ไทยเฝ้าระวัง "เดลตา" 4 สายพันธุ์ย่อย พบ 14 คนใน 8 จังหวัด

สังคม
24 ส.ค. 64
11:24
4,530
Logo Thai PBS
ไทยเฝ้าระวัง "เดลตา" 4 สายพันธุ์ย่อย พบ 14 คนใน 8 จังหวัด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหลังไทยพบเชื้อ COVID-19 เดลตา 4 สายพันธุ์ย่อย จากการสุ่มตรวจตัวอย่าง แนะประชาชนอย่าตระหนก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลความรุนแรงและยังไม่กระจายเป็นวงกว้าง

วันนี้ (24 ส.ค.2564) ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของตัวอย่างทั้งหมดที่ถอดได้ถูกอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูล COVID-19 โลก "GISAID" เพื่อให้นานาชาติได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ดูแล และรักษาโรค COVID-19


สำหรับข้อมูลประเทศไทย พบสายพันธุ์ B.1.1.7 อัลฟา 11% สายพันธุ์ B.1.351 เบตา 14% สายพันธุ์ B.1.617.2 เดลตา 71 % และสายพันธุ์ย่อยของเดลตา ได้แก่

  • AY.4 หรือ B.1.617.2.4 3% 
  • AY.6 หรือ B.1.617.2.6 น้อยกว่า 1% 
  • AY.10 หรือ B.1.617.2.10 น้อยกว่า 1% 
  • AY.12 หรือ B.1.617.2.12 น้อยกว่า 1% 

ทั้งนี้ COVID-19 สายพันธุ์เดลตานอกจากมีสายพันธุ์หลักเป็น B.1.617.2 แล้วยังกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์ในทั่วโลก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ B.1.617.2.1 - B.1.617.2.22 หรือเรียกให้สั้นว่า AY.1 - AY.22

สายพันธุ์ย่อย 4 ตัวกลายพันธุ์จากเดลตาที่ระบาดอยู่ในไทย ซึ่งหากเพิ่มจำนวนมาก ๆ ต้องระวัง แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลคลินิกมากพอว่ามีการดื้อวัคซีนหรือไม่ก็ตาม

เช็ก! จังหวัดไหนสุ่มตรวจพบเดลตาสายพันธุ์ย่อย

ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า สายพันธุ์เดลตา มีฐานข้อมูลล่าสุด 9 ส.ค. พบการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ตั้งแต่ AY.1 ถึง AY.25 โดยทุกตัวของสายพันธุ์เดลตายังมีคุณสมบัติแพร่กระจายมาก อาการค่อนข้างรุนแรง และดื้อวัคซีน ได้แก่ L452R, T478K, P681R, D614G


ส่วนในประเทศไทย พบสายพันธุ์ย่อย 4 ตัว คือ

  • AY.4 พบช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. จำนวน 9 คน ใน จ.ปทุมธานี 4 คน, บุรีรัมย์ 1 คน, กำแพงเพชร 1 คน, เชียงใหม่ 1 คน, สมุทรปราการ 1 คน และชลบุรี 1 คน

  • AY.6 พบช่วงเดือน ก.ค. ใน กทม. จำนวน 1 คน

  • AY.10 พบช่วงเดือน ก.ค. ใน กทม. จำนวน 1 คน

  • AY.12 พบช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. จำนวน 3 คน ใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 คน และ กทม. 1 คน

นพ.สุรัคเมธ  ระบุว่า สายพันธุ์ย่อยที่พบมีการกลายพันธุ์ที่จำเพาะแต่ละสายพันธุ์ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ลักษณะการแพร่กระจาย ยังไม่กระจายในวงกว้าง ทั้งนี้ ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยทางสถาบันฯ จะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมอีก 6,000 ตัวอย่างไปตลอดปี 2564

ทั่วไทยพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์เดลตาครบทุกจังหวัด

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ไวรัสเดลตากลายพันธุ์ 4 ตัวนี้ ไม่ได้พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จากรายงานพบมากในฝั่งยุโรป โดย AY.4 ที่รายงานเข้าไปมี อังกฤษ 67% สหรัฐฯ 13% เดนมาร์ก 3% สเปน 2% ฝรั่งเศส 2% 

ประเทศที่มีมากเพราะตรวจมาก และรายงานมาก มีน้อยเพราะไม่ได้สุ่มตรวจ การกลายพันธุ์เกิดขึ้นทุกวัน หากวันหนึ่งมีสายพันธุ์ไทยเพราะเราส่งเร็วก็ไม่อยากให้ตกใจ เพราะเราทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ตรวจน้อยรายงานน้อย

นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงภาพรวมสายพันธุ์หลักในประเทศไทยจากการสุ่มตรวจ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจกว่า 2,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา 2,132 คน หรือ 92.9% และอัลฟา 134 คน หรือ 5.8% และบีตา 29 คน หรือ 1.3% โดยใน กทม. 1,531 ตัวอย่าง พบเป็นเดลตา 96.7% และอัลฟา 3.3% ส่วนต่างจังหวัด 764 ตัวอย่าง พบเป็นเดลตา 85.2% อัลฟา 11% และบีตา 3.8%

สัปดาห์ที่ผ่านสุพรรณบุรีพบเดลตา 3 คน ทำให้พูดได้ว่า วันนี้ทุกจังหวัดพบสายพันธุ์เดลตาทั้งประเทศแล้ว และถือเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ส่วนบีตาพบในภาคใต้เท่านั้น 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง