เตือน 5 อาชญากรรมไซเบอร์ รู้ทันก่อนโดน "แฮก-โกง-หลอก"

สังคม
11 ส.ค. 64
09:23
9,873
Logo Thai PBS
เตือน 5 อาชญากรรมไซเบอร์ รู้ทันก่อนโดน "แฮก-โกง-หลอก"
Work From Home ช่วงโควิด คนใช้โซเชียลมากขึ้น เพิ่มช่องทางมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูล ขณะที่ ตร. เปิด 5 อันดับอาชญกรรมไซเบอร์ จับตาแฮกข้อมูล แอปฯ กู้เงิน และไฮบริด สแกม หลอกรักลวงลงทุน เหยื่อเสียหายหลักล้านบาท

"ติ๊ง" เสียงเตือนข้อความโทรศัพท์มือถือดังขึ้นกลางดึก เวลา 23.16 น. พนักงานออฟฟิศสาวคนหนึ่งอ่านข้อความ "ALERT! บัตรของท่านถูกระงับการใช้จ่ายผ่านอินเตอร์เน็ตชั่วคราว เนื่องจากพบรายการที่น่าสงสัย กรุณายืนยันความถูกต้องของรายการผ่านทาง Email ของท่าน หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิกบัตร"

เธอรู้สึกกังวลว่า มิจฉาชีพใช้ยอดเงินในบัตรเครดิตแล้วหรือไม่ จึงรีบโทรไปยังธนาคารเจ้าของบัตรทันที พร้อมสอบถามสาเหตุ

เจ้าหน้าที่ระบุว่า พบการใช้จ่ายต้องสงสัย เป็นการซื้อโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊ก ยอดเงิน 814 บาท จึงระงับการใช้ และยังไม่มีการหักเงินในบัตร

คาดว่า มิจฉาชีพสุ่มหมายเลข 16 หลักหน้าบัตรเครดิต หรือนำข้อมูลมาจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อเธอเกือบเป็นผู้เสียหายยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนทำธุรกรรมดังกล่าว ธนาคารจึงออกบัตรใหม่ให้ทันที

เช่นเดียวกับ สกลศักดิ์ บำรุงศรี ข้าราชการหน่วยงานแห่งหนึ่ง ระบุว่า ตนเองได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ บริษัทบัตรเครดิตแห่งหนึ่ง ว่า จะระงับบัตรเครดิต เนื่องจากพบว่า มีผู้พยายามเข้ารหัสบัตรเครดิต เพื่อซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊กโดยเหตุเกิดเมื่อประมาณช่วงปลายเดือน ก.ค. และเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์มาแจ้ง เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

จากนั้นทางบริษัทบัตรเครดิต ได้ส่งบัตรเครดิตใบใหม่มาให้ และเปลี่ยนรหัสบัตรใหม่แล้ว

ขณะนี้อยากทราบว่า ข้อมูลบัตรเครดิตของตนเองนั้นหลุดไปถึงมิจฉาชีพที่พยายามเข้ารหัสบัตรของตนเองได้อย่างไร เนื่องจากการใช้บัตรเครดิตจะผูกไว้กับร้านค้าออนไลน์เจ้าดังแห่งหนึ่ง ระบบไลน์แรบบิท และใช้งานในลักษณะทั่วไปคือ การชำระค่าสินค้าอุปโภคและบริโภคทั่วไปที่ห้างสรรพสินค้า และเติมน้ำมัน

ตอนนี้ยังสงสัยว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการใดในการได้ตัวเลขบัตรเครดิต และพยายามเข้ารหัสบัตรเครดิต เพราะปกติจะระมัดระวังในการใช้ทุกครั้ง แต่ยังโชคดีที่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การแฮกบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถาบันการเงินมีระบบการป้องกัน หากแฮกง่ายจะเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า จึงต้องระมัดระวังมากที่สุด

แต่ขณะนี้มิจฉาชีพ หรือการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากประชาชนจำนวนมากทำงานที่บ้าน (Work From Home) และเข้าถึงสื่อออนไลน์มากขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงของกลุ่มคนดังกล่าว

ข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-9 ส.ค.2564 พบผู้เสียหายถูกโกงผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กมากที่สุด 881 ราย รองลงมาแอปพลิเคชันไลน์ 232 ราย อินสตราแกรม 79 ราย

5 อันดับแรกเป็นภัยออนไลน์จากการด่าทอ-ไซเบอร์บูลลี่ 534 ราย, แฮกข้อมูล 431 ราย, หลอกลวงขายของออนไลน์ 407 ราย, แอปพลิเคชันหลอกให้กู้เงินออนไลน์ และไฮบริด สแกม

การด่าทอ-ไซเบอร์บูลลี่

ขณะนี้ประชาชนมีการเข้าถึงโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง รวมทั้งความเห็นต่างทางการเมือง ทำให้พบความผิดเกี่ยวกับการด่าทอและไซเบอร์บูลลี่ เป็นอันดับ 1 มีการดำเนินคดี 534 ราย

แฮกข้อมูล-ฟิชชิ่งลวงแจกเงิน

แฮกเกอร์พยายามแฮกข้อมูลและลวงยืมเงิน ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้รหัสที่คาดเดาง่าย เช่น เบอร์โทรศัพท์ เมื่อมิจฉาชีพรู้เบอร์โทรศัพท์แล้วเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นโซเซียลของผู้เสียหายได้ ก็เปลี่ยนรหัสและยึดบัญชีผู้ใช้ทันที

ส่วนอีกกรณีเป็นการล่อลวงแบบฟิชชิ่ง (Phishing) ใช้ประโยคและแนบลิงก์ให้เข้าไปกรอก Username และ Password ส่วนใหญ่พบในรูปแบบการแจกของ และ Gift voucher

ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ฟิชชิ่ง อ้างกาแฟเจ้าดังแจกเงินคนละ 10,000 บาทสู้โควิด, ครบรอบบริษัทนาฬิกาและรถยนต์ยี่ห้อดัง แจก Gift voucher ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อและคลิ๊กลิงก์เข้าไปกรอก Username และ Password ของแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กและไลน์ หวังรับเงินหรือของรางวัล

แนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก อย่าใช้วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ อย่าคลิ๊กลิงก์แปลก ๆ อย่างฟิชชิ่งที่ใช้ประโยคล่อลวงเป็นเหยื่อ และเบ็ดเป็นลิงก์ ส่วนคนที่ฮุบปลาคือประชาชนที่หลงเชื่อ

เดือนที่แล้วการแฮกแซงมาเป็นอันดับ 2 สะท้อนภัยการเข้าถึงข้อมูลที่มิชอบมากขึ้น

หลอกขายของออนไลน์ ฟ้าทะลายโจรมาแรง

มิจฉาชีพจะแฝงตัวเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โกงด้วยการสั่งสินค้าแล้วไม่ส่ง โฆษณาเกินจริง ไม่ตรงสรรพคุณ และได้สินค้าไม่เหมือนกับที่สั่งไป

ขณะนี้พบว่า มีการเขียนโปรแกรมและเปิดร้านขายสินค้าในเฟซบุ๊ก ติดต่อกับผู้ซื้อผ่านทางแชทบอท ใช้ภาพโฆษณาสินค้าที่สวยงาม แต่เมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้วพบว่า ไม่มีคุณภาพและไม่สามารถขอคืนเงินได้

อีก 1 สินค้าที่พบการร้องเรียนบ่อย คือ ยาฟ้าทะลายโจร เนื่องจากเป็นที่ต้องการของประชาชนในช่วงนี้ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลสินค้าที่ได้รับการรับรองจาก อย.ก่อนซื้อ

แนะนำ 3 อย่า 1.อย่าไว้ใจ ตรวจสอบข้อมูลร้านค้า ชื่อผู้ค้า เลขบัญชี หมายเลขโทรศัพท์ นำไปค้นหาใน google โดยพิมพ์คำว่า "โกง" ไปด้วย หากมีประวัติก็แสดงว่าร้านดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพ

2.อย่าโลภ อย่าเห็นแก่การชักชวนลงทุน อย่าอยากได้ของถูกเกินจริง และ 3. อย่าละเลยข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์

หลอกให้กู้เงินออนไลน์-ไม่จ่ายประจานเพื่อนฝูง

แอปพลิเคชันหลอกให้กู้เงินออนไลน์ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยงวดแรก ก่อนรับเงิน เมื่อโอนเงินแล้วมิจฉาชีพจะปิดทุกช่องทางการติดต่อ

2.แอปพลิเคชันจากจีน มีนายทุนจีนจ้างคนไทยมาเป็นพนักงานทำลิงก์แนบข้อความ เช่น แจกเงิน 1 แสนบาท, เงินเข้าบัญชีแล้ว 1 แสนบาท และกู้วงเงินสูง กู้ง่าย

เมื่อผู้เสียหายกดลิงก์เข้าไปดู จะให้กด "ยอมรับ" การเข้าถึงรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ จากนั้นจะให้ทำเรื่องกู้เงิน แต่ได้เงินจริงเพียงร้อยละ 60 ยกตัวอย่างกู้ 10,000 บาท ได้รับโอนเงินจริง 6,000 บาท ส่วนอีก 4,000 อ้างว่าเป็นค่าดำเนินการ ค่าดอกเบี้ย

แต่เมื่อผู้เสียหายรู้สึกถูกเอาเปรียบและจะขอยกเลิกก็ทำไม่ได้ โดยมิจฉาชีพให้เวลาหาเงินมาคืนภายใน 5-7 วัน ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะหาเงินคืนไม่ทัน

ต่อมาคนไทยที่รับหน้าที่เป็นพนักงาน จะโทรศัพท์ติดตามทวงเงิน ใช้วิธีทั้งด่าทอ ดูหมิ่น ข่มขู่ ที่สำคัญจะส่ง SMS ไปยังรายชื่อติดต่อในโทรศัพท์ ทั้งครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ในเชิงประจานผู้เสียหาย กู้เงินแล้วไม่คืน

อ้างว่า ผู้เสียหายแจ้งชื่อบุคคลในรายชื่อดังกล่าวเป็นคนค้ำประกัน หากไม่คืนเงินจะติดเครดิตบูโร ไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้ จนบางคนหลงเชื่อและยอมจ่ายหนี้แทนให้ ถือว่าปั่นป่วนในระดับหนึ่ง

นอกจาก Work From Home ตอนนี้คนไม่มีเงิน หยิบยืมใครลำบาก อันนี้ง่ายมากเคาะเรียกถึงในโทรศัพท์

"ไฮบริด สแกม" หลอกรักลวงลงทุน

ไฮบริด สแกม (Hybrid Scam) พัฒนามาจากโรแมนซ์ สแกม จากเดิมเป็นกลุ่มคนผิวสีใช้รูปโปรไฟล์ปลอมเป็นชาวยุโรป ตะวันออกกลาง หลอกให้ผู้เสียหายรักแล้วอ้างว่าได้รับมรดก จะส่งของมาให้ ป่วย หรือต้องใช้เงินลงทุน แล้วให้ผู้เสียหายโอนเงิน

แต่ไฮบริด สแกม มิจฉาชีพชาวจีน ใช้โปรไฟล์อ้างเป็นชาวเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน จุดเริ่มต้นหลอกให้รัก ก่อนชวนให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันปลอมที่เขียนขึ้นมา เทรดเงินดิจิทัลอย่างคริปโต

ต่อมาผู้เสียหายไว้ใจและลงทุนด้วย ช่วงแรกได้รับเงินจริง บางคนเพิ่มการลงทุนเป็นหลักสิบล้าน แต่เมื่อจะนำเงินออกจากบัญชี แอปฯ จะระบุว่า ต้องจ่ายค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และอื่น ๆ 20-30 %

เล่นได้ 1 ล้านบาท เหยื่อต้องโอนเงิน 2-3 แสน หวังจะได้เงินออกมา มันก็โยกอีก ต้องเพิ่มการเล่นเป็นเท่านั้นเท่านี้ อัพขึ้นไปอีก บางคนโดนไป 5 ล้าน

สำหรับการเลือกเหยื่อนั้น โรแมนซ์ สแกม จะเลือกหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ลักษณะมีฐานะทางการเงินดี ส่วนไฮบริด สแกม จะเลือกคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป เข้าใจการลงทุน การเงิน หรือมีบัญชีโมบายแบงค์กิ้ง โอนเงินได้เองทันที

โรแมนซ์ สแกม มีเหยื่อ 56 คน ไม่แน่ใจว่ารวมกับไฮบริด สแกมหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ตม.เพิ่งแถลงจับเมื่อเดือนที่แล้ว จุดเริ่มต้นจากความรักเหมือนกัน แต่ปลายทางแตกต่าง

ทั้งนี้ แนะนำว่าอย่ารับเพื่อนแปลกหน้า หรือรับเพื่อนในออนไลน์อย่างระมัดระวังด้วยการตรวจสอบก่อน ระวังบัญชีอวตาร ใช้รูปคนอื่น รวมทั้งตรวจสอบการโพสต์ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เที่ยว กินอาหาร และมีเพื่อน ญาติพี่น้อง มากดไลค์และคอมเม้นต์

ส่วนบัญชีอวตารจะไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว หรือเป็นเพียงการนำข่าวมาโพสต์ ลิงก์อาหารอร่อย แต่ไม่มีคนมาคอมเม้นต์

นอกจากนี้ รอง ผบก.ปอท. ยังขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องของเฟกส์นิว เนื่องจากมีการส่งข้อมูลข่าวสารผ่านโซเซียลมีเดีย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เช่น คลัสเตอร์โควิด ยา และวัคซีน

ขอให้ตรวจสอบข้อมูลจากสื่อมวลชนที่เชื่อถือได้ กรณีที่ได้แชร์ข่าวปลอมไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคล และอาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ให้รีบลบ หรือยกเลิกข้อความเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในวงกว้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง