลอกขายยาให้แก่ประชาชน ทั้งมีการลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขายหรือเจตนาปลอมให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ หลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ที่ได้รับเป็นยาปลอมสามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นิวไฮ! ไทยติดโควิดรายวันแตะ 2 หมื่นคน เสียชีวิตเพิ่ม 188 คน

เสียงจากห้องเรียนในบ้าน อนาคตที่น่าเป็นห่วง "เด็กพัฒนาช้า-ผู้ปกครองไม่พร้อม"

ระดม CCR Team ทั่วไทยตรวจโควิด กทม.ตั้งเป้า 7 วันตรวจ 2.5 แสนคน

กรมการแพทย์แนะให้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” เร็วที่สุด รักษาผู้ป่วยโควิดมีอาการ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง