ตรวจชีพจร รพ.เอกชน รุ่งหรือร่วงจากโควิด

เศรษฐกิจ
30 ส.ค. 64
10:33
821
Logo Thai PBS
ตรวจชีพจร รพ.เอกชน รุ่งหรือร่วงจากโควิด
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนพบปีที่ยากลำบากจากวิกฤตโควิด-19 ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ผลประกอบการลดลงชัดเจน ซึ่งในปี 2564 โรงพยาบาลต่างๆ ยังคงรอคอยความหวัง "วัคซีน - เปิดประเทศ" จะช่วยให้ธุรกิจพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้น

วิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มต้นมาประมาณปลายปี 2562 ไล่ยาวจนปี 2563 ทั้งปี และยังต่อเนื่องมาจนเดือน ส.ค.2564 หากย้อนไปคงไม่มีใครคาดคิดว่าไวรัสชนิดนี้ จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้ยาวนานขนาดนี้เกิดการกลายพันธุ์ จนเริ่มจดจำชื่อแทบไม่ได้แล้ว

ว่ากันว่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งธุรกิจและประชาชนทั่วไป แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่หนี้กระจุกตัวในบางกลุ่มธุรกิจ ซึ่งยังคาดเดาได้ยากว่าวิกฤตนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

ไทยอันดับ 6 รักษาพยาบาลที่ดีสุดในโลก

จากข้อมูล worldsbesthospitals.net จัดให้โรงพยาบาลสมิติเวชของไทย เป็น 1 ใน 5 สถานพยาบาลดีที่สุดในโลกในปี 2562 สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ นิตยสาร CEOWORLD จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีระบบการรักษาพยาบาลดีที่สุดอันดับ 6 ของโลก รองจากไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และเดนมาร์ก

 

ขณะที่ Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลค่าครองชีพและระบบสาธารณสุขใหญ่ที่สุดในโลก จัดให้ไทยอยู่อันดับ 8 สำหรับประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลก จากข้อมูล ณ เดือน มิ.ย.2563

ธุรกิจ รพ.เอกชน ได้รับผลกระทบจากโควิด

ในปี 2563 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน หากมองอย่างผิวเผินแล้ว ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก และน่าจะได้รับผลดีจากการแพร่ระบาดจากโควิด-19 มากกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแทบไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูงอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ส่วนกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะรายได้จากส่วนนี้น้อยกว่า

ขณะที่โรงพยาบาลที่ได้รับอานิสงส์และได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เช่น โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น กลุ่มประกันสังคม ข้าราชการ หรือมีสัดส่วนของลูกค้าประกันสุขภาพในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ที่รายได้จากส่วนนี้ค่อนข้างสูง และราคาหุ้นขึ้นไปอย่างโดดเด่นในปีนี้

สัดส่วนรายได้มาจากค่ายาสูงสุด 35.2%

ทั้งนี้ จากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี ที่จำแนกสัดส่วนโครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่มาจากค่ายา ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดอยู่ที่ 35.2% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ รายได้จากบริการทางการแพทย์ 20.0% การวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการและห้องเอ็กซเรย์ 13.7% ห้องพักผู้ป่วย 8.5% และอื่นๆ 22.6%

 

ในปีที่ยากลำบาก โรงพยาบาลหลายแห่งมีการปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอด มีการจัดโปรแกรมค่ารักษาพยาบาลในราคาพิเศษ เพื่อให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว การชูจุดขายความเฉพาะทางของโรคในแต่ละกลุ่มลูกค้า หรือแม้แต่การผ่อนชำระค่ารักษาพยาบาลที่ยาวนานขึ้น

รายได้ปี 63 ลดลงจากปี 62 อย่างชัดเจน

จากการรายงานรายได้และกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2563 พบว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีรายได้รวม 12,567.83 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,204.14 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 18,718.27 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,747.73 ล้านบาท ขณะที่สิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2564 พบว่ามีรายได้รวม 5,732.26 ล้านบาท กำไรสุทธิ 307.60 ล้านบาท 

 

ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ในปี 2563 มีรายได้รวม 69,101.64 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,214.24 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 83,893.22 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15,517.17 ล้านบาท ขณะที่สิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2564 พบว่ามีรายได้รวม 33,728.85 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,790.83 ล้านบาท

"เกษมราษฎร์-จุฬารัตน์" กำไรโดดเด่น

บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในปี 2563 มีรายได้รวม 9,021.36 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,229.40 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 8,996.28 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,134.91 ล้านบาท ขณะที่สิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2564 พบว่ามีรายได้รวม 6,715.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,469.49 ล้านบาท

โรงพยาบาลจุฬารัตน์ ในปี 2563 มีรายได้รวม 5,464.48 ล้านบาท กำไรสุทธิ 876.62 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 5,190.87 ล้านบาท กำไรสุทธิ 705.24 ล้านบาท ขณะที่สิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2564 พบว่ามีรายได้รวม 3,607.78 ล้านบาท กำไรสุทธิ 827.87 ล้านบาท

 

โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ ในปี 2563 มีรายได้รวม 242.55 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 16.61 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 336.11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10.50 ล้านบาท ขณะที่สิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2564 พบว่ามีรายได้รวม 256.99 ล้านบาท กำไรสุทธิ 76.93 ล้านบาท

รพ.เอกชน รับอานิสงส์โควิด-19 ระลอก 3

ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 จนถึงเดือน ส.ค.2564 มีการเร่งการตรวจหาเชื้อเชิงรุกมากขึ้น ตามชุมชนและคลัสเตอร์ต่างๆ ด้วยชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) และระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ว่ามีข้อจำกัดจากจำนวนวัคซีนที่มีเข้ามาค่อนข้างน้อยไม่ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการประกาศล็อกดาวน์รอบล่าสุด รวม 29 จังหวัดสีแดงเข้ม แต่ตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นจนไปแตะที่ระดับวันละกว่า 20,000 คน ก่อนจะลดลงมา ล่าสุด วันนี้ (30 ส.ค.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,972 คน เสียชีวิต 256 คน

 

ข้อจำกัดที่การตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ที่ต้องใช้เวลา 1-2 วัน จึงจะทราบผลตรวจ ทำให้โรงพยาบาลที่มีห้องแล็บ และเน้นตรวจโรคประจำปี อย่างโรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ ได้รับอานิสงส์นี้ไป เนื่องจากในช่วงแรก ยังไม่มีชุด ATK ขายตามร้านขายยา ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลวิภาวดี มีการตรวจหาเชื้อแบบ Drive Thru

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ จนต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ที่เป็นการปรับโรงแรมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลที่ได้รับอานิสงส์ตรงนี้อย่างกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ ส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพมีการตั้งโรงพยาบาลสนามร่วมกับกองทัพอากาศเช่นกัน

"วัคซีน-เปิดประเทศ" ความหวังหนุนธุรกิจ

ในช่วงที่วัคซีนโควิด-19 มีเข้ามาน้อย โรงพยาบาลหลายแห่งมีความพยายามจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก อย่างวัคซีนโมเดอร์นา ไฟเซอร์ เป็นต้น แต่ติดข้อจำกัดหลายประการ จนกระทั่งต้องยกเลิกการจองฉีดวัคซีนไปในที่สุด แต่ข่าวดีล่าสุด สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เต็มรูปแบบในวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ หากไฟเซอร์ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับอนุญาต จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนได้โดยตรง

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เปิดเผยข้อมูลจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 28 ส.ค.2564 รวม 30,679,289 โดส ใน 77 จังหวัด เป็นการฉีดเข็มแรก 22,807,078 คน จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อยู่ที่ 7,287,885 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ได้รับเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นหลักทั้งสิ้น 584,326 คน

 

ส่วนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายไว้นั้น จากสถานการณ์ล่าสุดที่ผู้ติดเชื้อเริ่มมีน้อยลง และมีผู้ป่วยหายมากขึ้น ทำให้โอกาสกลับมาเปิดประเทศยังมีความเป็นไปได้อยู่เช่นกัน หลังจากมีการนำร่อง ด้วยการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ และเตรียมขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่เกาะต่างๆ ในอนาคต

ก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2564 คนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยอาจมีประมาณ 1.57-77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 1.45 ล้านคน (ครั้ง) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีจำนวนคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่ราว 3.75 ล้านครั้งในปี 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง