ทบทวนงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" รักษาโควิด ในวารสารการแพทย์

สังคม
8 ส.ค. 64
16:02
4,471
Logo Thai PBS
ทบทวนงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" รักษาโควิด ในวารสารการแพทย์
กรณีโลกออนไลน์ส่งต่อข้อมูล เรื่องการถอนงานวิจัย ประสิทธิภาพฟ้าทะลายโจรรักษา COVID-19 ระหว่างรอการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เบื้องต้นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ระบุว่า อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลเพื่อความถูกต้อง

วันนี้ (8 ส.ค.2564) นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ กรรมการแพทยสภา ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Passakorn Wanchaijiraboon ระบุว่า "1 ใน 4 paper ฟ้าทะลายโจร ขอถอน โดยผู้แต่งขอถอนออกจากการตีพิมพ์เนื่องการ error ของการวิเคราะห์ทางสถิติ ทำให้สรุปใหม่ว่า ไม่ต่างจากยาหลอก"

เพื่อไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ในแนวทางการรักษาผู้แต่งจึงขอถอน การตีพิมพ์
https://www.medrxiv.org/con.../10.1101/2021.07.08.21259912v2

CPG รักษา COVID 4-8-64 ที่มี citation ของ paper ที่ถอน
https://covid19.dms.go.th/.../25640804171629PM_CPG_COVID...

 
ขณะเดียวกัน ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า ก็ได้แชร์โพสต์ดังกล่าว พร้อมระบุว่า งานวิจัยฟ้าทะลายโจรชิ้นนี้ผู้วิจัยขอถอนออกไปแล้ว เพราะคำนวณสถิติผิดพลาด สรุปที่ถูกต้องสำหรับงานวิจัยนี้คือ “ฟ้าทะลายโจรไม่แตกต่างจากยาหลอก”

 
ต่อมา เพจ Drama-addict ก็ได้เผยแพร่โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า แนวทางการรักษา COVID-19 ที่ใช้เป็นแนวทางตอนนี้ ล่าสุด จากข่าวเกี่ยวกับการถอดงานวิจัยฟ้าทะลายโจร "น่าจะต้องมีการอัปเดตแนวทางปฎิบัติใหม่หมดแน่"

ทบทวนข้อมูลใหม่-งานวิจัยอยู่ระหว่างรอตีพิมพ์

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสได้สอบถามไปยังหนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ เบื้องต้นให้ข้อมูลว่า เป็นการขอทบทวนข้อมูลใหม่หรือ Revise ซึ่งไม่ใช่การถอน หลังมีผู้เชี่ยวชาญท้วงติงเรื่องความถูกต้องของผลการศึกษา

ทั้งนี้ หลังแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จะส่งเข้าไปใหม่ ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก จะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้น งานวิจัยนี้ยังอยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์ ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ในวารสารการแพทย์

ยาหลอก คืออะไร ?

นอกจากประเด็นที่งานวิจัยถูกถอนออกจากวารสารทางการแพทย์หรือไม่นั้น ประเด็นผลการวิจัยที่มีการระบุว่า "ฟ้าทะลายโจรไม่แตกต่างจากยาหลอก" ก็ได้สร้างความกังวลให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนเช่นกัน

เว็บไซต์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "ยาหลอก (Placebo)" โดยระบุว่า ยาหลอกจะถูกทำให้มีลักษณะ สี และขนาดต่าง ๆ ให้ดูคล้ายกับยาทั่วไป แต่กลับไม่มีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการรักษา มีส่วนประกอบหลักทำมาจากแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาและทดลองของสถานพยาบาล 

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ยาหลอกมีผลได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยในเชิงบวกนั้นยาหลอกอาจทำให้ผู้เข้ารับการรักษาที่มีภาวะต่าง ๆ มีอาการตอบสนองในทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากผลของยาหลอกอาจมีการเชื่อมโยงมาจากผลความคาดหวังจากการรักษาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาและปฏิกิริยาทางระบบประสาทที่มีความซับซ้อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง