หมอเผยผู้ป่วย "ความดันโลหิตสูง" เสียชีวิตจากโควิดมากอันดับ 1

สังคม
24 ส.ค. 64
09:36
23,141
Logo Thai PBS
หมอเผยผู้ป่วย "ความดันโลหิตสูง" เสียชีวิตจากโควิดมากอันดับ 1
กรมควบคุมโรคเผยมีรายงานว่าผู้เป็นโรค "ความดันโลหิตสูง" เสียชีวิตจากโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 และยังพบผู้ป่วย 2.4 ล้านคน ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในเดือน ส.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดส และขณะนี้ได้จัดส่งวัคซีนไปให้ทุกจังหวัดแล้ว ขอให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ฟรีที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

ที่เป็นห่วงคือ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีรายงานเสียชีวิตจากโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1

ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่า เมื่อคนป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ร้อยละ 17 ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร้อยละ 7 ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ร้อยละ 9 และทำให้เกิดภาวะหัวใจวายในที่สุด

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคเพียงพอ หากติดเชื้อจะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะสามารถฉีดวัคซีนได้ จะต้องมีระดับความดันโลหิต ค่าตัวบนไม่เกิน 140 และค่าตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท

2.4 ล้านคนคุมระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่ได้

ด้าน นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ขึ้นทะเบียนรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ไม่รวม กทม. กว่า 6 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 2.4 ล้านคน พบว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

ผู้ที่ควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี นอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต โรคหัวใจ ไตวาย และหากติดเชื้อโควิด-19 จะมีความรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไป และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ดี

3 หลักปฏิบัติตัวควบคุมระดับความดันโลหิต

ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ ยังกล่าวถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ควบคุมระดับความดันโลหิต โดยเน้น 3 หลักการที่สำคัญ ดังนี้

  1. กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเอง และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง
  2. งดกินอาหารหวาน มัน เค็ม ควรปรุงอาหารกินเอง ลดการใช้เครื่องปรุงรส เพิ่มการกินผักและผลไม้ งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ช่วยให้หัวใจทำงานดี และช่วยให้อารมณ์แจ่มใส ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลง

สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอให้เตรียมตัวให้พร้อมและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่วนในรายที่กินยาละลายลิ่มเลือด หรือกินยาต้านเกล็ดเลือด ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่จุดบริการฉีดทราบ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนหลังฉีด เช่น เลือดออกที่รอยเข็มฉีด และหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว 2-4 ชั่วโมง ไม่ควรออกกำลังกาย เนื่องจากอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย หรืออ่อนเพลีย และควรไปรับการฉีดให้ครบ 2 เข็มตามนัด

ทั้งนี้ ประชาชนที่ยังมีความกังวล หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง