กังขา! ปล่อยไก่ฟ้าหลังขาวป่าแม่วงก์-ห่วงเอเลียนสปีชีส์

สิ่งแวดล้อม
17 ส.ค. 64
17:47
3,539
Logo Thai PBS
กังขา! ปล่อยไก่ฟ้าหลังขาวป่าแม่วงก์-ห่วงเอเลียนสปีชีส์
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ข้อกังวลการปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว 70 ตัวเข้าป่าแม่วงก์ ห่วงการปนเปื้อนทางพันธุกรรม เพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่นซ้ำรอยปล่อยนกยูงอินเดียในป่าภาคอีสาน

กรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อผืนป่าสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อุทยานแห่งชาติแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรค์ โดยปล่อยกวางป่า 32 ตัว ไก่ฟ้าหลังขาวธรรมดา 70 ตัว

การปล่อยสัตว์ป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติครั้งนี้ ถูกตั้งคำถามจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า เป็นการนำสัตว์นอกถิ่นกำเนิดไปปล่อย จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2554 กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วอย่างน้อย 48 ชนิด จำนวนมากกว่า 30,000 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ

สัตว์ป่าส่วนใหญ่มาจากกรงเลี้ยง ที่เกิดจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น ละอง หรือละมั่งพันธุ์ไทย เนื้อทราย เก้ง นกยูงไทย ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่าตุ้มหูแดง วัวแดง 

จุดประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่า ทั้งในถิ่นกำเนิด และนอกถิ่นกำเนิด ให้เกิดความสมดุลและความยั่งยืนในการอนุรักษ์ และจะรักษาระบบนิเวศในธรรมชาติให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าส่วนใหญ่การปล่อยสัตว์ป่า จะต้องอิงชนิดพันธุ์ที่เคยมีถิ่นกำเนิดในป่าอนุรักษ์

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ห่วงเอเลียนสปีชีส์-ปนเปื้อนพันธุกรรม

แต่การปล่อยสัตว์ป่าคืนป่าครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร หนึ่งในสัตว์ป่า 70 ตัวที่นำปล่อยคือไก่ฟ้าหลังขาว และนำมาสู่การวิจารณ์ในวงกว้าง

ที่เราท้วงว่า ไม่ควรนำไก่ฟ้าหลังขาวมาปล่อยที่ป่าแม่วงก์ เพราะเป็นสัตว์นอกถิ่นกำเนิด จะกลายเป็นเอเลียนสปีชร์ และเกิดการปนเปื้อนของสายพันธุ์ในสัตว์ชนิดที่ใกล้กัน

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า สมาคมฯ มีมติต่อกรณีการปล่อยสัตว์คืนป่าครั้งนี้ เพราะกังวลว่า การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติควรเน้นเฉพาะชนิดสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ มากกว่าชนิดพันธุ์ที่ไม่มีความเสี่ยง 

รวมทั้งควรเลือกปล่อยในพื้นที่ที่มีการศึกษาบ่งชี้ว่า ประชากรสัตว์ป่าชนิดนั้นได้สูญพันธุ์จากพื้นที่ หรือมีจำนวนน้อยมาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ และต้องเปิดเผยรายงานผลการติดตาม ภายหลังการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติให้ภาคประชาชนได้รับรู้ เพื่อยืนยันว่า เป็นไปตามหลักวิชาการ

การออกมาเตือน เพราะต้องการให้การปล่อยสัตว์ป่าอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ เทียบให้เห็นภาพ ถ้าเรานำเลียงผา ที่เป็นสัตว์ภูเขาไปปล่อยในป่าโกงกาง หรือเอาช้างไปปล่อยทะเลทราย แบบนี้ถือว่าผิดที่ผิดทาง

กรณีของการปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว ที่ปล่อยไปแล้วตอนนี้คงไม่สามารถจับคืนกลับมาได้ ดังนั้น หลังจากนี้จำเป็นต้องติดตามว่าจะอยู่รอดหรือมีปัญหาต่อระบบนิเวศหรือไม่  

ภาพ:โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตร บางเขน

ภาพ:โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตร บางเขน

ภาพ:โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตร บางเขน

เจอนกยูงไทยผสมข้ามสายพันธุ์อินเดีย

นายกสมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมา ถ้าสัตว์ชนิดนั้นไม่เคยในอดีต หรือมีในป่า เท่ากับเป็นการปล่อยเอเลียนสปีชีส์เข้าป่า ยิ่งถ้ามีการผสมข้ามพันธุ์กับสัตว์ใกล้กัน เช่น ไก่ฟ้าหลังขาวกับไก่ฟ้าหลังเทา เกิดลูกผสมขึ้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่จำเป็นในธรรมชาติ

เคยมีการปล่อยนกยูง ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบพันธุกรรมว่า เป็นพันธุ์ไทยแท้หรือมีนกยูงอินเดียผสมอยู่ กระทั่งพบว่า มีนกยูงไทยบางตัวเหมือนนกยูงอินเดีย บ่งชี้ว่ามีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเกิดขึ้น

ขณะที่ยังเสนออีกว่า อนาคตหากมีความจำเป็นต้องปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ อยากให้ปล่อยให้ถูกที่ตามหลักวิชาการ ซึ่งกรณีองค์การสวนสัตว์ปล่อยนกกระเรียนไทยคืนถิ่น และนกกระสาคอขาว ที่ จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งต้องมีการตรวจพันธุกรรม แหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และกลุ่มสัตว์ผู้ล่าที่จะเป็นอันตรายกับสัตว์จากกรงเลี้ยง และตรวจหาเชื้อโรคอย่างละเอียด

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เคยมีข้อผิดพลาดจากการปล่อยสัตว์อะไรบ้าง

สำหรับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ โดยหน่วยงานภาครัฐไม่ตรงตามหลักพื้นฐานทางวิชาการ สมาคมอนุรักษ์นก รายงานไว้น่าสนใจ ดังนี้

  • 6 ก.ย.2561 การปล่อยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาตินอกถิ่นอาศัย อาทิ นกชาปีไหน (Nicobar Pigeon) และนกลุมพูขาว (Pied Imperial Pigeon) ซึ่งมีถิ่นอาศัยตามหมู่เกาะทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง  
  • 2 เม.ย.2558 การปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) ในหลายพื้นที่นอกถิ่นอาศัย เช่น ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี  
  • 20 ก.ค.2561 การปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) นอกถิ่นอาศัย ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.ศรีสะเกษ
  • 10 ก.ย.2563 เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย (Indian Spot-billed Duck) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จ.ชลบุรี
  • 21 ส.ค.2563 เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย (Indian Spot-billed Duck) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี 
  • 13 ส.ค.2564 ปล่อยไก่ฟ้าหลังขาว (Silver Pheasant) ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร 
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ฝึกสัตว์ให้คุ้นชินก่อนปล่อยคืนป่า 3 เดือน 

ขณะที่กรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า ก่อนจะปล่อยสัตว์คืนป่าต้องมีการตรวจ DNA ตรวจสุขภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ป่าในกรงเลี้ยงจะไม่นำโรคเข้าไปติดต่อสัตว์ป่าในธรรมชาติ และจะเกิดความสูญเสียมากกว่าได้รับประโยชน์

จะฝึกสัตว์ และปรับพฤติกรรมสัตว์ในคอกเลี้ยง ที่สร้างขึ้นใกล้ๆ กับพื้นที่ปล่อยจริง สัตว์ป่าในกรงเลี้ยง จำเป็นจะต้องฝึกการหากิน ฝึกหลบภัย ระยะเวลาในการฝึกก็ขึ้นอยู่กับชนิดสัตว์ป่า บางชนิดใช้เวลา 3 เดือน บางชนิดใช้เวลานานถึง 3 ปี

ส่วนการฝึกสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ จะกระทำกัน 2 วิธี คือ Soft release การปล่อยสัตว์ป่าแบบละมุนละม่อม มักใช้กับสัตว์ป่าที่เติบโตมาจากกรงเลี้ยง จะนำสัตว์ป่าไปเลี้ยงในคอกที่ปรับสภาพ แล้วค่อย ๆ ขยายกรงให้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ให้เขารู้จักสภาพพื้นที่ รู้จักแหล่งอาหาร รู้จักศัตรู รู้ที่หลบภัย จึงถือว่าจบหลักสูตรพร้อมปล่อยคืนธรรมชาติได้

และวิธีที่ 2  Hard release การปล่อยสัตว์ป่าแบบทันทีทันใด มักใช้กับสัตว์ป่าที่ยังมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าเดิมอยู่ เช่น สัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บหรือพลัดหลง เมื่อรักษาจนหายดีแล้ว ก็นำมาปล่อยคืนถิ่นอาศัย นอกจากนี้ ก็ยังใช้ในกรณีของสัตว์ป่าบางชนิดที่ไม่สามารถเลี้ยงดูในกรงได้นาน รวมถึงสัตว์ป่าที่ถูกเคลื่อนย้ายจากถิ่นเดิมเนื่องจากจำนวนประชากรหนาแน่นจึงต้องหาถิ่นอาศัยใหม่ให้

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง