พลิกโฉมคุม "ช้างป่า" เล็งทำหมัน-ติดปลอกคอคุมเร่ร่อน

สิ่งแวดล้อม
24 ส.ค. 64
15:14
644
Logo Thai PBS
พลิกโฉมคุม "ช้างป่า" เล็งทำหมัน-ติดปลอกคอคุมเร่ร่อน
นักวิจัยกรมอุทยานฯ เผยสถานการณ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่ กลุ่มป่าบางแห่งช้างเกินศักยภาพ พบสถิติ 3 ปีช้างออกนอกพื้นที่ลดแต่คนบาดเจ็บ-ตายเพิ่ม เร่งปรับแผนใหม่นำร่องติดปลอกคอช้างป่าเร่ร่อน เตรียมศึกษาใช้วัคซีนทำหมัน-คุมฮอร์โมน เคลื่อนย้ายช้างตามแผน 10 ปี

กรณีพบว่าช้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เริ่มออกมาหากินนอกพื้นที่บ่อยขึ้น โดยหลายตัวที่ชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ ติดตามการออกหากินนอกพื้นที่เป็นประจำ เช่น พลายสาลิกา ที่ออกมาบริเวณพื้นที่จ.นครนายก 

วันนี้ (24 ส.ค.2564) นายบดินทร์ จันทศรีคำ หรือน้าหมู จากชมรมคนรักษ์สัตว์ป่า โพสต์คลิปความยาว 15 วินาที เป็นเหตุการณ์ช้างป่า 2 ตัวกำลังวิ่งแข่งกัน หลังจากเจ้าหน้าที่ส่องไฟไล่ให้ออกจากพื้นที่  โดยระบุว่า Olympic Animal 2021 (โอลิมปิก แอนนิมอล 2021) คืนนี้เชิญชมการแข่งขันกีฑา ประเภทวิ่งระยะสั้น 100 เมตร Olympic Animal #1 ณ สนามกีฬาประจำหมู่ที่ 1 ต.สาริกา อ.นครนายก พลายสาริกา โค้ชกีฑา ผู้มั่นใจลูกศิษย์จะครองเจ้าเหรียญทองปีนี้

เมื่อเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาช้างที่เกิดขึ้นในวันวันนี้ให้สำเร็จได้โดยเร็ว เราก็ควรจะเรียนรู้อยู่กับมันบ้าง เพื่อชีวิตที่เป็นสุข และไม่เครียด

ช้างป่าเพิ่ม 8.2 % ปัญหาเพิ่ม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถึงสถานการณ์ช้างป่าว่า ภาพรวมไทยมีประชากรช้างป่า
3,168-3,340 ตัว กระจายใน 69 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะกลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่  และกลุ่มป่าตะวันตกแก่งกระจาน ที่มีประชาชากรช้างเกิน 400 ตัว เนื่องจากมีอัตราเพิ่มขึ้นของช้างป่าทุกปี

ผลส่วนหนึ่งจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมากกว่า 75 % พบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับป่าไม้สัตว์ป่าลดลง การรบกวนจากกิจกรรมท่องเที่ยว ทำให้ประชากรช้างมีอัตราเพิ่มขึ้น 8.2% แต่ไม่ใช่ตัวเลขนิ่ง แต่เป็นการคาดการณ์ในกลุ่มป่าตะวันออก ที่มีประชากรเพิ่มมากที่สุด ส่วนกลุ่มป่าอื่นๆ แตกต่างกันตามพลวัตรของสัตว์ป่า ตามสภาพความสมบูรณ์ และตามโครงสร้างช้างจะมีการขยับในกลุ่มอายุของช้าง

แต่กลุ่มป่าตะวันตกแก่งกระจาน ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีประชากรช้างเดิมมาก  มีอาหารสมบูรณ์ และบางแห่งไม่มีสิ่งควบคุมตามธรรมชาติ เช่นสัตว์ผู้ล่า และการลักลอบล่า ดังนั้นถ้าไม่มีการควบคุมจะเกินศักยภาพการรองรับของพื้นที่

พฤติกรรมช้างป่าเร่ร่อน-ช้างรักบ้านเกิด

นายศุภกิจ บอกว่า ขณะนี้พบช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่แบ่งได้ 3 กลุ่ม จากการติดตามพฤติกรรมเบื้องต้น ค่อนช้างชัดเจนว่า ช้างแต่ละตัวมีความคิดเหมือนกับคน คือมีรูปแบบวิธีคิดไม่เหมือนกัน เพราะช้างแต่ละตัวมีวิธีการคิดเป็นปัจเจกไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มแรกเรียกว่า สำนึกรักบ้านเกิด คือจะต้องอยู่ในภาวะแวดล้อมที่เคยชินคือกลับไปยังจุดเดิม และไม่อยู่ในจุดที่นำไปปล่อย

ส่วนกลุ่มกลุ่มเร่รอน คือเป็นช้างที่ไปแบบไม่รู้ทิศทาง ไม่สนใจ จะเร่ร่อนจนกว่าจะพอใจ และคิดว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านและเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหากับชุมชน ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือพวกที่ปรับตัวเก่งอยู่ที่ไหนอยู่ได้ แต่มีเปอร์เซ็นต์ไม่มาก

 

ทั้งนี้ศุภกิจ บอกว่า จากการเก็บสถิติความเสียหายจากช้างออกนอกพื้นที่ตั้งแต่ปี 2561 รวม 1,100 ส่วนปี 2562 ลดลงเหลือ 850 ครั้ง แลปี 2563 จำนวน 600 ครั้ง ขณะที่อัตราบาดเจ็บและเสียชีวิตจากช้างก็ยังมีมาก คือมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ 22, 25 และ 24 คนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังยืนยันว่า ช้างป่าไมได้มีพฤติกรรมที่ดุร้ายขึ้น แต่ด้วยความเป็นสัตว์ขนาดใหญ่

ตัวเลขความเสียหาย 500-600 ครั้ง กับอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากช้างยังยอมรับไม่ได้ กรมอุทยานฯ มีการศึกษา ปรับรูปแบบการแก้ปัญหาช้าง แบ่งออกเป็น 3 เฟสในระยะเวลาอีก 10 ปีนี้ เพราะการแก้แบบเบ็ดเสร็จทำไม่ได้ทันที ต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

ทำหมันช้าง-ย้ายช้าง-ติดปลอกคอศึกษาพฤติกรรม

ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า เป้าหมาย 10 ปีคนอยู่กับช้างได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องยากมาก แต่การทำงานต้องมีเป้าหมาย และอยากให้ปัญหาเบาบาง หน่วยงานรัฐมีองค์ความรู้ทั้งทำงานรวมกับรัฐเอกชน ภาคประชาชน จนสถานการณ์ของช้างไม่รุนแรงแบบปัจจุบัน

เขาบอกว่า รูปแบบการแก้ปัญหาช้างจะเปลี่ยนจากเดิม จะมีการจัดการช้างทั้งในพื้นที่ป่า แนวกันชนและในชุมชน และการเปลี่ยนแปลงใหม่ในการทำงานต้องถูกหยิบยกมา หลายแนวทางเริ่มเดินหน้าโครงการวิจัยทางวิชาการ และนำรูปแบบมาจากต่างประเทศที่ประสบปัญหาช้าง เช่นการติดปลอกคอ เพื่อติดตามเส้นทางของช้างออกนอกพื้นที่ เพื่อให้รู้ตำแหน่ง และแจ้งเตือนประชาชน เริ่มที่ป่าตะวันออก ซึ่งมีประชากรช้างเกินศักยภาพพื้นที่

ขณะที่งานวิจัยที่ค่อนข้างอ่อนไหวคือการหาวิธีการควบคุมประชากรช้าง ซึ่งในแอฟริกาเริ่มทดลองใช้แล้ว คือจำกัดการเพิ่มขึ้นของช้าง ด้วยการทำหมันถาวรช้างตัวผู้ และการใช้ฮอร์โมนควบคุมการปฎิสนธิของช้างตัวเมีย โดยใช้วัคซีน ปี 2-3 ปี และสุดท้ายมาตรการการเคลื่อนย้ายต้องเป็นมาตรการสุดท้าย

ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทุกกลุ่มต้องเปิดใจยอมรับการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ จะทำให้ปัญหาช้างกับคนจบได้ และต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ทำช้างทุกตัวที่ออกนอกพื้นที่กลับไปในพื้นที่ได้ทั้งหมด 

จำแนกอัตลักษณ์ช้างแต่ละตัว-ตั้งชื่อ 

นายศุภกิจ บอกอีกว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ยังได้เริ่มมีการทำอัตลักษณ์ หรือจำแนกรูปพรรณของช้าง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการทำฐานข้อมูลช้างป่ารายตัว เช่น บนอุทยานฯ เขาใหญ่จะมีการตั้งชื่อตามอัตลักษณ์ไว้แล้ว เช่น เจ้าดื้อ เจ้าแคระ งาเบี่ยงเล็ก งาเบี่ยงใหญ่ ทั้งนี้วิธีการจำแนกจะเริ่มจากตัวผู้ ตัวเมีย เพราะลักษณะสัณฐานของช้างทั้ง 2 เพศจะแตกต่างกัน

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าร่องรอยประสบการณ์ เช่น ร่องรอย งา แผล หางเต็ม หางกุด หรือแม้แต่ใบหูที่มีรู กระแดง ก็ถือเป็นอัตลักษณ์ได้ 

ดังนั้นช้างแต่ละตัว จึงมีความหลากหลาย ทั้งงวง กระโหลก งา บาดแผลตามร่างกาย และหาง นำมาจัดองค์ประกอบ คล้ายกับทำทะเบียนประวัติ ควบคู่กับการถ่ายภาพช้างทั้งด้านตรง ด้านข้าง ซึ่งอนาคตจะพัฒนาให้เป็นฐานข้อมูลช้างป่าของไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เธอจะน่ารักหรือจะร้าย รู้จัก "ช้างป่า" เขาใหญ่ ให้มากขึ้น

10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอ "พี่ดื้อ" ช้างป่าเขาใหญ่และผองเพื่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง