ศบค.ห่วงคนพื้นที่ "สีแดงเข้ม" ข้ามจังหวัดทำติดเชื้อเพิ่ม

สังคม
25 ส.ค. 64
14:11
4,596
Logo Thai PBS
ศบค.ห่วงคนพื้นที่ "สีแดงเข้ม" ข้ามจังหวัดทำติดเชื้อเพิ่ม
"พญ.อภิสมัย" ระบุต่างจังหวัดยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูง สาเหตุจากคนพื้นที่ "สีแดงเข้ม" เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะภาคอีสาน

วันนี้ (25 ส.ค.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 189,268 คน มีอาการหนัก 5,189 คน ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,096 คน

ขณะที่วันนี้ (25 ส.ค.) เป็นวันแรกที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมเกิน 10,000 คน ซึ่งการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิต บางวันอาจมีการทบจำนวนของวันก่อนๆ ที่เสียชีวิตมาก่อนหน้า 1-2 วัน และมีการนับยอดรวม บางครั้งจะเห็นว่าบางจังหวัดรายงานตัวเลขที่สูงขึ้น ขณะที่การตรวจสอบใช้เวลาและบางคนจังหวัดยืนยันว่าซ้ำซ้อน ต้องยืนยันการเสียชีวิตว่าเป็นโควิด-19 จึงจะสามารถรายงานข้อมูลได้อย่างถูกต้อง โดยย้ำว่าไม่มีการปกปิดข้อมูลอย่างแน่นอน

กลับจากพื้นที่ "สีแดงเข้ม" ทำผู้ป่วยเพิ่มหลายจังหวัด

สำหรับสัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม.-ปริมณฑล และต่างจังหวัด พบว่า ต่างจังหวัดยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูง โดยในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา พบรายงานการเดินทางของผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนา

ขณะที่ข้อมูลสะสม ณ วันที่ 24 ส.ค.2564 เขตสุขภาพที่ 7-10 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วยสะสมที่นำเข้าเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากพื้นที่สีแดงเข้ม กลับภูมิลำเนา แล้วทำให้เกิดการแพร่ระบาด และมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อของพื้นที่นั้นเพิ่มสูงขึ้น

โดยเขตสุขภาพที่ 7 มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับภูมิลำเนารวม 25,983 คน, เขตสุขภาพที่ 8 มีผู้ติดเชื้อรวม 25,102 คน, เขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ติดเชื้อรวม 37,738 คน และ เขตสุขภาพที่ 10 มีผู้ติดเชื้อรวม 24,718 คน

สะท้อนให้เห็นว่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสาน จะพบการรายงานผู้ติดเชื้อที่มียอดสูงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือคนเดินทางจากพื้นที่สีแดงเข้ม

หญิงตั้งครรภ์ป่วย-เสียชีวิตหลังติดโควิด-19

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ หลังมีการเก็บรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ถึงวันที่ 13 ส.ค.2564 พบอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ 1.85% สูงเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป และส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจล้มเหลว

สรีระของหญิงตั้งครรภ์ที่มดลูกโตขึ้น พร้อมน้ำคร่ำในมดลูกมากขึ้น จึงดันปอดให้ขยายตัวลำบาก

ขณะที่อัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกพบ 11.8% ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเข็มแรก หลังอายุครรภ์ 3 เดือน (12 สัปดาห์) ทุกกลุ่มอายุของแม่ อีกทั้งวัคซีนสามารถฉีดได้ในช่วงการให้นมบุตร

ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-24 ส.ค.2564 จากจำนวนเป้าหมายหญิงตั้งครรภ์ 500,000 คน ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 27,591 คน และเข็ม 2 จำนวน 2,078 คน

 

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงการศึกษาของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 11 ส.ค.2564 หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึงอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ พบว่า มีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 อายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์มากถึง 27% อายุอายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์คิดเป็น 30% รวมๆ กันผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 14-42 สัปดาห์ติดเชื้ออยู่ที่ 57%

ส่วนอัตราการเสียชีวิต อายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์เสียชีวิต 41% ส่วนอายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์เสียชีวิต 55% จึงคิดเป็น 96% ซึ่งหมายความว่า ผู้หญิงที่อายุครรภ์เกิน 14 สัปดาห์ มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ อาจมีอาหารหนัก รุนแรงและเสียชีวิตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 18,417 คน เสียชีวิต 297

สธ.เผยโควิดเพิ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ แนะฉีดวัคซีนลดติดเชื้อถึงลูก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง