เร่งดัน "ความดันโลหิตสูง" เป็นกลุ่มโรคเสี่ยง-เร่งรับวัคซีน

สังคม
24 ส.ค. 64
14:30
1,993
Logo Thai PBS
เร่งดัน "ความดันโลหิตสูง" เป็นกลุ่มโรคเสี่ยง-เร่งรับวัคซีน
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยสาเหตุเตรียมเพิ่มกลุ่ม "โรคความดันโลหิตสูง" เข้ากลุ่มเสี่ยงต้องรับวัคซีน เพราะเมื่อติดโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงคล้ายกลุ่มสีเหลือง และมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตหลังติดโควิดมากที่สุด

นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอส" ถึงกรณีเตรียมเพิ่มกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องเข้ารับวัคซีน โดยจะเพิ่ม "โรคความดันโลหิตสูง" เข้าไปด้วย

ความเสี่ยง "โรคความดันโลหิตสูง" กับโควิด-19

นพ.ปรีชา : ความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดระบบเส้นเลือดแข็งตัว ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้น และมีภาวะที่จะทำให้เส้นเลือดมีความผิดปกติ หากติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบปอด และส่งผลกับระบบไหลเวียนตามมา

คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีปัญหาเรื่องระบบเส้นเลือดต่างๆ มากขึ้น ทำให้ระบบไหลเวียนได้ไม่ดี หากเชื้อลงปอด จะส่งผลให้การทำงานขอร่างกายแย่ลง

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ติดเชื้อโควิด-19 จะคล้ายกับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ดังนั้นจึงต้องได้รับยาเพื่อฆ่าไวรัสให้เร็วที่สุด โดยจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ร่วมกับยาในกลุ่ม Steroid, Dexamethasone เพื่อลดการอักเสบ เนื่องจากกลุ่มนี้มีโอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้น

ส่วนการฉีดวัคซีน ต้องรอให้หายก่อนอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะสามารถให้วัคซีนกระตุ้นได้

เพราะอะไรผู้ป่วยความดันโลหิตสูงติดโควิดเสียชีวิตมาก?

นพ.ปรีชา : ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น โดยคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะสัมพันธ์กับกลุ่มสูงอายุ และโรคที่ตามมาจากความดันโลหิตสูง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดสมองตีบ และโรคหัวใจ เป็นต้น

ความดันโลหิตสูงเกิดได้กับทุกโรค ที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค จึงทำให้พบผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากความดันโลหิตสูงจำนวนมาก

จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือเกิน 20 % ของประชากร จึงเป็นปัจจัยร่วมที่มีความสำคัญ

ส่วนกลุ่มที่มีอายุไม่เยอะมาก หากมีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงไม่มาก แต่หากมีโรคอื่นมาประกอบก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น

ในรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกวัน จะพบว่าโรคความดันโลหิตสูง มีสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่จริงๆ ก็มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า นอกจากโรคความดันโลหิตสูงที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิต หลังติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 แล้ว รองลงมาพบว่าเป็นโรคเบาหวาน ภาวะอ้วน โรคไต และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ

อ่านข่าว : หมอเผยผู้ป่วย "ความดันโลหิตสูง" เสียชีวิตจากโควิดมากอันดับ 1

ขณะที่ "ความดันโลหิตสูง" ไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่รับลงทะเบียน เนื่องจากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จึงทำให้ถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน

ไม่เป็น 7 โรคเรื้อรัง ลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ไหม?

นพ.ปรีชา : หากเป็นกลุ่มที่มีภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ทันที ขณะนี้ได้เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จากนั้นจะกระจายไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ได้ระบุให้ "โรคความดันโลหิตสูง" อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เนื่องจากช่วงแรกต้องป้องกันผู้ที่มีโรคเรื้อรังประกอบกันหลายๆ โรคก่อน

คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ (ส.ค.-ก.ย.) จะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีอายุ 50 ปีลงมา และจะครอบคลุมกลุ่มที่มีความดันโลหิตสูงด้วย

สำหรับผู้ที่ไปรับวัคซีนโควิด-19 หากตรวจสุขภาพที่จุดตรวจแล้วพบว่า มีประวัติในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง จะถือเป็นเงื่อนไขที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้

ในช่วงแรก ขอให้เป็นกลุ่มโรคความดันโลหิตสูงที่มีภาวะแทรกซ้อนก่อน

ส่วนกรณีที่ตรวจพบความดันโลหิตสูงก่อนฉีดวัคซีน ถือเป็นการตรวจเช็กสุขภาพ ว่ามีความพร้อมในการฉีดวัคซีนหรือไม่ อย่างไรก็ตามมีการปรับเปลี่ยนแนวทาง ถอดเงื่อนไขที่ว่า หากมีความดันโลหิตสูงจะยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ออกไปแล้ว โดยจะฉีดทุกกรณีที่เข้าเงื่อนไข

ยกเลิกการวัดความดันโลหิตหน้าจุดตรวจ ก่อนฉีดวัคซีน ลดขั้นตอนเพื่อความรวดเร็ว เพราะการวัดความดันใช้เวลา 3-5 นาที แต่ยังคงคัดกรองความเสี่ยง

ส่วนกลุ่มผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ แต่ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางแนวทางว่า ในเดือน ก.ย.นี้ จะมีวัคซีนที่มากเพียงพอ กลุ่มดังกล่าวจะเป็นลำดับถัดไปที่จะได้รับวัคซีน ซึ่งคณะกรรมการวิชาการจะพิจารณาเพิ่มเติมในรายละเอียดต่อไป

ฉีดวัคซีนแล้ว ช่วยลดหรือเพิ่มความเสี่ยง?

นพ.ปรีชา : วัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันให้เชื้อลงปอดได้น้อยลง และระบบไหลเวียนทำงานได้ปกติ โดยจะช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสที่จะทำลายปอด และลดจำนวนของไวรัสในร่างกาย

ส่วนความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบหลังฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะวัคซีนที่ใช้ในขณะนี้ถือเป็นตัวใหม่ ที่ใช้เวลาในการผลิตเพียงปีเดียว ยังไม่มีองค์ความรู้เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบที่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น หรือโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะต้องเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ

ตอนนี้นึกถึงความรุนแรงของโรคโควิด-19 ก่อน เห็นประโยชน์ของการให้วัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเสียชีวิต มากกว่าทำให้เสียชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง