4 วัน สธ.ฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าแล้ว 5.7 หมื่นคน

สังคม
8 ส.ค. 64
12:50
567
Logo Thai PBS
 4 วัน สธ.ฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าแล้ว 5.7 หมื่นคน
สธ.เปิดข้อมูล 4-7 ส.ค.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าแล้ว 57,000 คน พร้อมเฝ้าระวังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ - เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี หลังพบสหรัฐฯ รายงานข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ 1,226 คน จากวัคซีน 300 ล้านโดส

วันนี้ (8 ส.ค.2564) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้า โดยระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น ตั้งแต่วันที่ 4-7 ส.ค.แล้วกว่า 57,000 คน โดยเมื่อวานนี้ฉีดเพิ่มขึ้น 11,000 คน หลัง สธ.ทยอยจัดส่งไปยัง 170 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัด

การฉีดให้บุคลากรด่านหน้าตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในวันที่ 9 ส.ค.


ทั้งนี้ สธ.จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปให้โรงพยาบาลแล้วประมาณ 446,000 โดส จากโควตา 700,000 โดส ยังเหลืออยู่อีกกว่า 250,000 โดส ซึ่งจะทยอยจัดส่งต่อไป โดยสาเหตุที่ไม่ส่งไปทั้งหมด เนื่องจากอาจพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งได้วัคซีนเกิน บางแห่งได้ขาด รวมทั้งอายุของวัคซีนต้องฉีดให้เสร็จภายใน 31 วัน

การสำรวจและส่งจำนวนบุคลากรมา บางที่เกิน บางที่ขาด จึงต้องทยอยส่ง แต่ สธ.จัดให้ใกล้เคียงตัวเลขที่สำรวจมากที่สุด บางที่เจ้าหน้าที่ด่านหลังมาเป็นด่านหน้า หรือเด็กจบใหม่ก็เข้าใจ ขอเพิ่มมาได้เลย ทุกคนได้ฉีดแน่นอน

เฝ้าระวังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ - เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

สำหรับอาการหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เท่าที่พบรายงาน มีเพียงอาการปวด บวม ร้อน ไม่รุนแรง แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาและเก็บข้อมูลพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ของข้อมูลของศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC)

จากการเก็บข้อมูลภาวะไม่ถึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในสหรัฐฯ พบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี พบมากในช่วงอายุ 16 - 18 ปี และพบว่ามีอาการภายใน 5 วันหลังฉีดวัคซีน 

โดยพบรายงานอาการดังกล่าว จำนวน 1,226 คน จากวัคซีน 300 ล้านโดส หรือประมาณ 4 คน ต่อ 1 ล้านโดส ซึ่งถือว่าเป็นภาวะไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต


ข้อมูลยังระบุอีกว่า ผู้หญิง อายุ 12-17 ปี คาดว่าจะพบภาวะดังกล่าว 0-2 คน แต่พบจริง 19 คน ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ 10 เท่า ส่วนผู้ชาย อายุ 12-17 ปี คาดว่าจะพบ 0-4 แต่พบ 128 มากกว่าที่คาด 30 เท่า หรือหมายความว่า จะพบภาวะนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ชายมีโอกาสพบในอายุที่สูงกว่าผู้หญิงด้วย 

อาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ คือ คนไข้จะเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น โรคนี้พบได้น้อยในประชาชนทั่วไป แต่พอฉีดวัคซีนก็พบมากขึ้นแต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก และยังไม่พบผู้เสียชีวิต

บุคลากรด่านหน้ายังไม่มีรายงานภาวะไม่พึงประสงค์

สำหรับอาการหลังการฉีดของบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในประเทศไทยนั้น พบว่า ในจำนวน 57,000 คน มีผู้ที่อยู่ในวัยต้องเฝ้าระวังหรืออายุน้อยกว่า 30 ปี ประมาณ 60% แต่ยังไม่มีข้อมูลที่บันทึกในหมอพร้อมเกี่ยวกับความผิดปกติ และข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเช่นกัน 

ทั้งนี้ การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้น จะรักษาโดยสังเกตอาการ ประคับประคอง และให้ยาตามอาการ ซึ่งจะอยู่ในการดูแลของแพทย์โรคหัวใจ ยืนยันว่า รักษาได้ และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต

เน้นฉีดไฟเซอร์กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่เคยได้วัคซีนก่อน

นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงกรณีการกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดว่า ในเดือน ส.ค.นี้ สธ.จะจัดสรรวัคซีนไปยังต่างจังหวัดสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส โดยเฉลี่ยวัคซีนทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวคให้ใกล้เคียงกัน คาดว่า 4 สัปดาห์จะกระจายไปได้ 10 ล้านโดส

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์นั้นจะกระจายไปยัง 13 จังหวัดสีแดงเข้มก่อนในล็อตนี้ และจะส่งเพิ่มไปอีก 16 จังหวัดสีแดงเข็มในล็อตต่อไป ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ไม่มีวัคซีน VIP เพราะเป็นการจัดสรรของโรงพยาบาลในการฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งโรงพยาบาลจะมีข้อมูลคนไข้อยู่แล้ว โดยเน้นผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง รวมถึงหญิงมีครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

ผู้สูงอายุต่างจังหวัดยังไม่ได้วัคซีนเลยเกินครึ่ง จึงขอให้ฉีดผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีนก่อน ส่วนการบูสเตอร์โดสให้ประชาชนทั่วไป อาจจะประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง