มช.เฝ้าระวังเชิงรุกป้องกันนักศึกษาเครียดสะสมจากโควิด-19

ภูมิภาค
18 ส.ค. 64
11:39
608
Logo Thai PBS
มช.เฝ้าระวังเชิงรุกป้องกันนักศึกษาเครียดสะสมจากโควิด-19
ม.เชียงใหม่ เร่งดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาหลังเผชิญความเครียดสะสมจากปัญหารุมเร้า ทั้งความกังวลโรคระบาด ปัญหาการเรียนออนไลน์ รายได้ครอบครัวลดลง รวมทั้งสังคมและการเมืองไทยที่ยังวิกฤต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักจิตวิทยา งานพัฒนานักศึกษาสู่สากล และแนะแนว กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์พูดคุยกับนักศึกษาที่มีความกังวลจากปัญหาต่างๆ เพื่อรับฟัง ให้คำแนะนำ พร้อมประเมินภาวะทางอารมณ์


การเรียนออนไลน์ ไม่ได้พบปะผู้คน ขาดคนคอยรับฟัง และความกังวลใจต่อโรคโควิด19 รวมไปถึงปัญหาด้านสัมพันธภาพ ล้วนทำให้นักศึกษาเครียด และสุ่มเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า หรือ ทำร้ายตัวเอง จึงเป็นที่มาของการสร้างช่องทางสื่อสารของ ม.เชียงใหม่ เพื่อคัดกรอง และค้นหาเชิงรุก ผ่าน เพจเฟซบุ๊ก cmu mind และบ้านหลังที่สอง

 

สุทธิณีย์ ฉัตรยาลักษณ์ หัวหน้างานพัฒนานักศึกษาสู่สากลและแนะแนว เล่าว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดซึ่ง ม.เชียงใหม่ มีหน่วยงานดูแลโดยตรง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในสังกัด คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

 

อีกส่วนเป็นเรื่องความวิตกกังวลอื่นๆ ประเด็นหลักคือเรื่องการเรียน และการสอบ เนื่องจากการเรียนออนไลน์ส่งผลให้นักศึกษาไม่มั่นใจว่าได้รับความรู้มากพอหรือไม่ เพียงพอกับการสอบไหม

 

ขณะที่การเรียนอยู่ที่บ้าน หรือหอพัก ในพื้นที่แคบๆ ก็ส่งผลต่อปัญหาด้านสัมพันธภาพ เพราะการต้องอยู่ห่างจากเพื่อน เกิดความไม่เข้าใจกัน หรือ ปัญหาการสื่อสารระหว่าง นักศึกษา กับ อาจารย์ หรือ ผู้ปกครอง ทำให้เกิดภาวะความเครียด รวมไปถึงเรื่องความรัก เพราะโควิดทำให้คนห่างกัน จากเดิมที่อาจมีคนรับฟังอย่างเข้าใจ แต่ความห่างไกลกัน และมีปัญหารุมเร้า การทะเลาะ และ การไม่เข้าใจก็จะตามมา

ส่วนอีกปัญหาที่เริ่มชัดขึ้นในช่วงหลัง คือ วิกฤตในครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีผลให้นักศึกษาเครียดสะสม บางส่วนมีปัญหาด้านจิตเวช ซึมเศร้า เก็บปัญหาไว้กับตัวเองจนบานปลาย

 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของทางมหาวิทยาลัยในการช่วยเหลือ และสื่อสารให้ นศ.ทราบว่าทางสถาบันมีบริการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้ข้อมูลเชิงวิชาการในการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือปัญหาด้านสุขภาพจิต และหากนักจิตวิทยาประเมินว่ามีความเสี่ยง นำเข้าสู่กระบวนการรักษา

 

รศ.นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ม.เชียงใหม่ ยอมรับว่าการเรียนออนไลน์เป็นสิ่งใหม่ อาจารย์หลายท่านมีวิธีการสอนที่ไม่สนุก ไม่น่าสนใจ ทำให้การนั่งดูหน้าจอทั้งวันเป็นเรื่องน่าเบื่อ นักศึกษาเรียนไม่รู้เรื่อง รวมถึงความถนัดในการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ก็เป็นอุปสรรคทั้งการเรียน และการสอบ

 

ปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือ เรื่องเศรษฐกิจ ครอบครัวนักศึกษาประสบปัญหาด้านการเงิน รวมถึงเรื่องสังคม และการเมือง นักศึกษารับข้อมูลมากมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นตัวกระตุ้นให้มีความรู้สึกว่าสังคมไม่น่าอยู่ สังคมโหดร้าย

ทั้งนี้ช่องทางให้นักศึกษาสะท้อนปัญหาต่างๆ ก็ยังเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ที่ผ่านมา ทางสถาบันพยายามช่วยเหลือเยียวยา อาทิ การจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คให้นักศึกษายืมเรียน หรือ ซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ส่วนเรื่องปัญหาทางการเงิน นักศึกษาก็สามารถมาขอทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัย หากเป็นกรณีเร่งด่วนก็จะได้รับทุนฉุกเฉินไปทันที

 

ขณะที่นักศึกษาที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้วจะมีการติดตามดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ป้องกันภาวะขาดยาที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้

ล่าสุด มีนักศึกษา ม.เชียงใหม่ เหลืออยู่ในหอพักประมาณ 4 พันคน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอให้รูมเมทช่วยในการดูแลเพื่อนร่วมห้อง หากพบพฤติกรรมที่ผิดแปลก มีภาวะความเครียด ไม่พูดคุย ก็ขอให้แจ้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปดูแล

 

 

แผนรับมือปัญหาสุขภาพจิตที่หลากหลายมิติของสถาบัน ทำให้ใน 2 ภาคการเรียนที่ผ่านมา ม.เชียงใหม่ ยังไม่พบนักศึกษามีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง หรือ ก่อเหตุทำร้ายตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง