สุพรรณบุรี! หนึ่งเดียวไม่พบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา

สังคม
10 ส.ค. 64
13:45
2,542
Logo Thai PBS
สุพรรณบุรี! หนึ่งเดียวไม่พบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดียยึด 77 จังหวัด มีเพียง "สุพรรณบุรี" ที่ยังตรวจไม่เจอแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อสายพันธุ์นี้ กทม.หนักสุดพบ 95.4% คาดอีกไม่นานกลืนสายพันธุ์อัลฟาแน่

วันนี้ (10 ส.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การเฝ้าระวังเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ว่าจากการสุ่มตรวจ 1,632 คน พบเชื้อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เกือบ 1,499 คน รวมตัวเลขสะสมที่พบการระบาด 11,469 คน

หากสัปดาห์นี้เป็นตัวแทนของสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ในกทม.มีการระบาดในทุกเขต คิดเป็น 95.4 % พบสายพันธุ์เดลตา 1,157 ตัวอย่าง ส่วนอีก 4.6 เป็นสายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ส่วนภูมิภาคพบ 83.2  % หรือพบ  475 ตัวอย่างและ 16 % เป็นสายพันธฺุพันธุ์อัลฟา ส่วน 0.8 % เป็นสายพันธุ์เบตา ที่ยังพบในพื้นที่ภาคใต้ โดยพบเพิ่มขึ้นเพียง 4 คน ที่ จ.ภูเก็ต 3 คน และพัทลุง 1 คน 

ทั้งนี้ ภาพรวม 1,632 ตัวอย่างทั้งประเทศเป็นเดลตา 91.9 % กำลังจะเบียดอัลฟาและกลายเป็นเดลตาทั้งหมด

กราฟรายสัปดาห์ขึ้นเร็ว เพราะเดลตาแพร่กระจายง่าย พบใน 76 จังหวัดรวม กทม.และมีเพียงสุพรรณบุรี ที่ยังไม่พบ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี แค่อาจจะยังตรวจไม่เจอ ดังนั้นจึงสรุปว่า เดลตานี้ระบาดครบ 77 จังหวัดแล้ว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายและติดเชื้อง่าย ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 20,000 คนต่อวัน จึงขอให้เคร่งครัดในมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากหยุดการระบาดได้เร็วจะเลี่ยงการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ได้

ส่วนสายพันธุ์เบตาที่เคยเจอในจ.บึงกาฬพบรวม 5 คนไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม จึงถือว่าไม่น่าจะเป็นปัญหานอกพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังว่าจะแพร่กระจายไปที่อื่นหรือไม่ รวมทั้งสายพันธุแลมป์ดา ก็ยังไม่พบระบาดในไทยแต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังจากการติดต่อทางชายแดน 

วอนอย่าแชร์ผลตรวจภูมิคุ้มกัน

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีการแชร์ข้อมูลผลตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน COVID-19 ว่าไม่ได้บอกอะไร เพราะเป็นการขึ้นของภูมิคุ้มกันในภาพรวม ไม่ได้บอกว่าจัดการกับสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์เบตาอย่างไร

อีกทั้งแล็บแต่ละแห่ง มีค่าของตัวเลขแตกต่างกัน นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่ได้กำหนดว่าภูมิขึ้นระดับใดจึงป้องกันโรคได้ และป้องกันโรคสายพันธุ์ใด

หากจะไปตรวจภูมิคุ้มกัน ขอให้ถามคนที่จะตรวจว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ปกป้องหรือการกำจัดเชื้อโรคหรือใม่ เพราะถ้าเป็นการตรวจภูมิทั่วไป ก็ไม่คุ้มค่าที่จะไปเสียเงิน ภูมิที่ขึ้นมากก็ไม่ได้บอกว่าปกป้องสายพันธุ์ใหม่ๆได้หรือไม่ เพราะตอนนี้เห็นมีการชักชวนกันไปตรวจ

ไม่แนะนำให้ไปตรวจเป็นรายบุคคล ที่ผ่านมาการตรวจภูมิต้านทานเพื่อนำมาปรับสูตรวัคซีน ซิโนแวค เข็มแรก และแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 เพื่อรับมือสายพันธุ์เดลตา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง