แจงปม "ช้างไทย" ในบทเรียนออนไลน์อนุบาล

สิ่งแวดล้อม
5 ส.ค. 64
10:28
1,093
Logo Thai PBS
แจงปม "ช้างไทย" ในบทเรียนออนไลน์อนุบาล
กรมอุทยานฯ เตรียมทำหนังสือให้ครูแก้ไขภาพประกอบ "ช้างแอฟริกา"ที่ถูกนำมาสอนในชั้นอนุบาลว่าเป็นช้างไทยสัญลักษณ์ประจำชาติแล้ว ระบุไม่อยากมองปัญหาระบบเรียนออนไลน์ แต่ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ไม่ครบถ้วนหาได้จากอินเตอร์เน็ต พร้อมแจงหน้าตาช้างไทย

กรณีโซเชียลโดยเฉพาะกลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่า แชร์ภาพการเรียนการสอนที่ระบุว่ามาจากห้องเรียนมูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นภาพการสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 ในชั่วโมงเรียนรักเมืองไทย ซึ่งในการสอนเกี่ยวกับสัตว์ป่าของไทย โดยพบว่ามีการนำเสนอภาพสัตว์ป่าที่คลาดเคลื่อน เช่น ภาพช้างที่ครูบอกว่าเป็นสัตว์ป่าประจำชาติไทย ซึ่งแทนที่จะเป็นช้างป่าของไทย ภาพประกอบกับเป็นช้างแอฟริกา นอกจากนี้เรื่องนก ก็ยังไม่ตรงกับชื่อนกในเมืองไทย 

ข้อมูลผิดมีผลต่อการจดจำของเด็กหรือไม่?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบพบว่าในกลุ่มนักอนุรักษ์ ได้โพสต์ตั้งคำถามต่อข้อมูลดังกล่าว เพราะเป็นห่วงว่าจะทำให้เด็กๆ รับรู้ข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ผิดเพี้ยนไป

โดยหนึ่งในนั้นคือ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้โพสต์เฟชบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ระบุว่า น้องนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เห็นภาพนี้ จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่สอนเด็กทั่วประเทศ แล้วโพสต์ให้ดูเห็นแล้วจะเป็นลม

ภาพ : มูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ภาพ : มูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ภาพ : มูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

 

หมอนักอนุรักษ์ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเนื้อหาสอน เด็กอนุบาลเรื่องสัตว์ไทย แต่อนิจจา รูปที่ใช้ ผิดเยอะมากอย่างรูปช้างที่เห็น เป็นช้างอาฟริกา แต่บอกว่า นี่คือสัตว์ประจำชาติไทย สอนเรื่องนก ก็บอกชื่อผิดหลายตัวและแทบไม่มีนกในเมืองไทยเลย

อย่าหาว่าจู้จี้เกินเหตุนะครับ ถ้าสอนเรื่อง วัดพระแก้วแล้วเอารูปโบสถ์ในกรุงวาติกัน มาแทนคงไม่มีใครรับได้

ปัญหาคือ พื้นความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติวิทยาของไทยเราเอง เราอ่อนกันมากๆ ผิดๆ ถูกๆ ก็ช่างมันสะสมมากๆ ก็กลายเป็นรากของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากมาย เราจำเป็นต้อง ให้สิ่งที่ถูกต้องกับเด็กๆ 

อุทยานฯ ทำหนังสือให้แก้ไขข้อมูลด่วน

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปกติสื่อการเรียนการสอนที่ทำให้เพื่อสอนออนไลน์ และทำเพื่อเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ

แต่บางครั้งครูหรือบุคคลอื่นๆ รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองก็ค้นหาจากอินเตอร์เน็ต และอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นครูนำภาพช้างแอฟริกาไปบอกว่าเป็นช้างไทย ครูคงไม่มีเจตนา แต่มาจากการไม่มีองค์ความรู้เรื่องสัตว์ป่า 

ขอตรวจสอบข้อมูลและจะทำหนังสือให้กับทางมูลนิธิฯ ให้ครูแก้ไขข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าที่เป็นระบบการรียนการออนไลน์ ยังมีความจำเป็นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่ประเด็น เป็นเรื่องบุคคล 

นายสมปอง ระบุว่า มีหลายกรณีที่เคยมีการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนกับชนิดของสัตว์ป่า เช่น นกเงือกที่มีถึง 54 ชนิดทั่วโลก และของไทยก็เคยมีการนำภาพนกบางชนิดมาใช้แทนนกเงือกเป็นต้น  

ช้างไทยหน้าตาอย่างไร?

ขณะที่ เพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ช้างไทย กับการจำแนกลักษณะช้างไทย โดยข้อมูลระบุว่า เราพบเห็นหรือเรียกว่าช้างไทยนั้น จริง ๆ แล้วคือ ช้างเอเชียสายพันธุ์อินเดีย (Elephas maximus indicus) ซึ่งช้างอินเดีย ยังพบในอีกหลายๆประเทศด้วยกัน (อินเดีย บังกลาเทศ ภูฐาน เนปาล เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน มาเลเซีย และไทย)

ในประเทศไทยนั้นเรียกสายพันธุ์นี้ว่า “ช้างไทย”  และได้มีการจำแนกลักษณะช้าง ตัวผู้และตัวเมียออกโดยหลักๆ จะดูจากงา และเพศ ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามนี้ ช้างสีดอ คือ ช้างเพศผู้ ที่ไม่มีงา ช้างพลาย คือ ช้างเพศผู้ ที่มีงา ช้างพัง คือ ช้างเพศเมีย

 

นอกจากงา และเพศแล้วยังสามารถสังเกตได้จากจุดอื่นๆได้อีก เช่น ส่วนหัว ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย และมีฐานงวงนูนโป่งกว่าตัวเมีย ส่วนหลังและบั้นท้าย เมื่อสังเกตจากด้านข้าง ช่วงบั้นท้ายของตัวผู้จะค่อยๆ โค้งลาดลง ในขณะที่ของตัวเมียจะหักตรงลงมา

ถุงหุ้มอวัยวะเพศ โดยถุงหุ้มอวัยวะเพศของตัวผู้จะเรียวแหลมลงมา และวางตัวขนานกับท้อง บางครั้งจะเห็นอวัยวะเพศ ออกมาจากช่องท้องด้วยต่างจากตัวเมียถุงหุ้มอวัยวะเพศจะยาวลู่ลงมาในแนวดิ่งที่บริเวณขาหลัง

เต้านม ช้างตัวเมียจะมีเต้านมระหว่างขาคู่หน้า เต้านม จะเต่งนูนขึ้นจนสังเกตเห็นได้ชัด

ส่วนการตกมัน หลังจากช่วงที่ช้างได้กินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ช้างตัวผู้ มักจะมีอาการตกมัน โดยจะมีของเหลวข้นกลิ่นแรง ไหลออกมาจากต่อมบริเวณขมับ (Temporal gland) ย้อยลงมาบริเวณแก้มเห็นเป็นแถบสีดำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง