"ดร.กนกรัตน์" มอง 1 ปี "รัฐ-มวลชน" ชุมนุมการเมืองจะไปถึงไหน?

การเมือง
13 ส.ค. 64
08:09
1,185
Logo Thai PBS
"ดร.กนกรัตน์" มอง 1 ปี "รัฐ-มวลชน" ชุมนุมการเมืองจะไปถึงไหน?

กว่า 1 ปี กับชุมนุมการเมืองในประเทศไทย ข้อเรียกร้องจากหลายกลุ่ม จุดยืนที่ดันเพดานสูงไปสู่การตอบโต้ของรัฐ ที่เริ่มยกระดับมากขึ้น

1 ปีประเทศไทยได้บทเรียนอะไร? แล้วก้าวต่อไปในอนาคตของทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นอย่างไร?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนจับสัญญาณการเมืองไทยผ่านมุมมองของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1 ปีกับชุมนุมการเมือง "มวลชน-รัฐ" คิดอะไร ?

ช่วงต้นปี 2563 การชุมนุมก่อตัวขึ้นในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่าง ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีข้อเรียกร้องและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน ในช่วงนั้น รัฐยังไม่เข้าใจ และมองมวลชนเหมือนฝ่ายค้านในอดีต พร้อมตั้งคำถามว่า "ถูกจ้างมาหรือเปล่า" ปฏิกิริยาที่รัฐแสดงออกมาจึงเป็น "ความเพิกเฉย"


กลางปี 2563
กลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้เริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ หลัง COVID-19 ระลอกแรก และเริ่มตั้งตัวเป็นเครือข่ายแบบหลวม ๆ เช่น ประชาชนปลดแอก เยาวชนปลดแอก ไปจนถึงคณะราษฎร มีการทำงานประสานกันมากขึ้น แต่ยังมีอำนาจอธิปไตยในการตัดสินใจด้วยตัวเอง


ผศ.ดร.กนกรัตน์ มองว่า จุดนี้เองที่รัฐเริ่มเกิดความกังวล และรู้แล้วว่า พลังเหล่านี้เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ทำให้รัฐพยายามทำความเข้าใจ และประนีประนอม

โดยสังเกตจากการจับกุมแกนนำ ไม่กี่วันก็ปล่อยตัว เหมือนเป็นการเตือนมวลชน อีกทั้งสถาบันหลักของสังคมก็ได้ออกมาบอกผ่านสื่อด้วยว่า "เรายังประนีประนอมกันได้"

ต้นปี 2564 สถานการณ์เปลี่ยนไป กลุ่มเยาวชนเข้มแข็งมากขึ้น และเริ่มแยกออกจากกัน เพื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง กลุ่ม Free YOUTH เริ่มทำแคมเปญของตัวเองกลายเป็นกลุ่ม REDEM ที่มีข้อเรียกร้องไปไกลมาก ๆ

ส่วนไผ่ ดาวดิน ก็เริ่มไปเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า ส่วนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็เคลื่อนไหวและถูกจับกุมหลายคน

ในช่วงนี้ รัฐเริ่มกังวลต่อข้อเรียกร้องที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่มากเกินกว่าที่รัฐจะทำความเข้าใจได้ว่า นี่คือเยาวชน

รัฐจึงยกระดับการใช้เครื่องมือ ในการจัดการกับมวลชน เหมือนที่เคยใช้กับกลุ่มเสื้อแดง มีการจับกุมคุมขังมากกว่า 2 เดือน และมีการดำเนินคดีมากขึ้น


ก.ค. - ส.ค.2564
 เริ่มเห็นการขยายตัวของพันธมิตรใหม่ ๆ มากขึ้น จากปัญหาความชอบธรรมของรัฐ และ COVID-19 ส่งผลให้ทั้งคนชนชั้นกลางระดับล่าง ชนชั้นกลางระดับบน หรือคน 1 % ที่รวยที่สุดในประเทศ

รวมถึงกลุ่มอดีตฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทั้ง กปปส. พันธมิตร หรือแม้แต่วิชาชีพหมอ พยาบาล หลายกลุ่มเริ่มลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวในจุดยืน และข้อเรียกร้องของตัวเอง


ขณะนี้ มุมมองของรัฐแตกต่างจากปีที่แล้ว รัฐมองการเติบโตขึ้นของมวลชนจากขบวนการเยาวชน เริ่มกลายเป็น "ภัยคุกคามระดับชาติ" การปฏิบัติการจึงไม่มีการประนีประนอม ไม่มีการเจรจา มีการยกระดับวิธีควบคุมฝูงชนเริ่มต้นจากกลางไปถึงหนัก

ประเมินทางเลือกรัฐอยู่ที่เดิม-ยกระดับ?

ผศ.ดร.กนกรัตน์มองว่า รัฐคงระดับการควบคุมเท่าเดิม เพื่อซื้อเวลาให้สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ให้ความอึดอัดใจของประชาชนลดน้อยลง แต่ภาครัฐไม่สามารถให้ตำรวจควบคุมฝูงชนอยู่บนถนนนาน 6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 1 เดือนได้


จากปีก่อนรัฐยอมให้เกิดการชุมนุมระยะหนึ่ง หากมองว่า ควบคุมไม่ได้หรือเข้าไปในสถานที่รัฐไม่ยอมถึงจะเข้าควบคุมฝูงชน แต่ตอนนี้ "รัฐไม่ยอมแม้แต่จะให้เริ่มต้นการชุมนุม" เพื่อลดระยะเวลาการชุมนุมให้สั้นและลดการขยายตัวของมวลชนให้น้อยลง


อีกทางหนึ่ง คือ ยกระดับการควบคุมฝูงชน หากรัฐมองว่า เป็นการชุมนุมที่รุนแรง หรือเข้าไปในสถานที่ที่รัฐยินยอมไม่ได้ ซึ่งการชุมนุมก่อนหน้านี้จะเห็นชัดเจนว่า การเตรียมการของเจ้าหน้าที่รัฐแตกต่างจากเดิมมาก ซึ่ง "เป็นสัญญาณว่าการยกระดับจะเกิดขึ้นแน่นอน"

3 ฉากทัศน์ ชุมนุมการเมืองในอนาคต

1.การรวมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจากเครือข่ายที่กระจัดกระจายอยู่ เพื่อทำงานร่วมกัน แม้ว่าจะยาก เพราะแต่ละกลุ่มมีจุดยืน และเพดานข้อเรียกร้องแตกต่างกัน แต่ในอนาคตจะมีจุดหนึ่งที่อาจทำให้ต้องรวมตัวกันจริง ๆ

2.การชุมนุมมีแนวโน้มยกระดับมากขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องและปัญหาไม่ได้มีการเปลี่ยนเปลงในช่วง 1 ปีกว่า ๆ หรือแม้แต่ 7 ปี ตั้งแต่มีรัฐประหาร จึงอาจทำให้การชุมนุมอย่างสันติ ยกระดับไปเป็นการเข้าไปในสถานที่ที่รัฐยอมไม่ได้ หรือศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน


3.รักษาระดับการชุมนุมเป็นระยะแบบปัจจุบัน รวมตัวชุมนุมช่วงเย็น เมื่อถึงเวลาเคอร์ฟิว 21.00 น. ก็เลิกแล้วกลับบ้าน หากทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ อาจจะถึงจุดหนึ่งที่ COVID-19 เริ่มเบาบางลง แต่ปัญหาเศรษฐกิจยังคงอยู่ แล้วมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว โดยที่กลุ่มมวลชนเดิมไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

เผชิญหน้าต่อเนื่อง ตร.กลายเป็นคู่ขัดแย้งมวลชน?

ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่า ในแง่หนึ่งตัวรัฐพยายามผลักภาระทั้งหมด ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และเจ้าหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับการปะทะตลอดเวลา ความไม่พอใจ ความกดดัน จะทำให้เจ้าหน้าที่กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับมวลชนคนธรรมดา ขณะเดียวกันประชาชนก็รู้สึกว่า ตัวเองถูกกระทำมากขึ้น จึงกลายเป็นการต่อสู้ทางกายภาพ ไม่เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง

ยิ่งรัฐใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ จะเป็นกลไกกระตุ้นผู้ชุมนุมตอบโต้กลับมากเท่านั้น การชุมนุมที่ยืดเยื้อ ข้อเรียกร้องสร้างแรงกดดันมากขึ้น มีการจับกุมมากขึ้น ไม่เคยมีการปฏิรูป จึงนำมาสู่ปัญหา

ย้อนกลับมาถึงสาเหตุของความรุนแรงในการชุมนุม ซึ่งเกิดจากการเรียกร้องข้อเรียกร้องเดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐ ดังนั้น การเผาสิ่งของต่าง ๆ จึงสะท้อนถึงระดับความไม่พอใจ ที่ขยายตัวขึ้นของประชาชน 

ตำรวจคิดว่ากำลังสู้อยู่กับใคร ?

ดิฉันมอนิเตอร์ไม่ใช่แค่ฝ่ายผู้ชุมนุม แต่มองในมุมตำรวจควบคุมฝูงชน และตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่กำลังสู้กับใครอยู่

ดร.กนกรัตน์ มองว่า โลกในของการศึกษาด้านความมั่นคงสมัยใหม่ ต้องมองว่าภัยคุกคามของรัฐมีหลากหลายมิติ แล้วการใช้วิธีควบคุมฝูงชนเต็มรูปแบบ มาจัดการกับมวลชนที่กำลังเรียกร้องเรื่องปากท้องและความเป็นความตาย จะมองมวลชนเป็นศัตรูไม่ได้


การใช้อาวุธต่าง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐอาจมองเป็นไปตามหลักสากล ผู้ชุมนุมต่างหากที่กำลังใช้ความรุนแรงกับภาครัฐ แต่หากมองแบบนี้จะยิ่งเป็นการผลักให้มวลชนกลายเป็นศัตรูของรัฐ กลายเป็นขั้วตรงข้ามของรัฐมากขึ้น

ยังไม่สายที่จะถอยคนละก้าวเพื่อประนีประนอม?

ดิฉันไม่เคยเชื่อว่าจะมันจะมีจุดที่เลยการประนีประนอม ถ้ารัฐยอมที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการจุดการกับผู้ชุมนุม เข้าใจผู้ชุมนุมมากขึ้น

ผศ.ดร.กนกรัตน์บอกว่า การคุยกัน การยอมถอย เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การแก้ไขปัญหาไม่ใช่การปราบปรามแน่นอน

จุดเริ่มต้นของข้อเรียกร้องคือ การปฏิรูปการศึกษา การจัดการ COVID-19 และการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ แค่ทำ 3 อย่างนี้ การชุมนุมจะค่อย ๆ เบาบางลง ความโกรธของประชาชนจะค่อย ๆ ลดน้อยลง แม้จะเป็นเรื่องยากของรัฐไทย

เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากของกลไกรัฐไทย แต่ทั้งหมดเป็นปัญหาจากประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ สิ่งที่น่าจะตั้งสติและทำจริง ๆ คือ การปฏิรูปนโยบาย และการบังคับใช้นโยบายสาธารณะแทนการจัดการกับผู้ชุมนุมแบบนี้

นายกฯ ลาออก ทางออกระยะสั้น?

ดร.กนกรัตน์มองว่า ในแง่การแก้ปัญหาระยะสั้น หลายคนมองว่า การลาออกของนายกรัฐมนตรี จะช่วยให้ปัญหาทุกอย่างจบ แต่อาจจะช่วยในระยะสั้น โดยช่วยลดความตึงเครียดระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ลงได้บ้าง แต่ประเด็นนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐเลือกไม่ทำ เพราะในแง่สมการทางการเมืองของผู้มีอำนาจ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเป็นเรื่องค่อนข้างยาก


อย่างไรก็ตาม การประกาศการปฏิรูป เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวต หรือการประกาศไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เปิดโอกาสให้ชุมนุมอย่างสันติ และเว้นระยะห่างไม่ให้นำไปสู่การแพร่ระบาด เป็นการแก้สมการที่ง่ายกว่า แต่เมื่อรัฐกำลังกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด หลังจากนั้นจะผิดไปหมด หากยังมองว่าจะยอมไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว 

รัฐบาลต้องเริ่มต้นกลัดกระดุมเม็ดแรกใหม่ มองผู้ชุมนุมในฐานะคนในสังคมไทย ที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น แล้วการจัดการกับมวลชนก็จะเปลี่ยนแปลงไป

สัญญาณ ตร.เตือนผู้ปกครอง ปล่อยเด็กร่วมชุมนุม?

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวว่า กรณีตำรวจเตือนพ่อแม่ดูแลลูกนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ หลังจากปราบปรามผู้ชุมนุมมา 5-6 วัน รัฐเผชิญปัญหาว่ามวลชนไม่น้อยลง และไม่กลัวต่อเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน

รัฐพยายามที่จะยกระดับการจัดการ แต่ไม่ใช่การยกระดับที่ไม่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ารัฐใช้ความรุนแรงจนเกินไป จึงใช้ "เครื่องมือเก่า ๆ" กลับไปเตือนผู้ปกครอง เหมือนปัญหาเด็กแว้นที่บอกพ่อแม่อย่าปล่อยให้ลูกออกมานอกบ้าน เหมือนการเข้าไปควบคุมผ่านกลไกสถาบันครอบครัว 


ผศ.ดร.กนกรัตน์ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การขู่ของตำรวจเช่นนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะการชุมนุมที่ดำเนินมาตลอด 1 ปี ความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ผ่านความขัดแย้ง การยอมรับซึ่งกันและกัน และผ่านเส้นที่พ่อแม่จะสามารถหยุดกิจกรรมทางการเมืองของลูกได้ ทำให้ชุดความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เปลี่ยนไปแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง