ผลวิจัยอังกฤษ พบ "เดลตา" ทำประสิทธิภาพไฟเซอร์-แอสตรา ลดลง

ต่างประเทศ
20 ส.ค. 64
13:27
904
Logo Thai PBS
ผลวิจัยอังกฤษ พบ "เดลตา" ทำประสิทธิภาพไฟเซอร์-แอสตรา ลดลง
อังกฤษเผยผลวิจัยล่าสุด พบสายพันธุ์เดลตาทำให้ประสิทธิภาพของไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา ลดลงระดับหนึ่ง หลังฉีดไปแล้ว 3 เดือน

วันนี้ (20 ส.ค.2564) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อังกฤษเผยผลวิจัยล่าสุดพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศลดลง เมื่อเจอไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งผลการศึกษาชิ้นนี้ โฟกัสไปที่วัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา ไม่ใช่เป็นการด้อยค่าวัคซีน แต่เป็นงานวิจัยทำให้เห็นว่า ต้องหาทางรับมือกันแต่เนิ่น ๆ เพราะสายพันธุ์เดลตา ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนลดลงเร็วกว่าเดิม

งานวิจัยชิ้นนี้ มีความโดดเด่นเพราะศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ ศึกษาผลการตรวจหาเชื้อมากกว่า 3 ล้านครั้ง จนได้ผลสรุปว่า วัคซีนที่ใช้กันแพร่หลายในอังกฤษ อย่างไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา ประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา ลดลงระดับหนึ่ง หลังฉีดไปแล้ว 3 เดือน

ข้อมูลสรุปที่ได้เป็นแบบนี้ เมื่อฉีดวัคซีนทั้งสองยี่ห้อครบสองเข็มแล้ว ผ่านไป 2 สัปดาห์ ประสิทธิภาพการป้องกันเดลตาของไฟเซอร์ จะอยู่ที่ 85% ส่วนแอสตราเซเนกาอยู่ที่ 68%

เมื่อเวลาผ่านไป ครบ 90 วัน หรือ 3 เดือน หลังฉีด 2 เข็ม ประสิทธิภาพของไฟเซอร์จะลดลงมาเหลือ 75% ส่วนแอสตราเซเนกาลดลงนิดหน่อย เหลือ 61% จะเห็นได้ว่าตัวเลขประสิทธิภาพทั้งสองยี่ห้อนี้เริ่มใกล้กันมากขึ้น

แต่ถ้าดูต่อไปอีก ในระยะ 4 หรือ 5 เดือน หลังฉีดครบ 2 เข็ม นักวิจัยไม่ได้บอกตัวเลขประสิทธิภาพไว้ว่าเหลือเท่าไร แต่ชี้ว่าเป็นจุดที่ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งคู่ลดลงมาบรรจบกัน จนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง ตัวเลขข้อมูลนี้พบชัดเจนในกลุ่มคนอายุ 35 ปีขึ้นไป มากกว่ากลุ่มคนอายุน้อย ๆ ที่มีภูมิคุ้มกันสูงกว่า

การเก็บกลุ่มตัวอย่าง

ผลการศึกษานี้ได้มาจากการสุ่มเก็บตัวอย่างการสวอบจมูกและลำคอ ประชากร 380,000 คน รวม 2,500,000 กว่าครั้ง ในช่วงระหว่างเดือน ธ.ค.2563 ถึงกลางเดือน พ.ค.2564 และเพื่อเก็บข้อมูลเทียบกัน ระหว่างช่วงที่สายพันธุ์เดลตากับอัลฟาระบาดก่อนหน้านี้ จึงมีการดูผลการทดสอบหาเชื้อเพิ่มอีก 360,000 คน ระหว่างกลางเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รวมอีก 800,000 กว่าตัวอย่าง

การเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมยังทำให้ทีมวิจัยของออกซ์ฟอร์ด ที่เป็นคนละชุดกันกับที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับแอสตราเซเนกา พบว่า ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เท่ากันกับการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรืออาจจะมากกว่า แต่ไม่ต่ำกว่าแน่นอน

ส่วนคนที่เคยติดเชื้อ แล้วได้ฉีดวัคซีนทีหลังจนครบ ก็จะยิ่งมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นไปอีก ซึ่งงานวิจัยนี้ไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัคซีนโมเดอร์นา มีแค่บอกไว้เบื้องต้นว่า โมเดอร์นา 1 เข็ม มีประสิทธิภาพคล้าย ๆ หรืออาจจะดีกว่าวัคซีนอื่น ๆ ในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา

ผลวิจัยคล้ายสหรัฐฯ 

จริง ๆ แล้วข้อมูลคล้ายกับงานวิจัยจากฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไฟเซอร์ผลักดันการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพราะทดสอบมาแล้วพบว่า ภูมิลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนทางแอสตราเซเนกา ยังศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีนว่าอยู่ได้นานแค่ไหน และจะต้องฉีดบูสเตอร์กระตุ้นภูมิหรือไม่

ที่น่าสนใจอีกข้อ นักวิจัยพบว่าคนที่ติดเชื้อเดลตา แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้ว ยังมีปริมาณไวรัสมากพอ ๆ กับคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ต่างจากตอนที่เกิดสายพันธุ์อัลฟาระบาด ซึ่งก็หมายความว่า คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ยังเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้มาก

แต่ข้อมูลนี้ ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของการฉีดวัคซีนลดน้อยลงไปเลย เพราะนักวิจัยยังย้ำว่าการฉีดวัคซีนให้ครบ ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค เพราะยังป้องกันการป่วยหนักได้ดีมาก เมื่อไม่ป่วยหนักก็เสี่ยงเสียชีวิตน้อยลง

ส่วนเรื่องการเว้นระยะเวลาระหว่างการฉีดสองเข็ม งานวิจัยบอกว่าไม่มีผล และต้องย้ำอีกครั้งว่าการนำเสนอข้อมูลนี้ไม่ได้ต้องการทำให้ตื่นตระหนก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องตระหนักถึงการวางแผนระยะยาว ในการรับมือไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ให้ดี

 

ที่มา: Reuters ,Nuffield Department of Medicine, University of Oxford

ข่าวที่เกี่ยวข้อง