เรียนยุคโควิด ชีวิตเปลี่ยน นศ.พยาบาล เฝ้าหน้าจอ งดกิจกรรม-ปฏิบัติน้อย

สังคม
12 ส.ค. 64
11:19
3,244
Logo Thai PBS
เรียนยุคโควิด ชีวิตเปลี่ยน นศ.พยาบาล เฝ้าหน้าจอ งดกิจกรรม-ปฏิบัติน้อย
เปิดปัญหาเรียนออนไลน์ระดับอุดมศึกษา นักศึกษาพยาบาลเรียนหนัก ขาดโอกาสฝึกทักษะ บางคนอุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่มีปฏิสัมพันธ์รุ่นพี่-รุ่นน้อง หวั่นทักษะไม่แน่นหากทำงานจริง

การเรียนออนไลน์ช่วยขับเคลื่อนการเรียนการสอนในช่วงวิฤตโควิด แต่อาจไม่เหมาะกับบางกลุ่มวิชาชีพที่ต้องฝึกทักษะการปฏิบัติเป็นหลัก

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนคุยกับอีกหนึ่งวิชาชีพอย่าง นักศึกษาพยาบาล เมื่อประสบการณ์การพยาบาลกับผู้ป่วยจริงสำคัญที่สุดในวิชาปฏิบัติการ แต่หากการได้ฝึกช้า หรือ ต้องเลื่อนออกไป จะเป็นอย่างไร

รวมถึงอนาคตในการทำงาน จะต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมอย่างไร เมื่อการทำงานในระบบโรงพยาบาล เข้าใกล้มาทุกขณะ

 

น.ส.วรกมล ลำยอง นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เริ่มเรียนออนไลน์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 คือในช่วงเดือน มี.ค.2563 มาถึงปัจจุบันในเดือน ส.ค.2564 โดยเรียนทฤษฎีในทุกวิชา ตารางเรียนค่อนข้างแน่น เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.ทุกวัน และจำเป็นต้องโฟกัสการเรียนในแต่ละคลาสอย่างมาก เนื่องจากหากไม่เข้าใจก็จะต้องมาเปิดดูคลิปย้อนหลัง กระทบชีวิตส่วนตัวในด้านอื่น ๆ ด้วย

มหาวิทยาลัยปรับการเรียนเน้นภาคทฤษฎีก่อน ตั้งแต่ช่วงชั้นปีที่ 1 จะเป็นวิชาพื้นฐาน เช่น ภาษา และอื่น ๆ ขณะที่ปี 2 ก็ขยับวิชาทฤษฎีมาไว้ในเทอมแรก หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายในเทอม 2 อาจจะได้เรียนภาคปฏิบัติ แต่หากยังไม่คลี่คลายก็คงต้องเรียนออนไลน์ไปก่อน

น.ส.วรกมล เล่าว่า หลังจากเปิดเทอมในช่วงปี 1 ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ประมาณ 1 สัปดาห์ และมีสถานการณ์ COVID-19 จึงเริ่มเรียนออนไลน์ หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ก็มีความหวังว่าจะได้กลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัย แต่ก็มีการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ต่อเนื่อง

ตอนนี้ยังไม่รู้จักเพื่อน งานที่ต้องทำส่งอาจารย์ก็อาจจะติดขัดบ้าง ตอนนี้ที่เจอกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

ขณะที่ บางวิชาได้มีการปรับรูปแบบจากการให้เกรด A,B,C,D ไปเป็น ตัดเกรดแบบ OSU คือ O มาจาก Outstanding (โดดเด่น) S มาจาก Satisfaction (พึงพอใจ),U มาจาก Unsatisfaction (ไม่พึงพอใจ)

พยาบาลรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง

รุ่นปี 63 ก็จะเป็นปีที่เรียนออนไลน์ทั้งปี เราเข้าปี 1 จึงไม่มีกิจกรรมพวกเฟรชชี่ กิจกรรมรับน้องก็เลื่อนไปเทอม 2 และมีสถานการณ์ COVID-19 ก็เลื่อนไปอีก ก็มีการจับสายรหัส มีพี่เทค หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ หรือที่ทำร่วมกันก็เลื่อนไปหมด และปรับรูปแบบเป็นออนไลน์ จนเราขึ้นปี 2 ก็เตรียมวิธีการดูแลน้องปี 1 ในรูปแบบออนไลน์

น.ส.วรกมล ยังกล่าวว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากมหาวิทยาลัยเปิดก็ขาดหายไป รวมถึงโอกาสบางอย่างก็ขาดหายไปเช่นเดียวกัน โดยตนได้รับทุนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปทางมหาวิทยาลัยในไต้หวันในช่วงปิดเทอมประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 จึงทำให้เธอไม่ได้เดินทางไปหาประสบการณ์ที่ไต้หวัน และใช้วิธีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนผ่านระบบออนไลน์แทน

น.ส.วรกมล กล่าวว่า ปัญหาในการเรียนออนไลน์ เบื้องต้นคือ อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆโดยเฉพาะคอมพิเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์แบบนี้อย่างน้อย 2 ชิ้น เพราะบางครั้งใช้ในการเรียน และบางครั้งในการสอบ ต้องมีอุปกรณ์อีกชิ้น

รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่บางพื้นที่ก็อาจไม่สะดวก จึงค่อนข้างมีปัญหา รวมถึงปัญหาความเป็นส่วนตัว ที่บางคนอาจจะต้องนั่งเรียนในห้องส่วนกลางของบ้าน ทำให้มีเสียงรบกวน หรือ บางคนไม่สะดวกที่จะเปิดกล้อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาด้านความเครียด ในการเรียนออนไลน์ ทั้งการเรียนที่ค่อนข้างใช้เวลานาน โดยเรียนตลอดทั้งวัน การเข้าร่วมประชุมต่าง ๆ ว่า เข้าถูกหรือไม่ การเตรียมเนื้อหา และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้ชีวิตส่วนตัว การทบทวนบทเรียน บางวันอาจจะได้เข้านอนถึงช่วง 01.00 น.

เรียนออนไลน์มีความเครียด แต่ดีที่มีพ่อแม่สนับสนุนทุกอย่าง ส่วนตัวจึงค่อนข้างโฟกัสไปเรื่องเรียนได้เต็มที่ และในทุกสัปดาห์จะต้องออกไปข้างบ้านบ้างเพื่อผ่อนคลาย เพราะตลอดเวลาที่เรียนจะอยู่เพียงในห้องส่วนตัว หรือ ห้องนั่งเล่น และเมื่อหมดเวลาก็พยายามดูหนัง ฟังเพลง ดูการ์ตูน เล่นเกม เพื่อผ่อนคลายความเครียด

บางส่วนเริ่มพักการเรียน จากเกือบ 300 เหลือ 240 คน

น.ส.วรกมล เล่าต่อว่า ด้วยการเรียนที่ค่อนข้างหนักประกอบกับการเรียนออนไลน์ นักศึกษาในรุ่นเดียวกับที่เมื่อเปิดเทอมมีประมาณ 300 คน ในช่วงสัปดาห์แรกก็ดรอปไปประมาณ 10 คน และต่อมาคือ ลดลงเหลือราว 240 คน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเนื้อหาการเรียนที่ค่อนข้างยาก หรือเปลี่ยนไปเรียนคณะอื่น รวมถึงปัญหาจากการเรียนออนไลน์ที่อาจทำให้มีความเครียดได้

ตอนนี้ค่อนข้างเครียดน้ำหนักลดลงไปกว่า 10 กก. แต่ดีที่พ่อและแม่สนับสนุนเต็มที่

ทั้งนี้ ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ในส่วนของวิชาที่เป็นภาคปฏิบัติ ที่จะเริ่มเรียนในช่วงปี 2 เทอม 2 หลังจากที่ขยับเลื่อนออกไปจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็จะเหลือวิชาที่เป็นทฤษฎีอีก 2 วิชา ขณะที่ส่วนใหญ่คือวิชาภาคปฏิบัติ และหากเลื่อนต่อไปอีก ก็จะกระทบต่อการเรียนในชั้นปีที่ 3 ต่อไป จนถึงใบประกอบวิชาชีพ

ไม่ได้ฝึกฝน อาจขาดทักษะเมื่อต้องทำงาน

ปีนี้ต้องได้ขึ้นฝึกภาคปฏิบัติ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด คงต้องเลื่อนไปก่อน

ด้าน น.ส.พุทธชาติ เพมณี นักศึกษาพยาบาลชั้นปี 3 โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นอีกคนที่ต้องเรียนออนไลน์ เธอเล่าว่า ตอนนี้เรียนสัปดาห์ละ 5 วัน ค่อนข้างเครียด

ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง เป็นอะไรที่หนักมาก เพื่อนบางคนเป็นออฟฟิศซินโดรม กระทบต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย เรียนไม่รู้เรื่อง สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ทุกอย่างประกอบกันหมด

อีกทั้งก็เป็นเทอมแรก ของปี 3 แม้จะปรับตัวกับการเรียนแบบนี้ได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังอยากให้ได้กลับไปเรียนแบบปกติได้โดยเร็ว เพราะเพื่อน ๆ ต่างหวังว่า จะได้ขึ้นฝึกภาคปฏิบัติ ได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ก่อนจะเข้าระบบการทำงานจริงในโรงพยาบาล แต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้การฝึกต้องรอก่อน

 

แม้มหาวิทยาลัยจะมีแนวทางในการเรียนการสอนในช่วงนี้ เช่น การเปิดคลิปวิดีโอ ก็ไม่สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเรียนปฏิบัติ
ความรู้จากการเรียนหากถูกนำมาฝึกปฏิบัติบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จนคล่อง สิ่งนี้จะทำให้เกิดทักษะ ความชำนาญ เช่น ฝึกเจาะเลือด ฉีดยา เรียนหุ่นเสมือนจริง รวมทั้งมีการจำลองเหตุการณ์

ปีนี้ยังไม่ได้ขึ้นฝึกปฏิบัติ ไม่ได้ทดลองทำ ทำให้ค่อนข้างกังวล ว่า จะเรียนไม่ทันหากยิ่งได้ฝึกช้า หรือ อาจจะไม่ได้ฝึกเลย แต่หลักสูตรก็ต้องบังคับให้นักศึกษาจบใน 4 ปี

เรียนหัตถการ การฉีดยา การดูแลขั้นพื้นฐาน ทั้งการอาบน้ำผู้ป่วย เจาะเลือด เรียนมาหมดแล้ว แต่พอเราไม่ได้ไปฝึก ทำให้ลืมสิ่งที่เรียนมา

น.ส.พุทธชาติ ยังกังวลว่า เมื่อจบแล้วไปทำงาน อาจมีความพร้อมไม่เต็มที่ อนาคตต้องดูแลผู้ป่วย มีความกดดันสูงมาก ไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาดอะไรเลย เพราะ "เป็นชีวิตของคน"

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ ต้องฝึกตัวเองมากขึ้น เช่น ซื้ออุปกรณ์มาเพื่อฝึกฝนการฉีดยา ด้วยการนำเข็มมาทดลองฉีดใส่ฟองน้ำ เพื่อทบทวนทักษะตนเอง เพราะการฉีดยาก็ต้องใช้การฝึกฝน จะโดสยายังไงให้ครบ ให้หมดขวด และต้องไม่ให้มีการปนเปื้อนสิ่งสกปรก

หากต้องออกไปทำงานจริง การใส่สายสวนปัสสาวะ ยังมองว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก เพราะด้วยขั้นตอนเยอะ เกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะเพศ ทุกอย่างจะต้องสะอาด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ตรงนี้ก็อาจที่จะต้องฝึกบ่อย ๆ ขณะที่ได้ลองฝึกเรียนกับหุ่น ยังยากเลย

นอกจากนี้ ยังมีการฝึกการให้ยาทางสายน้ำเกลือ ซึ่งมีหลายแบบ เช่น การให้ยาผ่านหลอดเลือดดำ ทุกกระบวนการสำคัญทั้งหมด และต้องใช้การจดจำมาก

เหมือนตอนที่เราไปโรงพยาบาลทุกอย่าง สิ่งที่พี่พยาบาลทำกับคนไข้ตรงนั้น คือสิ่งที่นักศึกษาพยาบาลควรทำให้ได้ ณ ขณะนี้แม้ว่าจะเคยเรียนมาแล้ว แต่ก็ไม่เท่ากับการที่ได้ขึ้นฝึกปฏิบัติ

สิ่งที่นักศึกษาพยาบาลควรทำให้ได้ ณ ขณะนี้ แม้ว่าจะเคยเรียนมาแล้ว แต่ก็ไม่เท่ากับการที่ได้ขึ้นฝึกปฏิบัติ

น.ส.พุทธชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้รุ่นพี่ที่ทำงานในวอร์ดเดียวกันในอนาคตเข้าใจ และช่วยสอนงานมากขึ้น 

หากไปทำงาน อยากให้พี่พยาบาลในวอร์ดเดียวกัน เข้าใจเด็กรุ่นนี้ว่า ไม่มีโอกาสฝึกเหมือนรุ่นก่อนๆ ด้วยสถานการณ์ COVID-19 อาจต้องเป็นภาระให้พี่ช่วยสอน และอธิบายให้ฟังอีกรอบ ซึ่งรุ่นพี่คงต้องช่วยสอนหนักกว่าเดิม

ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยต้องรับน้องออนไลน์

น.ส.พุทธชาติ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้พบกับรุ่นน้องเลย สถานการณ์ COVID-19 ทำให้สูญเสีย การปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ขณะที่การสื่อสารระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องส่วนใหญ่จะใช่ช่องทางออนไลน์ การรับน้องก็ปรับรูปแบบและเห็นหน้ากันก็ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด

ขณะที่พี่น้องพยาบาลด้วยกันอยู่กันเป็นเหมือนครอบครัวมาก มีการส่งหนังสือ ชี้แนะให้กันตลอด พอปรับเป็นออนไลน์ ทำให้การสื่อสารน้อยลง หากได้กลับไปเรียนคงดี 

ชอบดูแลผู้อื่นจึงมาเป็นพยาบาล

น.ส.พุทธชาติ ยังเล่าถึงแรงบันดาลใจ ที่เข้ามาเรียนพยาบาลว่า เกิดจากความชอบ ตนเองชอบดูแลผู้อื่น สมัยเด็กที่ป่วยและต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้ได้เห็นมุมต่าง ๆ ในการรักษาของพี่ ๆ พยาบาล จึงต้องการที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีเมื่อมารักษา อยากดูแลผู้ป่วยให้เต็มที่

การที่เราไม่สบาย เราเป็นทุกข์อยู่แล้ว ก็อยากให้ทุกคนหายเป็นทุกข์จากจุดนี้ ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือ จิตใจ

ก่อนที่จะเข้า ปี 1 ได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยที่เป็นเพื่อนบ้าน เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และด้วยความที่เขารู้ว่าหนูอยากเป็นพยาบาลก็เลยได้ชวนไปดูแล อาบน้ำ ให้อาหารทางสายยาง เหมือนฝึก เราก็เลยรู้สึกว่า มีความชอบ ทำให้เรามั่นใจว่า เราอยากเรียนพยาบาล

คิดว่าเรามีทักษะในการพูดคุย ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายได้ อยากดูแลเขาให้ดีที่สุด

นักศึกษาหลายคน ยังคงคาดหวังว่าสถานการณ์โควิด จะจบได้ในเร็ววัน และกลับมาสู่ระบบการเรียนในแบบปกติได้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดก่อนจบการศึกษาและออกไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพยาบาล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสียงจากห้องเรียนในบ้าน อนาคตที่น่าเป็นห่วง "เด็กพัฒนาช้า-ผู้ปกครองไม่พร้อม"

"ครูนักสำรวจ" กับความหวังรัฐช่วยหนุน ผปค. - นร.ช่วงเรียนออนไลน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง