ธปท.ยังให้จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ถึงสิ้นปี 2565

เศรษฐกิจ
20 ส.ค. 64
19:25
6,284
Logo Thai PBS
ธปท.ยังให้จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ถึงสิ้นปี 2565
ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนเกณฑ์ขยายเพดานวงเงินกู้ บัตรเครดิต - บัตรกดเงินสด-สินเชื่อดิจิทัล พร้อมคงอัตราจ่ายขั้นต่ำร้อยละ 5 ถึงสิ้นปี 2565 หวังช่วยลูกหนี้ ไม่หันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ

วันนี้ (20 ส.ค.2564) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ และการจ้างงานทั้งประเทศ หายไปมากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน จึงอนุมัติมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยคงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ สำหรับบัตรเครดิตที่ร้อยละ 5 จนถึงสิ้นปี 2565 จากเดิม มีกำหนดทยอยปรับขึ้นอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเป็นร้อยละ 8 และร้อยละ 10

 

พร้อมทั้งขยายเพดานวงเงินกู้ สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้ โดยไม่จำกัดผู้ให้สินเชื่อ เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่มักพบบนแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งให้วงเงินสินเชื่อ โดยพิจารณาจากยอดซื้อ-ขายนั้น สามารถขยายเพดานวงเงินกู้ จากเดิม รายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท รวมทั้ง ขยายระยะเวลาชำระหนี้ จากเดิม 6 เดือน เป็น 12 เดือน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบ ที่ใช้สินเชื่อในระบบ จนเต็มเพดาน หันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ

เสนอ ครม.ปรับลดนำเงินส่งเข้ากองทุน

นอกจากนี้ ธปท.ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาขยายระยะเวลาปรับลดวงเงิน ที่สถาบันการเงิน ต้องนำส่งเงินเข้า กองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 ถึงสิ้นปี 2565 รวมทั้งปรับเกณฑ์การจัดชั้น และการกันเงินสำรอง ถึงสิ้นปี 2566 เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงิน ช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และยืดระยะเวลาชำระหนี้ แทนการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ ระยะสั้น

 

หลังประเมินว่าลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจ อาจยังคงขาดความสามารถในการชำระหนี้เป็นเวลานาน จากสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อ และการต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ ไม่เป็นผลดีทั้งต่อลูกหนี้ และสถาบันการเงิน

เสนอออก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2

พร้อมเตรียมเสนอออก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังน่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี ต้นเดือนหน้า หลังประเมินว่าวงเงินสินเชื่อฟื้นฟู หรือ ซอฟต์โลน 100,000 ล้านบาท อาจหมดเร็วกว่าที่คาดไว้ จากปัจจุบัน อนุมัติไปแล้วกว่า 92,000 ล้านบาท

 

โดย พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ระยะที่ 2 ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อเอื้อให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ทั้งขยายวงเงินกู้ให้ลูกหนี้รายใหม่ จากเดิม 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายเก่า จากเดิม ไม่เกิน 30 ของวงเงินที่เหลือเดิม เป็นสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับเกณฑ์การอุดหนุนชดเชยความเสี่ยง กรณีหนี้เสีย จากเดิมจะชดเชยในช่วงท้ายสัญญา เป็นช่วงต้นสัญญา

 

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังออกแบบจำลองวิเคราะห์ โดยยืนยันว่า หากกระทรวงการคลัง ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ กลับไปขยายตัวตามศักยภาพที่ร้อยละ 3.2 ในระยะ 5 ปี แม้หนี้สาธารณะแตะระดับร้อยละ 70 ต่อจีดีพี แต่หากไม่ขยายวงเงินกู้ เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวช้า สร้างความเสียหายต่อการจัดเก็บรายได้ รุนแรงกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง