รพ.บุษราคัม เปิด "ไอซียู" ดูแลผู้ป่วยวิกฤต

สังคม
4 ส.ค. 64
14:16
1,517
Logo Thai PBS
รพ.บุษราคัม เปิด "ไอซียู" ดูแลผู้ป่วยวิกฤต
ผอ.รพ.บุษราคัม เผยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แล้วกว่า 14,000 คน ยังรักษาอยู่ 3,333 คน เปิดไอซียูดูแลผู้ป่วยวิกฤต 17 เตียง พร้อมจัดทางด่วนดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

วันนี้ (4 ส.ค.2564) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการ รพ.บุษราคัม กล่าวถึงการบริหารจัดการ รพ.บุษราคัม ว่า ได้เปิดให้บริการมาแล้ว 82 วัน ถึงวันนี้มีผู้ป่วย 14,213 คน มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ใน รพ. 3,333 คน หายป่วยกลับบ้านแล้วประมาณ 11,000 คน โดย โดยเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) รักษาหายกลับบ้าน 287 คน และรับเข้าใหม่อีก 378 คน

ขณะที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจน อยู่ 450 คน เครื่องช่วยหายใจ 169 คน ใส่ท่อหายใจอยู่ 2 คน กลับบ้านไปแล้วประมาณ 11,000 คน 

ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจนลดลง จากก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจน ถึง 750 คน เมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) เหลือเพียง 450 คน แต่ยังคงมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบไฮโฟลว์ สูงอยู่เช่นเดิมประมาณ 160-180 คน ทุกวัน ขณะที่ ผู้ป่วยที่ใส่ท่อหายใจอยู่ประมาณ 8-10 คนต่อวัน 

เพิ่มเตียงผู้ป่วยไอซียู 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทุกวันมีผู้ป่วยในระดับวิกฤตที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใส่ท่อหายใจ อยู่ตลอด การส่งต่อไปยัง รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าต้องรอคอยนาน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของเตียง ใน กทม.- ปริมณฑล ดังนั้นที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ของกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติให้ตั้ง "ไอซียูสนาม" ที่ รพ.บุษราคัม ซึ่งป็นหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤตเฉพาะขึ้นต่างหาก ขณะนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหลัง เปิดรับผู้ป่วยบ่ายวันนี้

ทั้งหมดมี 17 เตียง แบ่งเป็น ไอซียู 13 เตียง อีก 4 เตียงเป็นห้องแยกผู้ป่วยความดันลบ ซึ่งได้รับการสนันสนุนจากสถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

 

สำหรับเป้าหมายเพื่อรับผู้ป่วยวิกฤตภายใน รพ.บุษราคัม ที่ต้องการดูแลใกล้ชิด เนื่องจากเดิม พื้นที่ภายในกว้างทำให้การเข้าถึงตัวผู้ป่วยยาก ภายในมีเครื่องมือเทียบเท่ามาตรฐานของไอซียู มีทีมแพทย์เฉพาะทางที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดมาปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ จะมีการจัดทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้น หลังจากบิ๊กคลีนนิ่งไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่าตั้งแต่เปิดให้บริการมายังไม่มีการทำความสะอาดเลย พร้อมทั้งจะลดภาระงานภายในหอผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสของเจ้าหน้าที่ และให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว โดยจะดำเนินการเจาะเลือดและให้ยาตั้งแต่จุดแรกรับทั้งหมด

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดพื้นที่ แยกส่วนให้กับกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยที่แข็งแรงกว่าผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เข้ารับบริการเป็นช่องทางด่วนฟาสต์แทร็ก

ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 200-300 คนต่อวัน

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยกลับบ้าน 200-300 คนต่อวัน จึงจะมีการรับเพิ่มให้มากกว่าหรือเท่ากับ เพื่อให้ใช้เตียงที่มีอยู่ให้มากที่สุด ภายใต้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ขณะที่การเข้าสู่กระบวนการรักษาของโรงพยาลจะรับผ่านสายด่วน 1668 และ 1330 และจากโรงพยาบาลต่างๆ เช่น รพ.ของกรมการแพทย์ รพ.ราชวิถี  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง