หมอไทยไม่ให้กิน "โกฐจุฬาลัมพา" แบบเดี่ยว แต่ซื้อมาแล้วควรทำอย่างไร

สังคม
6 ส.ค. 64
06:47
17,664
Logo Thai PBS
หมอไทยไม่ให้กิน "โกฐจุฬาลัมพา" แบบเดี่ยว แต่ซื้อมาแล้วควรทำอย่างไร
สถาบันการแพทย์แผนไทย ระบุใช้ "โกฐจุฬาลัมพา" ต้องปรึกษาแพทย์ ไม่ควรใช้โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรเดี่ยวในการดูแลสุขภาพ เพราะมีอันตราย แต่หากกินไปแล้วมีอาการคลื่นไส้ มีอาการวิงเวียน มึนงง ให้รีบหยุดกินทันที

ในขณะที่หลายคนกำลังหาซื้อ "โกฐจุฬาลัมพา" สมุนไพรที่มีรายงานว่าสามารถต้านเชื้อโควิดได้ในห้องปฏิบัติการได้ อาจจะหาซื้อยากแล้ว เพราะกำลังเป็นสินค้าขาดตลาด เนื่องจากมีความต้องการสูงมาก จนราคาพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท และหลายร้านก็ต้องรอการนำเข้าประมาณ 1-2 เดือน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ต่อสายตรงกับ นพ.จักราวุธ เผือกคง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงกระแสแห่ซื้อโกฐจุฬาลัมพา คุณหมอบอกว่าเป็นห่วงการนำไปใช้ของประชาชน เพราะโกฐจุฬาลัมพา ไม่ควรใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวในการรักษาโรค เพราะมีอันตราย และยังมีอีกหลายคำตอบที่น่าสนใจ

Q: สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับ "โกฐจุฬาลัมพา"

A: โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยนำมารักษาโรคนานแล้ว ซึ่งในตำราพระโอสถพระนารายณ์ก็มีการเขียนถึงไว้ด้วย มีพื้นถิ่นอยู่ที่ประเทศจีน เป็นสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยนำเข้ามาใช้ จึงมีการประยุกต์ใช้กับตำรับยาและองค์ความรู้แผนไทยในการรักษาโรค โกฐจุฬาลัมพามีสรรพคุณหลากหลาย ในตำรับยาหอมเทพจิตร และตำรับยาหอมนวโกฐ แก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ในตำรับยาจันทน์ลีลาและตำรับยาแก้ไข้ห้าราก ใช้ลดไข้ นอกจากนี้ โกฐจุฬาลัมพา ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์แก้อักเสบ มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันด้วย คิดว่าที่ต่างชาตินำโกฐจุฬาลัมพาไปวิจัย เพราะน่าจะเห็นความโดดเด่นในฤทธิ์ยา

ในประเทศไทยโกฐจุฬาลัมพาอยู่มีหลายสายพันธุ์ที่นำเข้า ซึ่งในร้านขายยาแผนไทยมีขาย 3 สายพันธุ์ และทั้งหมดเรียกชื่อเดียวกันว่า โกฐจุฬาลัมพา สายพันธุ์แรกคือ สายพันธุ์ที่แผนแพทย์ไทยนำมาทำยารักษาโรค มีสรรพคุณลดไข้ บรรเทาอาการตัวร้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua

สายพันธุ์ที่ 2 มีชื่อว่า โกฐจุฬาลัมพาไทย ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris สายพันธุ์นี้ลดไข้ได้ไม่ดีเท่าสายพันธุ์แรก แต่เด่นรักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนเลือด ระบบการย่อยอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้

และสายพันธุ์ที่ 3 เป็นโกฐจุฬาลัมพา Artemisia argyi เป็นสายพันธุ์ที่แพทย์แผนจีนนำไปใช้ในการฝังเข็มและรมยา

Q: "โกฐจุฬาลัมพา" ซื้อมากินเองได้หรือไม่

A: ที่ร้านยาแผนโบราณ โกฐจุฬาลัมพาจะขายในรูปแบบตากแห้ง ทุกสายพันธุ์จะดูเหมือนกันหมด ตอนนี้กังวลว่าที่ประชาชนไปซื้อกันเอง จะได้สายพันธุ์ไหนมา หากได้แบบใช้ฝังเข็ม รมยา ก็จะเอามากินไม่ได้ แพทย์แผนไทยต้องใช้ความชำนาญในการซื้อ บางคนแยกออกด้วยสายตา แต่บางคนต้องชิมรสและดมกลิ่น

ปกติแล้วแพทย์แผนไทยจะไม่นำโกฐจุฬาลัมพามาใช้เป็นยาแบบเดี่ยว ๆ แต่จะเอามาเข้าตำรับยา เพื่อให้ยามีการออกฤทธิ์ เสริมฤทธิ์กัน ยาบางตัวจะลดพิษยาบางตัวได้ โกฐจุฬาลัมพาถ้านำมาใช้เดี่ยว ๆ หรือเอามาเป็นชาชง ก็ไม่ถูกต้องแล้ว เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งไม่แนะนำเลย

โกฐจุฬาลัมพาต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทย เพราะโกฐจุฬาลัมพาเป็นยา ไม่ใช่อาหาร หากกินทุกวัน อาจเกิดโทษได้ ร่างกายเราสบายดีไม่ได้ป่วย แต่เรากลับไปกินยาทั้งที่ร่างกายเราสบายดี ยาที่กินอาจจะทำให้ร่างกายเราทำงานผิดปกติได้

ดังนั้น โกฐจุฬาลัมพา ต้องกินตอนที่ป่วยและไม่สบายเท่านั้น ถ้าประชาชนป่วย มีไข้ แล้วอยากกินยาที่มีส่วนผสมของโกฐจุฬาลัมพา ก็สามารถซื้อยาตำรับจันทน์ลีลามากินลดไข้ได้ ไม่ต้องไปซื้อแบบตากแห้งมาทำยากินเอง

เข้าใจว่าสถานการณ์โควิดตอนนี้หลายคนกลัว และคิดว่าโกฐจุฬาลัมพาจะช่วยได้ แต่การเอามาชงน้ำร้อนดื่มทุกวัน จะเป็นอันตราย เพราะร่างกายแต่ละคนทนยาได้ไม่เท่ากัน เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอันตรายกับใคร เพราะยังไม่เคยมีใครกินโกฐจุฬาลัมพาเดี่ยว ๆ และกินทุกวัน

Q: ห้ามกินแบบเดี่ยว แต่ซื้อมาแล้วจะทำอย่างไร?

A: คนที่ซื้อมาแล้วต้องพิจารณาให้ดี เพราะยังย้ำว่าไม่ควรใช้โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรเดี่ยว ที่ใช้ตัวเดียวในการดูแลสุขภาพ โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่ต้องเข้าตำรับยา และไม่แนะให้เอามาชงกับน้ำร้อนดื่มทุกวัน จะเป็นอันตราย

Q: จะเป็นอย่างไร หากกินไปแล้ว

A: ให้สังเกตอาการข้างเคียงหลังจากกิน เพราะหากกินในปริมาณมากติดต่อกัน 3 วัน จะมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ มีอาการวิงเวียน มึนงง ถ้าพบอาการเหล่านี้ให้หยุดกินทันที และอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 1-2 วัน

Q: เป็นไปได้หรือไม่ "โกฐจุฬาลัมพา" รักษาโควิด

A: มีความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้เป็นงานวิจัยที่ยังอยู่ในหลอดทดลอง การจะเอาผลการทดลองมาใช้ในมนุษย์ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งจะต้องทดลองจนกว่าจะรู้ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยหรือไม่ แต่ถ้าเราเอาผลวิจัยที่อยู่ในหลอดทดลองมาใช้ก่อน จะข้ามขั้นตอนเกินไป ซึ่งเรายังไม่รู้เรื่องความเป็นพิษ หากสุดท้ายแล้วเขาวิจัยว่าเป็นพิษ แต่เรากินไปแล้ว เราก็จะได้รับอันตรายจากตัวเราเอง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง