ไขปม! ถอนงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" รักษาโควิด เหตุคำนวณเลขผิด

สังคม
9 ส.ค. 64
13:57
35,910
Logo Thai PBS
ไขปม! ถอนงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" รักษาโควิด เหตุคำนวณเลขผิด
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แถลงปมถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษา COVID-19 ระบุ ทีมวิจัยตรวจพบความผิดพลาดของสถิติ จึงถอนออกมาเพื่อปรับตัวเลขและจะส่งกลับไปตีพิมพ์ในวารสารเดิมต่อไป

วันนี้ (9 ส.ค.2564) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรที่อยู่ระหว่างรอตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ โดยระบุว่า ทีมวิจัยกรมการแพทย์แผนไทยฯ นำเสนองานวิจัยในรูปแบบภาษาอังกฤษ โดยเอกสารชื่อว่า Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial หรือ การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยที่เป็น COVID-19 อาการไม่รุนแรง และเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกัน

หลังจากได้ข้อมูลผลลัพธ์และนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการนำเสนอนโยบายและแนวทางปฏิบัติ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงส่งเอกสารนี้ รอการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ขณะเดียวกันระหว่างนั้น มีการเก็บข้อมูลเชิงรายละเอียด และพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย จึงได้ดึงข้อมูลตัวนี้กลับมา

จุดเริ่มต้นงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด

จากกรณีที่ยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่า สามารถฆ่าไวรัสโคโรนา หรือรักษาโรค COVID-19 ได้โดยตรง จึงมีการทดลองและเก็บข้อมูลการใช้ยาชนิดต่าง ๆ ที่คาดว่าจะใช้รักษา COVID-19 ได้ ทั้งฟาวิพิราเวียร์ เรมเดสซิเวียร์ และสมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจร

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทดลองใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการเล็กน้อย และมีแนวโน้มที่ได้ผลดี โดยเฉพาะลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนมีปอดอักเสบ

งานวิจัยนี้เป็นการทดลองแบบสุ่มโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วย COVID-19 อาการเล็กน้อย อายุ 18-60 ปี ส่วนอีกกลุ่มเป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะเดียวกันแต่ได้รับยาหลอก หรือเป็นยาเปล่า ๆ ที่ไม่ได้ใส่สารสกัดฟ้าทะลายโจร 

กลุ่มตัวอย่างใช้ฟ้าทะลายโจรไม่พบปอดอักเสบ

สำหรับผลการทดลอง พบว่าในกลุ่มได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร จำนวน 29 คน ไม่พบอาการปอดอักเสบทั้งหมด แต่พบในกลุ่มยาหลอก 3 คน จาก 28 คน คิดเป็น 10.7% เมื่อคำนวณทางสถิติแล้ว มีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ p= 0.112

ในจุดนี้มีการคำนวณคลาดเคลื่อน ในการรายงานครั้งแรกทีมวิจัยคำนวณค่านัยสำคัญอยู่ที่ p=0.03

พญ.อัมพร อธิบายเสริมว่า ค่านัยสำคัญ อาจกล่าวได้โดยง่ายว่า ตัวเลขที่เสนอไปครั้งแรก เหมือนการทดลอง 100 ครั้ง ค้นพบว่ามีผลลัพธ์คงเดิมอยู่ที่ 97 ครั้ง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจมาก ส่วนตัวเลขใหม่ที่ถูกต้อง หากทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์ที่อยู่คงเดิมจะอยู่ที่ 90 ครั้ง ความคงที่จะลดลงในระดับหนึ่ง

ถามว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์การตัดสินใจอื่น ๆ หรือไม่ ยังต้องติดตามต่อ เพราะกลุ่มตัวอย่างยังมีค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ งานวิจัยยังค้นพบเรื่องความคงอยู่ของไวรัสหลังรับฟ้าทะลายโจร โดยพบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร พบไวรัสคงอยู่ 10 คน จาก 29 คน คิดเป็น 34.5% ส่วนกลุ่มใช้ยาหลอกพบไวรัสคงอยู่ 16 คน จาก 28 คน คิดเป็น 57.1%

เร่งแก้ไขตัวเลข ก่อนส่งตีพิมพ์อีกครั้ง

พญ.อัมพร กล่าวย้ำว่า เรื่องการถอนงานวิจัยในครั้งนี้ ทีมวิจัยของไทยเป็นผู้ตรวจพบความผิดพลาดของสถิติหนึ่งจุดดังกล่าว และขอถอนงานวิจัยออกมาเอง ไม่ได้ถูกปฏิเสธหรือถูกส่งคืนกลับมาจากวารสารแพทย์ และผลการวิจัย เนื้อหาเกือบทั้งหมดยังคงเป็นไปตามรายงานฉบับแรกที่ถอนกลับมา เมื่อได้ปรับปรุงตัวเลขดังกล่าวให้ถูกต้องแล้วก็จะส่งกลับไปตีพิมพ์ที่วารสารเดิมต่อไป

หมายความว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของไทย ยังมีแนวโน้มที่ดี ที่จะได้ผลในการป้องกันผู้ติด COVID-19 ไม่ให้เกิดปอดอักเสบ และสามารถใช้งานต่อไปได้

สำหรับ "ฟ้าทะลายโจร" เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาตินานแล้ว แต่เดิมใช้รักษาหวัด แต่ต่อมาได้ขยายคุณสมบัติฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษา COVID-19 ในผู้ป่วยอาการน้อย โดยอ้างอิงจากการศึกษาจากเอกสาร และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

นอกจากเข้าสู่บัญชียาหลักแล้ว สปสช.ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษา COVID-19 ด้วย ปัจจุบันมีผู้ได้รับฟ้าทะลายโจรรักษา COVID-19 แล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 คน

 

 

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทบทวนงานวิจัย "ฟ้าทะลายโจร" รักษาโควิด ในวารสารการแพทย์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง