แนะปฏิรูปการสอบสวน ลดปัญหาตำรวจ ย้ายสังกัดจังหวัด-หน่วยงานเฉพาะทาง

อาชญากรรม
25 ส.ค. 64
14:43
949
Logo Thai PBS
แนะปฏิรูปการสอบสวน ลดปัญหาตำรวจ ย้ายสังกัดจังหวัด-หน่วยงานเฉพาะทาง
อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ดึงอัยการรวมตรวจสอบการทำคดีตั้งแต่หลังเกิดเหตุ อุดช่องโหว่สำนวนคดีหละหลวม แนะแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจหน่วยงวานอื่นมีหน้าที่สอบสวน ชูแนวทางให้ ตร.กลับขึ้นตรงมหาดไทย แต่งตั้งโยกย้ายในจังหวัดผ่าน “กตร.จังหวัด-ผู้ว่าฯ”

จากกรณีตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติด ในระหว่างการสอบปากคำ จนเป็นหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิตในเวลาต่อมา และกลายเป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการสอบสวนและแนวทางการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก

ดึงอัยการร่วมตรวจสอบคดีสำคัญ

เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นเยอะแยะ แต่ครั้งนี้มีข่าว มีคลิปหลุดออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งหากไม่มีคลิปก็จะมีคำถามว่า ใส่ความรึเปล่า แต่คดีฆ่านั้นเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป 

พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า แนวทางการแก้ปัญหาการสอบสวนที่เป็นปัญหาและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำนั้น คือ การเพิ่มหน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน โดยเฉพาะอัยการ ที่แต่เดิมจะตรวจสอบสำนวนคดีหลังจากตำรวจสอบสวนเสร็จ ซึ่งบางกรณีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงในคดีหายไปอัยการจึงควรเข้ามามีบทบาท ตั้งแต่การตรวจที่เกิดเหตุร่วมกับตำรวจ

หากอัยการเข้าไปร่วมตั้งแต่แรกเกิดคดี ตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องสั่งสอบเพิ่ม สามารถทำคดีให้สมบูรณ์ตามพยานหลักฐานได้ เช่นพยานมี 10 ปาก ตำรวจสอบสวนมาเพียง 3 ปาก ก็ไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่มอีก

แต่หากอัยการเห็นว่ามีพยาน 10 ปาก ตำรวจก็จะไม่กล้าที่สอบพยานเพียง 3 ปาก ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าจะมีปริมาณคดีมาก เนื่องจากในแต่ละปีสถานีตำรวจในแต่ละแห่ง จะมีคดีฆาตกรรมเฉลี่ยปีละ 4-5 คดีเท่านั้น

หัวใจคือสำนวนการสอบสวน ถ้าผู้กำกับไม่มีอำนาจสอบสวนจะกล้าทำหรือไม่ เรียกร้องให้แก้ไข กฎหมาย ป.วิอาญาเพิ่มเติมในคดีสำคัญหรือคดีที่มีการร้องเรียนพนักงานอัยการต้องเข้าตรวจสอบควบคุมในคดีตั้งแต่หลังเกิดเหตุไม่ใช่ภายหลังการสอบสวน 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังระบุว่า การสอบสวนด้วยวิธีการจดด้วยกระดาษควรยกเลิก และควรใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสอบสวน ในการบันทึกภาพและเสียงในการสอบปากคำ

รวมถึงการลงบันทึกประจำวันทันที ควรบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์ทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาการเป่าคดี ทั้งนี้เพื่อให้มีเลขคดีอยู่ในระบบเช่นเดียวกับระบบเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่จะรักษา ต้องมีข้อมูลในระบบของเวชระเบียน

ในวันนี้ คนที่ไปโรงพยาบาลทุกคนเพื่อรับการรักษาต้องมีข้อมูลในเวชระเบียน 100 % แต่คนที่ขึ้นไปสถานีตำรวจ 100 คน เนี่ยที่เป็นคดี และมีเลขคดีเข้าสารบบมีไม่ถึง 10 % ซึ่งนำไปสู่การล้มคดี การเป่าคดีที่ง่าย

แก้กฎหมายกระจายอำนาจสอบสวนให้ทุกกระทรวง

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังมองว่า ควรให้การสอบสวนมีอยู่ในทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยแก้ไขกฎหมายตาม ป.วิอาญาให้แก้ไขในส่วนของการสอบสวน ให้เจ้าพนักงานในแต่ละกระทรวง มีอำนาจในการสอบสวนความผิดด้วย เพื่อไม่ให้ตำรวจผูกขาดการสอบสวนอยู่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทุกวันนี้หากตำรวจไม่สอบสวนคดีอาญาคดีใด คดีนั้นจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้และอาจทำให้เกิดช่องว่างในการทุจริต

กรมเจ้าท่าไปแจ้งความ กรมป่าไม้ไปแจ้งความก็ไปอยู่ที่ตำรวจ ซึ่งจะอยู่ที่ตำรวจว่าจะสอบสวนต่อไปอย่างไร

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ระบบตำรวจ คือ การตรวจป้องกันและการสอบสวน ซึ่งการตรวจป้องกันไม่เพียงหมายถึงตำรวจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงข้าราชการทุกคนที่มีอำนาจตรวจตรารักษากฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่เทศกิจ กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร ซึ่งมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับตำรวจทั้งหมดและมีความเข้มแข็งในการทำหน้าที่

โอนตำรวจให้หน่วยงานอื่น-ยกเลิกยศ

ยศมาใช้กับตำรวจไม่ได้ มาใช้กับพนักงานยุติธรรมไม่ได้ นี่คือปัญหายิ่งใหญ่เลย โดยอาจรับผู้ที่จบการศึกษานิติศาสตร์ ซึ่งเรียนรู้กฎหมายมาทำหน้าที่

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การโอนหน่วยงาน ก็เป็นอีกแนวทางในการปฏิรูปตำรวจ เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งหากดำเนินการโอนตำรวจไปสังกัดหน่วยงานอื่น ก็จะสามารถยกเลิกยศ หรือยศก็จะหายไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับเดิม ในมาตรา 7 ดังนั้นเมื่อย้ายตำรวจไปสู่ระบบอื่น ตำรวจก็สามารถลดปัญหาการฉ้อฉลได้ดีขึ้น และไม่มีเรื่องของยศ

เมื่อก่อนผู้การกองทะเบียนจะเข้าพบยาก แต่เมื่อปรับไปอยู่กรมการขนส่งทางบก ผู้อำนวยการกองทะเบียนก็เข้าพบได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องยศนั้น มีไว้สำหรับการรบ ถ้าไม่มียศก็ไม่ต้องไปรบ

การโอนย้ายตำรวจนั้นมีประมาณ 13 หน่วยงาน เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจกองคุ้มครองผู้บริโภค ก็ไปสังกัดสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจเศรษฐกิจอยู่กับกระทรวงการคลัง ตำรวจน้ำไปสังกัด กรมเจ้าท่า เป็นต้น

ดึง “ตำรวจ” กลับขึ้นตรงกับ “มหาดไทย”

นอกจากนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังกล่าวถึงแนวทางการปรับโครงการตำรวจว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกลับมาขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย และขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนในต่างประเทศ เหมือนกับเป็นองค์กรอิสระในจังหวัด จะช่วยในการตรวจสอบการทำงานได้ดีขึ้น

การแต่งตั้งโยกย้ายให้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตำรวจจังหวัด (ก.ตร.จังหวัด) ปัจจุบันมีอยู่แล้ว ให้การจะแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเข้า-ออก ในแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับ ก.ตร.จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และเพิ่มคณะกรรมการเข้าไปตามระเบียบของ ป.ป.ช. และค่อย ๆ ลดบทบาทของกองบัญชาการตำรวจออกไป

ให้ย้ายภายในจังหวัด แต่จะย้ายข้ามจังหวัดก็ได้แต่มีข้อยกเว้นซึ่งต้องย้ายในจังหวัดเป็นหลัก แต่งตั้งในจังหวัด เติบโตในจังหวัด ทำดีหรือไม่ดีคนในจังหวัดจะรู้หมด ไม่ใช่ว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดีในจังหวัดหนึ่งแต่ไปเติบโตอีกจังหวัดหนึ่ง

ดังนั้น แนวคิดของ พ.ต.อ.วิรุตม์ จึงเป็นอีกแนวคิดที่ต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการแก้ไขหัวใจของปัญหาก็คือ การสอบสวน ที่จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้นในการกระบวนการยุติธรรม และไม้ให้ซ้ำร้อยกับเหตุสลดที่เกิดขึ้นมาหลายครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"ดาบตำรวจ" เข้ามอบตัวคดีร่วมกันฆ่าผู้ต้องหาคดียาเสพติด 

รอง ผบ.ตร.เผยรู้แหล่งกบดาน "พ.ต.อ.ธิติสรรค์" ไม่ได้หนีไปกับลูกน้อง

จเรตำรวจยืนยันไม่ปกป้องคนผิด รอตรวจสอบเอาผิดวินัย ตร.คนอื่นเพิ่ม

กรมศุลฯ พร้อมตรวจสอบรถหรู 29 คันของ "พ.ต.อ.ธิติสรรค์" 

นายกฯ กำชับปรับย้ายนายทหารเลือกคนเก่ง-เป็นที่ยอมรับ 

ย้อนคดีอาชญากรรมโดยตำรวจ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง