สภาฯ ซัดกองทัพจัดงบฯ กลาโหม "ปชช.ต้องการวัคซีน ไม่ใช่กระสุน"

การเมือง
18 ส.ค. 64
18:21
335
Logo Thai PBS
สภาฯ ซัดกองทัพจัดงบฯ กลาโหม "ปชช.ต้องการวัคซีน ไม่ใช่กระสุน"
"กองทัพไม่ควรซื้อยุทโธปกรณ์ในวันที่ประชาชนต้องการวัคซีน ไม่ใช่กระสุน" เดินหน้าชำแหลงงบกระทรวงกลาโหม เปิดงบฯ จัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ช่วง COVID-19 แนะปรับลดงบฯ ช่วยเยียวยาประชาชน

วันนี้ (18 ส.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วาระ ที่ 2 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายขอสงวนความเห็น มาตรา 8 งบกระทรวงกลาโหม ปรับลดงบประมาณลง 26,773 ล้านบาท "เนื่องจากกองทัพไม่ควรซื้ออาวุธในวันที่ประชาชนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง และไม่ควรซื้อยุทโธปกรณ์ในวันที่ประชาชนต้องการวัคซีน ไม่ใช่กระสุน"


นายพิธา ระบุว่า แม้ว่ากองทัพเรือจะถอนงบเรือดำน้ำแล้ว แต่ยังมีงบฯ สิ่งก่อสร้างและยุทโธปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำและอาวุธขนาดใหญ่อีกมากมาย ทั้งท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บตอปิโด เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก และรบบสื่อสารของเรือดำน้ำ และโดรนไร้คนจับ เป็นงบผูกพันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นงบปี 65 ประมาณ 3 พันล้านบาท

ตัวย่างของอาวุธที่ควรตัดงบคืนโครงการซื้อโดรนขนาดใหญ่ของกองทัพเรือ มูลค่า 4,100 ล้านบาท ด้วยเหตุผล 3 ข้อ

1.เหตุผลทางความปลอดภัย มีสถิติตกด้วยอุบัติเหตุมากกว่าครั้ง สร้างความเสียหายให้ประชาชน เมื่อดูสถิติข้อมูลจากเดอะวอชิงตันโพสต์ พบว่า ปี 2001 - 2014 โดรนขนาดใหญ่ซื้อมาตก 48% ส่วนปี 2015 - ปัจจุบัน ระบุว่า ตกจากอุบัติเหตุมากกว่า 70%

แม้แต่กองทัพสหรัฐฯ และกองทัพอินเดีย ยังพิจารณาลดการใช้โดรนขนาดใหญ่ลงแล้ว โดยให้เหตุผลว่าแพงเกินไป พังง่าย และกังวลว่าไม่น่าจะใช้ในพื้นที่ขัดแย้งได้

2.เหตุผลทางความมั่นคงของชาติ เนื่องจากรบบควบคุมผ่านดาวเทียมที่ต่างชาติเข้าถึงข้อมูลได้

3.เหตุผลทางงบประมาณ มีรายงานออกมาว่าโดรนไม่ได้ประหยัดกว่าการลาดตระเวรด้วยเครื่องบินปกติ

กองทัพตั้งงบฯ ปราบโกง  47,900 บาท ?

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายว่า งบกองทัพบางส่วนควรจะปรับลดได้จากในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะงบรายจ่ายอื่นของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในข้อ 4 ค่าใช้จ่ายในการดำรงสภาพกำลังกองทัพ 2.8 ล้านบาท โดยขอปรับลด 1 รายการ เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่สำคัญ 1.1 การป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 47,900 บาท

เงิน 4 หมื่นหารต่อวัน หารต่อหัวไม่รู้ถึงบาทหรือเปล่า ผมไม่ทราบว่าตั้งมาทำไม อาจจะเห็นว่าเล็กน้อย แต่ทำให้เห็นว่าวิธีตั้งงบประมาณเงินเท่านี้ จะมีประสิทธิภาพในการปราบทุจริตได้อย่างไร


งบฯ กองทัพเปลี่ยนเงินซื้อเป็นซ่อม-ซื้อโดรนช่วงโควิด

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหม ปี 2565 203,281 ล้านบาท ในส่วนของกองทัพบก โดยระบุว่า มีโครงการจัดหายานยนต์ วงเงินทั้งโครงการ 921 ล้านบาท 169 คัน ตกคันละ 5.4 ล้านบาท เมื่อสภาอนุมัติงบฯ เพื่อให้ซื้อรถใหม่ลากรถถังทดแทนรถ M35 กลับเปลี่ยนไปเป็นงบซ่อม คันละ 2.5 ล้านบาท ทั้งที่รถคันนี้ใช้งานมากว่า 40 ปีและหมดสภาพแล้ว จึงต้องการคำตอบจาก กมธ.ว่าผ่านงบฯ นี้ได้อย่างไร


ส่วนงบกองทัพเรือ ในส่วนของเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ซึ่งซื้อมาในราคา 6,200 ล้านบาท แต่กลับเป็นเรือเปล่า ๆ ไม่มีอาวุธปืนหรือระบบอำนวยการรบ แล้วจะนำไปใช้รบได้อย่างไร

นอกจากนี้ กองทัพเรือยังมีโครงการที่ยังไม่ตัดลดงบประมาณ โครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับชายฝั่ง 3 ลำ 4,100 ล้านบาท

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 กมธ.อนุมัติให้งบฯ ไปซื้อได้อย่างไร หรือจะนำไปรบกับใครตอนนี้


ขอตัดลดงบกลาโหม 30% ช่วยเยียวยาโควิด

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ อภิปรายขอสงวนความเห็นขอปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม 30% เนื่องจากในภาวะปกติกองทัพถือเป็นเสาหลักจะต้องดูแลความมั่นคง แต่สถานการณ์ขณะนี้ข้าศึกที่โจมตีคือโรค COVID-19 มีประชาชนเจ็บป่วย

ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของเงินภาษีกลับไม่ได้รับการจัดสรรเงิน แต่กลับพบว่ากองทัพมีช่องทางพิเศษคืองบรายจ่ายอื่น ๆ

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า หลัก ๆ พบเป็นการตีเช็คเปล่าไว้ล่วงหน้า และส่วนใหญ่จัดซื้ออาวุธ อีกส่วนคืองบลงทุน ซึ่งพบว่าตัวเลขงบลงทุนถึงเดือน มิ.ย.จ่ายไปเพียง 38% และอีก 2 เดือนจะใช้งบทำอะไร


พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า งบที่อยู่ในกองทัพเป็นเงินกู้สาธารณะ ประชาชนต้องมาใช้หนี้ให้ ดังนั้นความมั่นคงของประเทศ คือความมั่นคงของประชาชน ควรถูกนำไปใช้งบไปใช้เพื่อรักษาหรือเยียวยาโรค COVID-19 รวมทั้งต้องจะหยุดนำงบกลางมาใช้ แต่ละปีกองทัพบกมีงบกลางปีละ 4 หมื่นล้านบาท กองทัพอากาศ กองทัพเรือปีละหมื่นล้าน 

กังขา! กองทัพจัดงบภาคเกษตร ปศุสัตว์ จัดหาแหล่งน้ำ

ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอปรับลดงบฯ กลาโหม 2,138 ล้านบาท พร้อมตั้งคำว่างบฯ ของกองบัญชาการกองทัพไทย เช่น เรื่องการส่งเสริมการเกษตร ปศุสัตว์ และสหกรณ์ ที่ขอไป 22.9 ล้าน โครงการเกษตรผสมผสานฯ ของบไป 40 ล้านบาท


รวมถึงสร้างถนน ของบฯ 1,330 ล้านบาท จัดหาแหล่งน้ำ ของบฯ 713 ล้านบาท เป็นหน้าที่ของทหารหรือไม่ ซึ่งงบจัดหาแหล่งน้ำคิดเป็น 1 ใน 3 ของกรมทรัพยากรน้ำ ดังนั้นโครงการเหล่านี้ควรให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงเป็นผู้ดำเนินการ

ขอเรียกว่าเป็นงบคลาสิกที่ส่อทุจริตและกินได้ง่าย ควรนำงบเหล่านี้ไปให้ อปท.ที่มีการเลือกตั้งและการตรวจสอบจากประชาชน มีขั้นตอนการตรวจสอบง่ายกว่า ไม่เป็นแดนสนธยาเหมือนในกองทัพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ มติที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรมีการแก้ไข 341 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากผู้ลงมติทั้งหมด 351 เสียง โดยเห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก 226 เสียง ไม่เห็นด้วย 123 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อนุ กมธ.ครุภัณฑ์และไอซีที ตัดงบกองทัพบก 1,100 ล้านบาท

กองทัพเรือระบุยังจำเป็นต้องซื้ออากาศยานไร้คนขับ ตรวจชายฝั่ง-ช่วยเหลือประชาชน

"พิธา" ขอปรับลดงบฯปี 65 ลง 1 แสนล้านบาท เหลือ 3 ล้านล้านบาท

"ศิริกัญญา" เสนอตัดงบกลาง 2 หมื่นล้าน พบสอดไส้โครงการก่อสร้างอ้างแก้โควิด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง