ธปท.แนะคลังกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เยียวยาวิกฤตโควิด

เศรษฐกิจ
16 ส.ค. 64
20:03
1,156
Logo Thai PBS
ธปท.แนะคลังกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท เยียวยาวิกฤตโควิด
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แนะกระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เยียวยาเศรษฐกิจ หลังประเมินโควิด-19 สร้างหลุมดำการจ้างงาน รายได้ครัวเรือน และธุรกิจ หายไปไม่น้อยกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะอาจแตะ 70% ของจีดีพี

วันนี้ (16 ส.ค.2564) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความเปราะบางโครงสร้างของเศรษฐกิจ ถูกเปิดแผลให้กว้าง และลึกมากขึ้น จากวิกฤตโควิด-19 หลังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี จากวันที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศสูงถึง 40 ล้านคน เหลือ 1 20,000 คน ย่อมส่งผลกระทบอย่างมาก ตั้งแต่ระดับลูกจ้าง สะเทือนถึงระบบเศรษฐกิจ

สำหรับสถิติผู้เสมือนว่างงานไตรมาส 2 ของปี 2564 เพิ่มขึ้น จากระดับ 1,000,000 คน เป็น 3,000,000 คน เช่นเดียวกับผู้ว่างงานระยะยาว หรือยังหางานใหม่ไม่ได้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ที่ 170,000 คน ขณะที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมที่กลับไปสู่ภาคการเกษตร จากค่าเฉลี่ยสูงสุดเดิมที่ 500,000 คน เป็น 1,600,000 คน

รายได้เอกชน - ลูกจ้าง หายไป 1.8 ล้านล้านบาท

ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 เกิดหลุมดำรายได้ทั้งภาคเอกชน และลูกจ้างหายไปสูงกว่า 1.8 ล้านล้านบาท แต่หากรวมช่วงเวลาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 อีก อาจทำให้รายได้ครัวเรือนทั้งระบบ หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท เรียกได้ว่าธุรกิจและครัวเรือน จะมีสายป่านที่หดสั้นลง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จะเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งมาตรการทางการคลังที่มีอยู่ ไม่เพียงพอจะชดเชยความเสียหายหลุมดำรายได้ และการจ้างงาน หายไปมากกว่าดังกล่าว ร้อยละ 10 ของจีดีพี โดยกระทรวงการคลังอาจจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ของจีดีพีในปี 2567 แต่ไม่กระทบเสถียรภาพ และความน่าเชื่อถือประเทศ

ไม่กู้เพิ่มเสี่ยง - เลี่ยงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้

แต่หากไม่กู้เพิ่มในขณะนี้ อาจสร้างภาระทางการคลังในอนาคต รุนแรงกว่า และเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจะต้องปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดภาระทางการคลังในอนาคต หลังสถานการณ์คลี่คลาย เพราะการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 1% จะช่วยเพิ่มการจัดเก็บรายได้รัฐ ได้ถึง 60,000 ล้านบาท

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า แม้วิกฤติที่เกิดขึ้น อาจทำให้ธุรกิจและครัวเรือน ประสบปัญหาสภาพคล่อง กระทบการชำระหนี้ จนนำไปสู่การพักชำระหนี้ 2 เดือน ในช่วงล็อกดาวน์ แต่การกดดันให้แก้ไขปัญหา เฉพาะส่วนหนี้สิน อาจไม่เป็นประโยชน์กับลูกหนี้ทั้งหมด ทั้งมาตรการ ลดเพดานดอกเบี้ย และแฮร์คัตหนี้ ซึ่งสร้างปัญหาใหม่ แต่ควรมุ่งแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด คือการให้ธุรกิจ และประชาชนกลับไปมีอาชีพ มีรายได้

วิกฤตครั้งนี้รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมพิจารณามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมย้ำว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้หนักหนา และรุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540

ซึ่งมาตรการหลักที่จะเยียวยา ความเปราะบางที่เกิดขึ้น คือการกระจายวัคซีนให้เร็วกว่านี้ หลังพบประชากรไทยได้รับวัคซีน ครบ 2 โดสไปเพียงร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และประเทศพัฒนาแล้ว ที่ครอบคลุมประชากรไปมากกว่าร้อยละ 50 แล้ว เพื่อไม่นำไปสู่การล็อกดาวน์ไปจนถึงไตรมาส 4 ซึ่งจะเพิ่มความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น และยังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยน้อย แต่ไม่ใช่ไม่มีโอกาสเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง