ชาวสวนมีคำตอบ ทำไมมังคุดราคาตก ? แนะจับตาผลไม้ภาคใต้

สังคม
5 ส.ค. 64
17:12
10,697
Logo Thai PBS
ชาวสวนมีคำตอบ ทำไมมังคุดราคาตก ? แนะจับตาผลไม้ภาคใต้
ชาวสวนมังคุดนครฯ เผยมังคุดล้นตลาดทำราคาตกขณะที่สถานการณ์ Covid-19 ซ้ำเติมปัญหาเหตุมาตรการล็อกดาวน์ห้ามเคลื่อนย้ายทำการขนส่งผลผลิตชะงัก ขณะที่ “มังคุด” จ.ชุมพร ส่งออกจีนไม่ได้ จ.ระนองไม่มีล้งเข้ารับซื้อมังคุด ขณะที่ เงาะโรงเรียน จ.สุราษฎร์ฯ ส่อแววล้นตลาด

จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้มีคำสั่งล็อกดาวน์และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานและออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำลัง

โดยเฉพาะการเดินทางเข้าพื้นที่ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 29 จังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายผลผลิตของชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมังคุดที่ขณะนี้ เป็นช่วงที่มังคุดออกสู่ท้องตลาดมากที่สุด และทำให้ราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

 

ทำไมมังคุดราคาตก

น.ส.อ้อย สุวรรณคช ชาวสวนมังคุด จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงสาเหตุที่มังคุดราคาตกลงมากว่า ในช่วงนี้ผลผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ออกสู่ตลาดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จึงทำให้ผลผลิตล้นตลาด และราคาตก โดยทำให้ราคาพ่อค้ามารับซื้อที่สวนอยู่ที่ กิโลกรัมละ 5 -7 บาท ซึ่งราคาค่อนข้างต่ำ และเมื่อไปสู่ล้งราคาขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท

มังคุดที่คัดแล้วพวกผิวมัน ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 40 บาท ขณะที่พวกเกรดลูกดำหรือเล็กราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาท ปีนี้ราคาไม่ถึง 10 บาท ถือว่าราคาตกมากที่สุด ปีที่แล้วยังอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท 

หรือในรายของกำนันที่มีสวนอยู่ในตำบลเดียวกัน ปลูกมังคุดราว 10 ไร่ เมื่อทราบว่าราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท ก็ตัดสินปล่อยให้สุกและร่วงคาต้น เนื่องจากไม่คุ้มค่าที่จะเก็บไปขาย

ล็อกดาวน์กระทบค้าออนไลน์

น.ส.อ้อย เล่าต่อว่า ทั้งนี้แนวทางการระบายผลไม้ นอกเหนือจากการให้พ่อค้ามารับซื้อที่สวนแล้ว อีกแนวทางที่ทำคือการขายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ โดยส่งไปยังจังหวัดภาคกลาง ภาคเหนือ ในราคาลังขนาดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม 300 บาท และ ขนาด 10 กิโลกรัม 600 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างเหมาะสม

 

แต่เมื่อมีคำสั่ง ศบค.ที่ต้องการควบคุมการแพร่ระบาด และสั่งล็อกกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าออนไลน์ ที่ขณะนี้ไม่สามารถส่งมังคุดไปขายได้ เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งไม่ว่าจะเป็น รถไฟ หรือ รถ บขส.ก็หยุดให้บริการ

รวมไปถึง เคอร์รี่ เจแอนด์ที เอสซีจี ล้วนแล้วแต่หยุดให้บริการ ซึ่งมีข้อดีคือการมารับถึงสวนทำให้ลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริการส่งสินค้า ลูกค้าสั่งมังคุด 10 โล ของค้าง 7 วัน สุดท้ายกว่าจะไปถึงลูกค้าก็เน่าเสีย ก็ต้องส่งมังคุดชุดใหม่ไปให้

"เก็บเอง-ขายเอง"

น.ส.อ้อย รายงานว่า ขณะนี้ที่สวนก็ทยอยเก็บต่อเนื่องทุกวันโดยใช้แรงงานภายในครอบครัว คือ พ่อ แม่ และตนเอง เนื่องจากราคามังคุดที่ถูกไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงาน จึงทยอยเก็บมังคุดในช่วงเช้าของทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00- 15.00 น.จากนั้นก็นำไปขายทั้งการตั้งแผงขายหรือขับมอเตอร์ไซค์ไปขาย ขณะที่อีก 2 สัปดาห์หากเก็บไม่ทันก็ต้องปล่อยสุกและร่วงจากต้น

ขณะนี้กิโลกรัมละ 7 บาท หากขายได้วันละ 100 กิโลกรัม ก็ยังไม่ถึง 1,000 บาท ซึ่งโดยเฉลี่ยก็ขายได้ประมาณ 300-500 บาท เพราะชาวสวนทุกคนก็นำออกมาขายเหมือนกัน ซึ่งหากราคาขยับมาที่กิโลกรัมละ 10 บาท ก็จะดีกว่านี้

ถ้าหักค่าปุ๋ยค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ ประมาณ 7,000-8,000 บาท รวมการขายมังคุดปีนี้ก็อาจจะเสมอตัว แต่ที่สวนซึ่งยังมีทุเรียนที่ถือว่าขายได้ราคายังค่อนข้างดี มาช่วยเฉลี่ย ทำให้ปีนี้อาจไม่ขาดทุนมากนัก รวมถึงอาจต้องรอผลผลิตลองกองและลางสาดที่จะทยอยออกมากต่อไป

 

หวังปลดล็อกส่งออนไลน์ได้

อย่างไรก็ตาม น.ส.อ้อย ยังกล่าวว่า ในพื้นที่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐดดยในพื้นที่ อ.ลานสกา มีรถของทหารเข้ามารับผลผลิตจากชาวสวน ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญ ในการกระจายผลผลิตมังคุดของ จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงอย่าง ต.นาพรุ อ.พระพรหม ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลจาก อ.ลานสกา ก็ยังไม่มีการเข้ามารับ

ขณะที่การไปส่งสินค้าที่ไปรษณีย์ไทย ที่แม้จะยังเปิดบริการให้ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองก็มีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19

ดังนั้นต้องรอดูสถานการณ์ของโรค COVID-19 ต่อไป ในช่วงวันที่ 17-18 ส.ค.ที่จะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือไม่ หากมีการผ่อนคลายก็จะช่วยให้สามารถส่งมังคุดไปขายทางช่องทางต่าง ๆ ได้ ซึ่งเวลาจะใกล้เคียงกับการที่ผลผลิตจะออกมาจนหมดและหากช้ากว่านั้นก็จะถ้าต้องปล่อยทิ้งไป

 

 

มังคุด “ชุมพร” ส่งออกจีนสะดุด

สอดคล้องกับสถานการณ์ชาวสวนมังคุด จ.ชุมพร โดยนายสุชาติ ทัพกาญจน์ ประธานกลุ่มมังคุดจังหวัดชุมพร ที่ระบุว่า ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. เป็นช่วงที่มังคุด จ.ชุมพร จะออกผลิตมากที่สุด คาดว่าผลผลิตออกมาแล้วกว่า 70 % โดยทางกลุ่มวิสาหกิจทั้ง 24 กลุ่ม มีผลผลิตเฉลี่ย 200 ตันต่อวัน คาดว่า ในเดือน ส.ค.จะมีผลผลิตรวม 6,000 ตัน ซึ่งสถานการณ์จะคล้ายกับในหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ มังคุด จาก จ.ชุมพร โดยปกติมีคัดเกรดพรีเมียมส่งออกไปประเทศจีน แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มีปัญหาเรื่องการส่งออก คือ มีตู้รับสินค้าไม่เพียงพอ ส่งได้ปริมาณน้อย และราคาส่งออกตกต่ำคืออยู่ที่ กิโลกรัมละ 30 บาท จากเดิมที่อยู่ที่ 80-90 บาท โดยปกติชาวสวนจะได้เงินส่วนแบ่งจากการส่งออกเฉลี่ยกิโลโกรัมละ 49 บาท เทียบกับช่วงราคาตกต่ำอยู่ที่ กิโลกรัมละ 17-18 บาท ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนการหีบห่อและค่าแรงในการเก็บ

ขณะที่มังคุดเกรดที่ส่งขายในไทย (ลายดอก ดำ ลาย กาก) ปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรได้ส่วนแบ่ง 7-8 บาทต่อกิโลกรัม( หักค่าเก็บและค่าบรรจุ หีบห่อ)

 

ทางออก ณ เวลานี้คือ ชาวสวนมังคุดพยายามนำมังคุดไปขายในภาคอื่น ซึ่งดีกว่าการขายในพื้นที่ ที่ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท โดยมีทางพาณิชย์จังหวัดช่วยเรื่องค่าขนส่ง

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือของภาครัฐ มีเงื่อนไขที่ทางจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด ช่วยเรื่องค่าจัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์ โดยให้เกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มและมีผลผลิตจำนวน 3 ตันจึงจะลงทะเบียนได้ แต่ถ้ากรณีที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็ต้องจ่ายค่าส่งเองประมาณกิโลกรัมละ 15 บาท ในกรณีส่งไปกรุงเทพฯ

ทั้งนี้มีกรณีที่ส่งมังคุดจาก จ.ชุมพร ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าส่งประมาณ 500 บาท ซึ่งค่าส่งเท่ากับราคามังคุดจึงทำให้ชาวสวนไม่ได้กำไร

ทั้งนี้จากสถานการณ์ COVID- 19 ชาวสวนไม่คาดคิดว่าจะระบาดต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ขาดการวางแผนล่วงหน้าเช่น การแปรรูปผลไม้ซึ่งต้องวางแผนตั้งแต่ต้นทาง

ขณะที่ ปัญหาด้านแรงงานขาดแคลนจากเดิมจะมีแรงงานจาก จ.จันทบุรี หรือทางภาคอีสานมาช่วยเก็บ แต่จากมาตรการรัฐ ในการห้ามเคลื่อนย้าย เนื่องจากมีมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้ปีนี้ไม่มีแรงงาน ทำให้ชาวสวนต้องระดมเก็บผลผลิตกันเองทำให้ระยะเวลาในการเก็บยืดออกไป ส่งผลต่อคุณภาพของมังคุด

ขณะที่ ชาวสวนบางส่วนได้รวมกลุ่มเพื่อขายทางออนไลน์ และมีชาวสวนมาให้ช่วยฝากขาย แต่ยังมีปริมาณอีกจำนวนมากพอสมควรที่ระบายออก

จ.ระนอง ขาดล้งประมูล

ขณะที่ นายอำมรินทร์ อุ่ยสุวรรณ ประธานกลุ่มผลไม้คุณภาพเกษตรอินทรีย์ จ.ป.ร. จ.ระนอง ระบุว่า มังคุด จ.ระนอง จะออกผลช่วงเดือน เม.ย. - ปลาย ต.ค. เเละจะออกผลผลิตข้ามฤดูอีกครั้งในเดือน ธ.ค. ซึ่งมีทั้งหมด 9 รุ่น รวมผลผลิตทั้งปีจะอยู่ที่ 25,000 ตัน ทั้งปี โดยปี 2564 ผลผลิตมังคุดออกเยอะกว่าปี 2563 เเต่น้อยกว่าปี 2562

สำหรับมังคุดอินทรีย์จากที่เทศบาลตำบล จปร. อ.กระบุรี จ.ระนอง ถือเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์มานานกว่า 10 ปี มีสมาชิกรวม 323 ราย พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ มีผลผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ 1,500 ตัน ซึ่งหากรวมเกษตรกรที่ไม่ใช่สมาชิกฯ มีประมาณ 2,500 ตัน โดยเฉพาะกรณีของเทศบาลตำบล จปร. กระบุรี เดิมเคยขายได้กิโลกรัมละ 70 - 60 บาท ต่ำที่สุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท เเต่ตอนนี้ราคาลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท 10 บาท และ 20 บาท

 

ปัญหาที่ยากสุดของมังคุด จ.ระนอง คือ การไม่มีล้งมาประมูล เนื่องจากตลาดหลายเเห่งปิด ประกอบกับมาตรการการในการเข้าพื้นที่ที่ค่อนข้างยุ่งยาก ขณะที่การจะจนส่งผลผลิตออกจากพื้นที่ก็มีความเสี่ยง เช่น กรณีของศูนย์เทศบาลตำบล จปร.ฯ หากพบว่า มีผู้ติด COVID-19 ก็ต้องถูกสั่งปิด และถูกกักตัวทันที

ขณะที่ การเเลกเปลี่ยนสินค้าอย่างกรณีชุมพร นั้นยังไม่มีการดำเนินการ มีเเต่การเชื่อมเรื่องการขายกับเเม่ค้าเดิมที่เคยทำอยู่เเล้ว ส่วนมาตรการแก้ปัญหาพบว่า ตอนนี้สหกรณ์ฯ เข้ามาชดเชยกิโลกรัมละ 3 บาท เเต่มีความยุ่งยากเรื่องเอกสาร

พ่อค้ารับซื้อลดลง "เงาะ" ถูกกดราคา

ขณะที่ผลไม้อีกชนิด อย่างเงาะ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก็มีปัญหาเช่นกัน ตามที่นายปิยวัฒน์ ลออย้อย นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ผลผลิตเงาะในปี 2564 คาดว่า จะเยอะกว่าปีที่แล้วโดยอยู่ที่ประมาณ 55,000 ตัน จากปีก่อนที่อยู่ราว 36,748 ตัน ซึ่งต้นเดือน ส.ค.นี้ถือเป็นช่วงต้นฤดูกาล คาดว่าช่วงกลางเดือนนี้ เงาะจะพร้อมกันหมดในหลายพื้นที่ และอาจจะส่งออกไม่ทันและไม่มีพื้นที่ในการส่งออก

ขณะที่ ราคาขายขณะนี้ลดลงวันละประมาณ 2 บาท ราคาล่าสุดที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม จากปกติขายอยู่ที่ 20 - 30 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากปกติจะส่งไปที่ตลาดไท จ.ปทุมธานี แต่ขณะนี้ผู้ค้าลดลงทำให้มีการกดราคา

 

ส่วนปัญหาในการรับซื้อเงาะนั้นพ่อค้าไม่สามารถเดินทางเข้ามารับซื้อภายในสวนได้และมาตรการจังหวัดค่อนข้างเป็นปัญหาในการเดินทางเข้า-ออก

อีกปัญหาเป็นเรื่องแรงงานในการขนส่งสินค้าที่ไม่เพียงพอเนื่องจากไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากภาคกลางและอีสานซึ่งชาวสวนเริ่มมีความกังวลว่าอาจเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทัน

ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหายังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนนักว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นมีการประชุมหารือ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทางพาณิชย์จังหวัดสนับสนุนค่าขนส่งให้กิโลกรัมละ 3 บาท ขณะที่ในพื้นที่ชาวสวนบางส่วนได้นำเงาะมาแปรรูปเป็น เงาะกวน เพื่อจำหน่ายทางออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง