ลบโพสต์แล้ว! "ไทยรู้สู้โควิด" ปมไทยฉีดวัคซีนใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน

สังคม
24 ส.ค. 64
07:45
2,040
Logo Thai PBS
ลบโพสต์แล้ว! "ไทยรู้สู้โควิด" ปมไทยฉีดวัคซีนใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน
เพจ ไทยรู้สู้โควิด ลบโพสต์โปสเตอร์ที่ระบุว่า "ไทยฉีดวัคซีน เข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน ตามแผน" หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์และทักท้วงถึงข้อมูลตัวเลข ขณะที่ อว.เปิดข้อมูลฉีดวัคซีนล่าสุด 23 ส.ค.64 พบไทยฉีดวัคซีนสะสม 27,038,999 คน

หลังจากเพจ ไทยรู้สู้โควิด เผยแพร่โปสเตอร์ข้อมูลวัคซีน COVID-19 ซึ่งระบุว่า "ไทยฉีดวัคซีน เข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน ตามแผน" และ "เรามีแอสตราเซเนกา ที่สยาม ไบโอไซเอนซ์ ผลิตภายในประเทศ เราจึงต้องสั่งซิโนแวค มาฉีดเป็นเข็ม 1 แล้วใช้แอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศเป็นเข็ม 2" ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ล่าสุด เพจะไทยรู้สู้โควิดได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกแล้ว


ในส่วนของโปสเตอร์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่นั้น ไทยรู้สู้โควิด ระบุว่า "ไทยฉีดวัคซีน เข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคน ตามแผน" แต่เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กลับพบว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุดของประเทศไทย ณ วันที่ 23 ส.ค.2564 ฉีดวัคซีนสะสม 27,038,999 คน ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น

  • เข็มแรก 20,430,028 โดส (30.9% ของประชากร)
  • เข็มสอง 6,065,003 โดส (9.2% ของประชากร)
  • เข็มสาม 543,968 โดส (0.8% ของประชากร)

สถานการณ์ภูมิคุ้มกันหมู่ในไทย ?

ขณะที่ "ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา" ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. เตือนว่า หลักการของภูมิคุ้มกันหมู่คือ ไวรัสจะถูก "ตัดตอน" เมื่อเชื้อเข้าไปสู่คนที่มีภูมิจากวัคซีน เพราะไม่สามารถแพร่กระจายต่อให้คนอื่นได้ 

สำหรับเชื้อเดลตาและวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ คนฉีดวัคซีนติดเชื้อได้และมีปริมาณไวรัสพร้อมส่งต่อให้คนอื่น ๆ ไม่น้อยกว่าคนไม่ได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันหมู่ในนิยามนี้คงไม่เกิดขึ้นครับ 

 
ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระว่า ประชาชนสหราชอาณาจักร ทั้งประเทศมีภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 เกิน 80% แล้วแน่นอน แต่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ยังอยู่ในระดับสูงไม่ลดลง

ความยากของการสร้างภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 อย่างหนึ่งคือ เชื้อแพร่ทางระบบทางเดินหายใจ และเมื่อติดแล้วมีระยะฟักตัวสั้น กลไกการป้องกันการติดเชื้อของร่างกายและลดการแพร่ระบาดจึงต้องอาศัย humoral immunity คือ แอนติบอดีเป็นสำคัญ

ขณะที่สถานการณ์ของเชื้อเดลตาที่ต้องการระดับสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ทำให้ยากที่จะรักษาระดับแอนติบอดีได้สูงต่อเนื่อง เพราะแอนติบอดีลดลงตามเวลา อย่างไรก็ดี "ใช่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) จะเกิดไม่ได้ แต่คงใช้เวลานานไม่เกิดง่าย ๆ แน่"

ศ.นพ.มานพ ระบุอีกว่า อาจารย์หลายท่านพูดว่า ความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 เกิดขึ้นเร็ว และเปลี่ยนเร็ว ข้อมูลที่เก่ากว่า 6 เดือนมีแนวโน้มจะล้าสมัย ซึ่งเห็นตัวอย่างเรื่องยา วิธีการรักษา ตัวเลขข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน ตัวเลขจาก phase 3 RCT ขณะนี้ใช้อ้างอิงไม่ได้อีกแล้ว สัดส่วนประชากร 70% ที่เป็นเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ก็เช่นกัน

 
นอกจากนี้ อีก 1 โปสเตอร์ที่หลายคนให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ คือ เหตุผลที่ซื้อซิโนแวค เพราะจะนำมาฉีดเป็นเข็ม 1 คู่กับเข็ม 2 แอสตราเซเนกาซึ่งมีโรงงานผลิตในประเทศไทย สำหรับประเด็นนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงชี้แจงว่า ที่ซื้อซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส เพราะจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไม่สามารถจัดส่งให้ได้ และแอสตราเซเนกา ที่คาดว่าจะส่งให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้ต้องจัดสรรซิโนแวค เข้ามาเสริมส่วนที่หายไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง