“ไพบูลย์” หนุนหารือข้อบังคับรัฐสภา ม.124 ก่อนถกแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การเมือง
23 ส.ค. 64
13:09
205
Logo Thai PBS
“ไพบูลย์” หนุนหารือข้อบังคับรัฐสภา ม.124  ก่อนถกแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ไพบูลย์” หนุนเลื่อนญัตติ ก้าวไกล กรณีวินิจฉัยข้อบังคับรัฐสภา ม.124 พิจารณาก่อนร่างแก้รัฐธรรมนูญ ด้าน "คำนูณ" ยืนยันไม่มีรอส่งสัญญาณจากนายกฯกรณีการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง เชื่อวุฒิสภามีความคิดเห็นของตัวเอง

วันนี้ (23 ส.ค.2564) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมกันในวันที่ 24 - 25 ส.ค.ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จว่า

หนุนถกข้อบังคับรัฐสภา ม.124 ก่อนแก้ รธน.

พรรครัฐบาลจะสนับสนุนให้เลื่อนญัตติด่วน ที่เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเสนอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ให้พิจารณาก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามประเด็นในญัตติที่เสนอนั้น ตนเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ญัตติที่จะพิจารณามีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ระบุว่า อ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 เพื่อยื่นให้รัฐสภาพิจารณาว่า ข้อบังคับข้อ 124 ตราขึ้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนเห็นว่าข้อบังคับ ข้อ 124 ไม่มีส่วนใดที่ขัดหรือตราไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งเนื้อหาของข้อบังคับที่ 124 นั้นเขียนในลักษณะดังกล่าวเพื่อบังคับใช้มานานแล้ว และ ประเด็นการตีความกรอบการใช้ข้อบังคับ ข้อ 124 จะมีขอบเขตอย่างไร

ตนมองว่า ตัวบทมีความชัดเจนคือ 1. เพิ่มมาตราได้ และไม่ขัดหลักการ และ 2.มาตราที่เพิ่มอาจเกินจากหลักการได้ แต่ต้องเกี่ยวเนื่องและสอดรับกัน อย่างไรก็ดีญัตติดังกล่าวต้องใช้การลงมติของรัฐสภาตัดสินโดยเสียงข้างมาก ซึ่งการลงมตินั้นเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะพิจารณา

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต่อกรณีที่ตั้งข้อสังเกตที่ กมธ.เพิ่มบทเฉพาะกาล 2 มาตราขึ้นใหม่ ว่าด้วยเงื่อนเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และเพิ่มบทบัญญัติกรณีที่รัฐสภาตามกฎหมายลูกดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน หากการแก้ไขระบบเลือกตั้งไม่มีบทเฉพาะกาลดังกล่าวไว้หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นก่อนที่กฎหมายลูกจะบังคับใช้อาจเป็นปัญหาได้

นอกจากนี้ สำหรับการเขียนบทเฉพาะกาล 2 มาตรา ในสมัยปี 2554 ที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทเฉพาะกาลในเนื้อความที่คล้ายกันไว้เพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ในกฎหมายก่อนหน้านี้ในการตรากฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นต้น

นายไพบูลย์ ยังระบุว่า ผมเชื่อว่าประเด็นที่ผู้เห็นต่างยกเป็นประเด็นจะไม่ทำให้ให้เป็นปัญหาตอนลงมติ ในวาระ 2 นั้นใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม ส่วนวาระ 3 ต้องใช้เสียง ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 ร่วมลงมติด้วยนั้นเชื่อว่าไม่เป็นปัญหาเช่นกันเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ส.ว. อีกทั้ง ส.ว. ต้องการแสดงตนเช่นกันว่าไม่เป็นอุปสรรค หรือขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา

ไม่มีการรอส่งสัญญาณจากนายกฯ

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงการสัมมนาของ ส.ว.ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ส.ส.เขต 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ100 คน และบทเฉพาะกาลที่เพิ่มขึ้น ในวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ว่าได้ชี้แจงภาพรวมการพิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. ได้รับทราบ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวาระ 2

นายคำนูณ ยังเปิดเผยว่า ส่วนตัวในวาระรับหลักการ "งดออกเสียง" เพราะไม่เห็นด้วยการ แก้ระบบเลือกตั้ง แต่วาระ 2 เพราะเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่และเป็นการตัดโอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็ก จึงขอสงวนความเห็นชี้แจงไว้หลายมาตรา หลังกรรมาธิการเสียงข้างมากยังเห็นต่างในการแก้ แม้การแก้ไขเพิ่มเติมจะแก้มาตราที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ แต่เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องแก้ไขมาตราที่เกี่ยวเนื่องกันจริง ๆ หากปล่อยไว้จะเปิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย

ส่วนความเห็น ส.ว.คนอื่น ๆ นั้นมีการซักถามเรื่องการตีความการแก้ตามขัอบังคับการประชุม 124 ซึ่งจะต้องรับฟังเหตุและผลของแต่ละฝ่ายในการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่ารัฐสภามีอำนาจตีความตามข้อบังคับที่เขียนสอดคล้องไว้กับรัฐธรรมนูญ

แต่หากสมาชิกรัฐสภาจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ทำได้หลังการเห็นชอบวาระ 3 โดยใช้การเข้าชื่อเสนอ 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีใครยื่นหรือไม่อย่างไร

พร้อมเปิดเผยว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย ขอสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 83 และมาตรา 91 ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากรัฐบาลนูญปี 2560 หรือระบบจัดสรรปันส่วนผสม MMA ให้ไปเป็นระบบสัดส่วนผสมหรือ MMP ส.ส.เขต 350 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 ตามที่เคยปรากฏในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

สำหรับข้อสังเกตว่า วุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นจะต้องรอสัญญาณจากนายกรัฐมนตรีด้วย นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลนี้ แต่ส่วนตัวไม่ได้เนื่องจากมีความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งมีความเห็นเองตั้งแต่วาระที่ 1 ที่ไม่ได้รับหลักการร่าง และขณะเดียวกันยังคงเชื่อมั่นว่า สมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนจะมีความคิดเป็นของตัวเองที่จะพิจารณาและรับฟังเหตุผลประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งมีหลายมิติที่จะต้องพิจารณา

2 ฝ่ายเห็นต่างแก้ระบบเลือกตั้ง

นายคำนูณยังระบุว่า ขณะนี้ความเห็นของพรรคการเมืองในการแก้ระบบเลือกตั้งก็มี 2 ฝ่าย คือ "4 พรรคพลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา" เห็นไปในทางเดียวกัน ขณะที่ฝ่าย "ภูมิใจไทย-ก้าวไกล" เห็นพ้องกันใกล้เคียงกัน ซึ่ง 2 ฟากความคิดมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านผสมกันอยู่ ซึ่งต่างก็มีแนวความคิดที่แตกต่างกัน

ส่วนประเด็นการแก้ที่จะตอบโจทย์ปัญหาการเมืองได้ ชี้ว่าไม่ใช่ระบบเลือกตั้ง แต่เป็นประเด็นอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีการเสนอขอแก้ไขมาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่ผ่าน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ยังเสนอแก้ได้ในสมัยประชุมต่อไป โดยมั่นใจว่าประเด็นการแก้ระบบเลือกตั้งที่เป็นปัญหาให้ต้องตีความจะไม่เป็นปัญหาหรือรัฐสภาสะดุดขาตัวเองในการแก้กฎหมาย

ทั้งนี้การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องระบบเลือกตั้งตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กำหนดไว้คือวันที่ 24 - 25 ส.ค.นี้ โดยวาระที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญมี 2 เรื่องควบคู่กัน คือพิจารณารายงานการศึกษาของกรรมาธิการ การแก้มาตรา 83 และ 91 ตามร่างที่รัฐสภารับหลักการมา กับญัตติของนายธีรัจชัย พันธุมาศ กรรมาธิการสัดส่วนก้าวไกล เสนอให้รัฐสภาตีความการแก้ของกรรมาธิการ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 124 หรือไม่

ด้วยมีความเห็นต่อการแก้ไขเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแก้ได้เฉพาะมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น แต่อีกฝ่ายคือกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อ 124 วรรคสามอนุญาตให้ทำได้ หากรัฐธรรมนูญมาตราอื่นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นประเด็นที่ "เกี่ยวเนื่องกับหลักการ"

ซึ่งในรัฐธรรมนูญบัญญัติเข้ากฎหมายที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งไว้มากกว่า 2 มาตรา หรือจำนวน 8 มาตรา และกรรมาธิการที่เห็นว่าสามารถดำเนินการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ส่วนหนึ่งเคยได้ชี้แจงว่าในการพิจารณาร่างกฎหมายประชามติก็ได้พิจารณาแนวทางเดียวกันนี้มาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง