ธุรกิจจัดส่งอาหารปีนี้โต ขยะอาหารลดสวนทาง

เศรษฐกิจ
20 ส.ค. 64
14:23
1,302
Logo Thai PBS
ธุรกิจจัดส่งอาหารปีนี้โต ขยะอาหารลดสวนทาง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจจัดส่งอาหารปีนี้มีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31 - 5.58 หมื่นล้านบาท และปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง ขณะที่ กทม.ระบุขยะอาหารน้อยลง จากมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่วนไลน์แมน เผย 10 เมนูอาหารยอดนิยม

วันนี้ (20 ส.ค.2564) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานเรื่อง "โควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาด...คาดทั้งปี 2564 มูลค่าตลาดจัดส่งอาหารขยายตัวร้อยละ 18.4 - 24.4" โดยระบุว่า การยกระดับของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้บริการธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) กลายมาเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร

ประกอบกับการทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร ทั้งการจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ดึงดูดผู้บริโภครายใหม่และเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผู้บริโภครายเดิม

ทั้งนี้ ประเมินว่า ทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 35 - 45 ล้านครั้ง ขณะที่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31 - 5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.4 - 24.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โควิดส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า วิถีการใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการสั่งอาหารที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลงร้อยละ 20-25 จากปีก่อน จากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ 2. ร้านอาหารข้างทาง และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหาร จากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 29

และ 3. พื้นที่การสั่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากขึ้น สอดรับกับการปรับรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working

 

 

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและส่งผลต่อกิจกรรมการเข้ารับบริการในร้านอาหาร ทำให้ธุรกิจจัดส่งอาหารจะยังคงเป็นช่องทางที่สำคัญของผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ทำให้มูลค่าของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ธุรกิจจัดส่งอาหารยังคงมีโจทย์ความท้าทายที่สำคัญ อาทิ การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและผู้ประกอบการนอกธุรกิจร้านอาหารสนใจเข้ามาลงทุนในตลาด Food Delivery ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ​​

กทม.เผยขยะอาหารลดน้อยลง

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่าขยะอาหารลดน้อยจากปกติ ซึ่งในปี 2562 มีปริมาณขยะอาหาร ร้อยละ 48 เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค เมื่อเดือน เม.ย.2563 มีปริมาณขยะอาหาร ร้อยละ 38 และในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค.2564 มีปริมาณขยะอาหาร ร้อยละ 46 และเดือน เม.ย. - พ.ค.2564 มีปริมาณขยะอาหาร ร้อยละ 43

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณอาหารขยะอาจลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการออกมาตรการแตกต่างกันไปในแต่ละระลอก เช่น การทำงานที่บ้าน การห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน และการปิดสถานประกอบการบางประเภท ซึ่ง กทม.เน้นจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยทำงานร่วมกับตลาด ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง นำขยะอาหารมาทำเป็นปุ๋ยแจกจ่ายให้พนักงาน กทม. รวมถึงการให้เกษตรกรมารับขยะอาหาร และร่วมมือกับชุมชนนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยไว้ใช้ในครัวเรือน

 

ขณะเดียวกัน ยังให้โรงเรียนในสังกัดของ กทม.กว่า 400 แห่ง มีการเรียนรู้และฝึกปฏิบัตินำเศษอาหารในโรงเรียนมาทำเป็นปุ๋ยหมักด้วย พร้อมทั้งเตรียมพิจารณาออกกฎหมาย เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ควบคู่เดินหน้าแผน กทม.เป็นมหานครปลอดภัย ปี 2556-2575

ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด

น.ส.อนุดา ทวัฒน์สิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ปริมาณขยะอาหารลดน้อยลง แต่มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น จากธุรกิจจัดส่งอาหาร และช้อปปิงออนไลน์ ซึ่งมีรายงานว่า ขยะอาหารจากครัวเรือน อยู่ที่ร้อยละ 43 ไปถึงแหล่งกำจัด อยู่ที่ร้อยละ 25 มีการคำนวณการทิ้งขยะของคนไทย 91.59 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ส่วนค่าเฉลี่ยของโลก 121 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งภายใน 10 ปี ไทยต้องลดลงมาเหลือประมาณร้อยละ 45

ทั้งนี้ คพ.ยกร่างการจัดการขยะอาหารของประเทศในปี 2568 โดยตั้งเป้าหมายลดร้อยละ 25 ปี 2573 ลดลงร้อยละ 50 และเริ่มศึกษาปริมาณขยะอาหารเมื่อถึงปลายทาง กระจายองค์ความรู้สู่ครัวเรือน ทั้งการถนอมอาหาร แปรรูป วิธีเก็บรักษาอาหารไม่ให้เสีย การจับคู่ข้อมูลอาหาร ส่วนเกินหรือขยะอาหารให้กับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ ผู้บริโภคสะท้อนว่ายังขาดข้อมูล และแรงจูงใจ เพราะไม่มีองค์ความรู้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เผยพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงโควิด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากไลน์แมน เปิดเผยพฤติกรรมผู้บริโภคช่วงโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือน พ.ค. - มิ.ย.2564 พบว่า 5 เขต-อำเภอที่มีคนสั่งมากที่สุด กลายเป็นเขตรอบนอกกรุงเทพฯ ได้แก่ อ.เมือง สมุทรปราการ, อ.เมือง นนทบุรี, อ.บางพลี สมุทรปราการ, อ.บางบัวทอง นนทบุรี และ อ.คลองหลวง ปทุมธานี

ในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. แนวโน้มที่เปลี่ยนไปจากช่วงก่อนหน้าคือ พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ติดอันดับพื้นที่ที่มีคนสั่งมากที่สุดแทน เพราะคน Work from home กันมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ ในกรุงเทพฯ ที่มีคนสั่งมากที่สุด คือ เขตจตุจักรและลาดกระบัง ในขณะที่เขตชั้นใน แชมป์เก่าอย่าง ปทุมวัน และวัฒนา กลับไม่ติด Top 10 อีกแล้ว ซึ่งหมายถึงเป็นโอกาสดีของร้านรอบนอกกรุงเทพฯ ส่วนร้านในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ก็ลำบากขึ้น เพราะผู้บริโภคหายไปจากในเมือง

5 ประเภทร้านอาหารยอดนิยม

ส่วน 5 ประเภทของร้านอาหารที่คนนิยมสั่งเดลิเวอรีสูงสุด ได้แก่ ร้านกาแฟ, ร้านอาหารจานเดียว, ร้านอาหารตามสั่ง, ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอาหารไทย ซึ่งแนวโน้มร้านอาหารที่เปลี่ยนไปจากปี 2563 คือ ร้านกาแฟกลับมาเป็นที่นิยมติดอันดับ 1 (เดิมอันดับ 7) ในขณะที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ตกไปอยู่อันดับ 4 (เดิมอันดับ 1) ส่วนร้านฟาสต์ฟู้ด ขึ้นมาเป็นอันดับ 7 (เดิมไม่ติด Top 10) ในขณะที่ร้านอาหารเกาหลี/ญี่ปุ่น หลุดโผ Top 10 ครั้งแรก

อายุของผู้บริโภคที่สั่งเดลิเวอรี ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก กลุ่มวัยเรียน และ First Jobber อายุ 20-24 ปีสั่งเดลิเวอรีสูงสุด ตามด้วยกลุ่มวัยทำงานอายุ 30-34 ปี และ 25-29 ปี

วันและเวลาที่มีการสั่งเดลิเวอรีสูงที่สุด วันอาทิตย์, วันศุกร์ และวันเสาร์ เป็นวันที่มีออเดอร์สูงที่สุดตามลำดับ ช่วงเวลาที่มีออเดอร์สูงที่สุดคือ 11:00-12:00 น., 12:00-13:00 น. และ 13:00-14:00 น. แล้วเว้นช่วงมาเป็นมื้อเย็น 18:00-19:00 น. และ 19:00-20:00 น. ระยะทางเฉลี่ยที่ผู้ใช้ไลน์แมน สั่งอาหารคือ 3.19 กิโลเมตร ซึ่งลดน้อยลงจากในอดีต

เผย 10 เมนูอาหารยอดนิยม

10 เมนูที่ถูกสั่งเยอะที่สุด ได้แก่ กาแฟ, ชา, โกโก้, ตำปูปลาร้า, คอหมูย่าง, ข้าวมันไก่, ลาบหมู, หมูปิ้ง, หมูสามชั้น และปาท่องโก๋ ตามลำดับ ราคาเฉลี่ยต่อจานที่คนกดสั่งมากที่สุด คือ 60-70 บาท

เมนูที่ถูกสั่งตามช่วงเวลาเยอะที่สุด ช่วงเช้า (6.00-9.00 น.) กาแฟ, หมูปิ้ง, ปาท่องโก๋, ชา, โกโก้, ข้าวมันไก่, โจ๊ก, ต้มเลือดหมู, ไข่ลวก และโก๋กรอบ ตามลำดับ

ช่วงกลางวัน (9.00-21.00 น.) กาแฟ ยังคงเป็นเมนูที่ถูกสั่งเยอะที่สุดในช่วงกลางวัน ตามมาด้วย ชา, ตำ, คอหมูย่าง, โกโก้, ลาบหมู, ข้าวมันไก่, หมูสามชั้น, ข้าวผัด และแซลมอน/แซลมอนเบิร์น

ส่วนในช่วงค่ำ (หลัง 21.00 น.) นิยมอาหารอีสาน ได้แก่ หมูสามชั้น, ตำ, คอหมูย่าง และลาบหมู ตามมาด้วย ข้าวต้ม, ไส้กรอก, ข้าวมันไก่, ข้าวผัดหมู, ส้มตำ และยำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง