“กำพร้าข้ามคืน” มูลนิธิราชประชานุเคราะห์-พม. พลิกชีวิตเด็กอีกหลายร้อยคน

สังคม
4 ส.ค. 64
11:45
965
Logo Thai PBS
“กำพร้าข้ามคืน” มูลนิธิราชประชานุเคราะห์-พม. พลิกชีวิตเด็กอีกหลายร้อยคน
หลายคนสูญเสียผู้เป็นที่รักจากโควิด-19 และมีเด็กจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ บางคนกลายเป็นเด็กกำพร้าชั่วข้ามคืน ขณะที่มีข้อมูลการรับแจ้งเหตุผ่านระบบ-แอปฯ “คุ้มครองเด็ก” ของกรมกิจการเด็กฯ กว่า 1 เดือนมีเด็ก-เยาวชนได้รับผลกระทบโควิด 179 กรณี

“อยากให้ไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า” คำสั่งเสียของแม่ที่จากไป หลังติดเชื้อโควิด-19 ทิ้งท้ายให้กับ 2 พี่น้อง “กระปุก” และ “ออมสิน” ก่อนที่ทั้งคู่จะกลายเป็นเด็กกำพร้าเพียงชั่วข้ามคืน

กรณีของเด็กหญิง 2 พี่น้อง เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรับเด็กกำพร้าที่พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองที่อุปการะเสียชีวิตจากโควิด-19 ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้ข้อมูลกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า หลังจากทราบข่าวความสูญเสียดังกล่าว มูลนิธิได้ประสานรับเด็กทั้ง 2 คนเป็นนักเรียนทุนพระราชทาน รวมถึงเปิดรับเด็กกำพร้าคนอื่น ๆ ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นนักเรียนทุนพระราชทานเช่นกัน เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาตามความสามารถ โดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ

อ่านข่าวเพิ่ม : มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ รับเด็กหญิงเป็นนักเรียนทุนพระราชทาน

 

เด็กที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ยังคงเรียนที่โรงเรียนเดิมได้ตามปกติ หรือหากเด็กที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะส่งเสียได้ ก็สามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ มีที่พัก และไม่เสียค่าใช้จ่าย

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จะให้ทุนการศึกษาในระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา ปีละ 10,000 บาท, ระดับชั้นมัธยมศึกษา-ปวช. ปีละ 15,000 บาท, ระดับ ปวส. ปีละ 20,000 บาท และระดับปริญญา ปีละ 30,000 บาท

แจ้งเหตุผ่านแอปฯ “คุ้มครองเด็ก” โควิด 179 กรณี 

รายงานของกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) พบว่า ช่วงวันที่ 26 มิ.ย.-31 ก.ค.2564 ได้รับแจ้งเหตุผ่านช่องทางเว็บไซต์ระบบรับแจ้งเหตุ และแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก” จำแนกตามสภาพปัญหาการแจ้งเหตุ “ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19” จำนวน 179 กรณี ซึ่งนับเป็นการแจ้งเหตุที่มากเป็นอันดับ 2 รองจากปัญหาครอบครัวยากจน 509 กรณี

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานรับแจ้งปัญหาผ่านระบบรับแจ้งเหตุ และแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก” ในช่วงวันดังกล่าว จากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 90 กรณี, ต้องการที่พักอาศัย 42 กรณี, ถูกละเลยทอดทิ้ง 32 กรณี, ปัญหาพฤติกรรม 32 กรณี, ปัญหาสุขภาพ/พิการ 30 กรณี, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 29 กรณี รวมถึงปัญหายาเสพติด 22 กรณี และอื่น ๆ 136 กรณี

สำหรับแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก” เป็นแอปฯ แจ้งเหตุสำหรับประชาชน เพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อสูญเสียเสาหลัก แต่ชีวิตต้องเดินต่อ

ย้อนกรณีการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่สูญเสียครอบครัว จากภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี 2547

พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก ตอนผมอายุ 16 ปี พ่อเดินทางไปทำงานในจังหวัดภาคใต้ ที่เกิดสึนามิ

“อภิสิทธิ์ ตาทอง” เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “พ่อ” จากความทรงจำเมื่อปี 2547 พ่อของเขาหายสาบสูญไป ตามข่าวในเวลานั้นคาดว่าน่าจะหายสาบสูญไปกับเหตุการณ์สินามิ

เท่าที่เขาจำได้จากคำบอกเล่าของยาย หลังจากพ่อสูญหาย จังหวัดได้เข้ามาสอบถามข้อมูลของครอบครัว มีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มาพูดคุย และรับอุปถัมภ์เขากับน้องอีก 2 คน เพื่อให้ได้รับทุนพระราชทาน โดยไม่มีข้อผูกมัด

“อภิสิทธิ์” ขณะนั้นบวชเป็นสามเณร และกำลังเรียน กศน. เมื่อได้รับทุนพระราชทาน จึงลาสิกขาออกมา เพื่อไปเรียนในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา

ได้รับทุนจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เมื่อปี 2548 และน้องอีก 2 คนได้เข้าเรียน ม.ต้น และ ม.ปลาย ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์

 

อภิสิทธิ์บอกอีกว่า เขาได้เรียนฟรี อยู่ในหอพักที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ และได้รับเงินพระราชทานทุกปี ปีละ 20,000 บาท อีกทั้งยังได้รับพระราชทานอุปกรณ์ทางการศึกษาด้วย ปัจจุบันเขาทำงานที่บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ส่วนน้องคนที่ 2 ก็ได้รับทุนพระราชทาน จนเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล แต่สำหรับน้องคนที่ 3 แม้ว่าจะไม่ได้รับทุนพระราชทาน เพราะผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ได้กู้เงินจาก กยศ.เรียนจนจบปริญญาตรีแล้วเช่นกัน

ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ท่านเมตตาผ่านมายังมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ถ้าไม่มีมูลนิธิคอยช่วยเหลือ ผมและน้อง ๆ คงไม่มีวันนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดบันทึก "เมื่อฉันเป็นโควิด" กับชีวิต Home Isolation

ไขคำตอบ! ตรวจ ATK พบโควิดด้วยตัวเอง จัดการชีวิตอย่างไร

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง