“นิมิตร์” เชื่อ 2 ปัจจัยตรวจพบผู้ติดเชื้อลดลง – แนะเดินหน้าตรวจกรุงเทพฯ 2 ล้านคน

สังคม
30 ส.ค. 64
12:51
288
Logo Thai PBS
“นิมิตร์” เชื่อ 2 ปัจจัยตรวจพบผู้ติดเชื้อลดลง – แนะเดินหน้าตรวจกรุงเทพฯ 2 ล้านคน
กรรมการ สปสช.ตั้งข้อสังเกต 2 ปัจจัยให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อลดลง แนะเร่งตรวจเชิงรุก ช่วยยับยั้งการติดเชื้อเพิ่ม เตรียมลุยตรวจในกทม. 2 ล้านกว่าคน เพื่อให้เปิดเมืองได้เร็วและกลับสู่ชีวิตปกติได้เร็ว

วันนี้ (30 ส.ค.2564) นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ประสานงานโควิดชุมชน ตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจ ATK ที่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ลดลงโดยระบุว่า

การตรวจเชิงรุกในช่วงที่ผ่านมา หากมองว่า เป็นมุมป้องกันก็สามารถมองได้เนื่องจาก 1.เมื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกในจำนวนคนปริมาณมาก ก็จะพบผู้ติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งเมื่อทราบว่าติดเชื้อ โอกาสที่จะป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น ก็ย่อมทำได้ดีกว่าการไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

ตรวจเชิงรุกช่วยลดผู้ติดเชื้อ

นายนิมิตร์กล่าวว่า มีตัวเลขยืนยันว่า เมื่อมีการตรวจเชิงรุกในบางชุมชน และหลังจากนั้นได้ลงชุมชนไปตรวจคัดกรองซ้ำ ก็พบว่า อัตราการพบผู้ติดเชื้อลดลง เนื่องจากผู้ที่พบว่าติดเชื้อในช่วงแรกนั้นเข้ารับการรักษาแล้ว หรือ การอยู่ Home Isolation เพื่อป้องกันคนในบ้าน และคนในบ้านเองเมื่อทราบว่ามีผู้ติดเชื้อก็จะเพิ่มความระมัดระวังปเองกันตนเองมากขึ้น

ดังนั้นการตรวจเชิงรุกแล้วพบผู้ติดเชื้อ ต่อมาก็จะพบว่า มีอัตราการพบผู้ติดเชื้อลดลง รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อตรวจเชิงรุกน้อยลงก็จะพบผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 2 มุม

เล็งตรวจ กทม. 2 ล้านคน

ขณะที่กรณีการตรวจเชิงรุกในช่วงวันที่ วันที่ 17 พ.ค. - 28 ส.ค.ที่ผ่านมา หรือราว 3 เดือน มีข้อมูลว่า การตรวจ ATK จะตรวจได้ประมาณ 1.4 แสนคน และ แบบ RT -PCR จะตรวจได้ราว 4.2 แสนคน ซึ่งในมุมมองของนายนิมิตร์ มองว่า ยังตรวจเชิงรุกน้อยไป ตรวจควรอยู่ที่หลัก 1 ล้านคนขึ้นไป ซึ่งหากต้องการค้นหาผู้ติดเชื้อแล้วแยกออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อ อัตราการตรวจอยู่ที่หลักล้าน

ด้วยเหตุนี้ทาง สปสช.จึงคิดว่า จะจัดซื้อชุดตรวจเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะใน กทม.จะจัดแจกจ่ายให้ 2 ล้านกว่าชิ้น ดังนั้นหากต้องการเห็นผลในการป้องกันการตรวจค้นหาเชิงรุกควรตรวจมากกว่านี้

ตัวเลขการตรวจเชิงรุกหลักแสนก็ดีกว่าไม่ตรวจ แต่ถามว่าพอหรือไม่ คงยังไม่พอ ยังน้อยอยู่

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า การเพิ่มศักยภาพในการตรวจคัดกรอง ควรทำทั้ง 2 อย่างคือ การตรวจ ATK และการตรวจ RT -PCR ซึ่งทำควบคู่กันไป แต่ควรเริ่มที่การตรวจ ATK ที่เร็วและกว้างก่อน และให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจพวกนี้ด้วยตนเองได้ สามารถที่จะตรวจด้วยตนเองได้

 

ชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ล้านกว่าชิ้นที่จะกระจายในกรุงเทพฯ เป็นความท้าทายว่า กลไกระบบสาธารณสุขของ กทม.จะมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะทำให้สามารถตรวจได้ถึง 2 ล้านคนหรือไม่ ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข ชุมชน ร้านยา หน่วยงานของรัฐใน กทม.ทั้งหมด ต้องร่วมมือกันเพื่อให้ตรวจได้ถึง 2 ล้านคน


ถ้าตรวจได้ถึง 2 ล้านคน เท่ากับว่า เราตัดวงจรคูณ 8 ไป ถ้า 2 ล้านคนคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 10 % คือ 2 แสนคน ซึ่งถ้าเจอคน 2 แสนได้เร็วก็เท่ากับว่าไม่ต้องคูณ 8 เพราะ 1 คน เราคิดว่าจะทำให้คนติดเชื้อไปอีก 8 คน ถ้าพบเร็วก็เข้าสู่ระบบเร็ว เข้ารับการรักษาเร็ว ทุกคนได้ป้องกันจะลดการติดเชื้อลงได้เยอะ 

ตรวจเชิงรุกเร็วช่วยเปิดเมืองได้เร็ว

นายนิมิตร์ ยังกล่าวว่า กรณีการตรวจเชิงรุกเยอะ และพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น คือข้อเท็จจริง ซึ่งแม้ว่าจะมีปัญหาในเชิงคุณภาพของชุดตรวจแต่ว่า การตรวจ 100 คน เจอคนที่เป็นผลลบประมาณ 10 คน ก็ยังดีกว่าไม่ตรวจเลย

ดังนั้นการตรวจเป็นการบอกข้อเท็จจริงว่า ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ ยิ่งตรวจน้อยยิ่งไปพอกหางหมู ยิ่งทำให้ปัญหาหมักหมม ถ้าต้องการจะเคลียร์ปัญหา เพื่อให้เปิดเมืองได้เร็ว เข้าสู่ชีวิตปกติได้เร็ว การเพิ่มจำนวนการตรวจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ระดมใช้ ATK ตรวจโควิด-ให้ใบรับรองผลเริ่ม 31 ส.ค.-3 ก.ย.

 คลายล็อก กพท.ออกมาตรการเที่ยวบินในประเทศ เริ่ม 1 ก.ย.นี้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง