ส.ว.มติเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65

การเมือง
30 ส.ค. 64
16:37
1,009
Logo Thai PBS
ส.ว.มติเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 65
ส.ว.มีมติเอกฉันท์ 200 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 "อาคม" ยันจัดสรรงบคุ้มค่า เกิดประโยชน์สุดสุดต่อประชาชนภายใต้วิกฤตโควิด

วันนี้ (30 ส.ค.2564) ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ด้วยคะแนน 200 เสียงไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกสียง 3 เสียง วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

 

ก่อนหน้านี้ช่วงเช้า นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวรายงานว่า การจัดทำงบประมาณมีหลักการและแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงรวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบฯ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชน และอยู่บนพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่

ตลอดจนให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม กระจายงบฯอย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่าไม่ซ้ำซ้อนและเกิดผลสัมฤทธ์ต่อประชาชน โดยจะดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ รวมทั้งระเบียบ กฎหมายและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง

นายอาคม กล่าวขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาทุกคน และสำหรับข้อคิด ข้อเสนอแนะ และความห่วงใย รัฐบาลจะขอรับไว้ด้วยความขอบคุณและจะได้นำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้การจัดสรรงบฯมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

 

นายวิสุทธิ์​ ศรีสุพรรณ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วุฒิสภา รายงานข้อสังเกตของการศึกษาต่อที่ประชุมว่าหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยยังมีโอกาสและความท้าทาย เหมือนฟ้าหลังฝน

อย่างไรก็ตามวุฒิสภามีข้อเสนอคือ การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมีบางเกณฑ์ไม่สะท้อนถึงการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะจัดสรรงบประมาณตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่เติบโตเศรษฐกิจมากจัดสรรให้มาก ทั้งที่ควรจัดสรรให้พื้นที่เติบโตเศรษฐกิจน้อยให้มาก

นอกจากนั้นรัฐบาลต้องทบทวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบ ถ่วงดุล และควบคุมการใช้งบประมาณ ทั้งนี้สถานการณ์โควิดเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณ ในปี 2566 ที่ลดลง

ดังนั้นรัฐบาลควรสั่งการหน่วยงานให้จัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญ ส่วนที่ไม่สำคัญให้ชะลอหรือเลื่อนออกไป และให้นำงบส่วนดังกล่าวจัดสรรสมทบที่งบกลาง เพื่อลดภาระของการกู้เงิน หากรัฐบาลต้องกู้เงินอีกในอนาคต

นายวิสุทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นงบลงทุนของปี 2565 ที่มี 6 แสนล้านบาท หรือ 20.1% ถือว่าอยู่ระดับต่ำ รัฐบาลต้องเร่งจัดลำดับความสำคัญโครงการที่สำคัญและเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน นอกจากนั้นต้องนำเงินอนาคตมาใช้ หมายถึงรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ไฟฟ้า ปะปา การทางพิเศษ โดยการออกพันธบัตร (บอนด์) เพื่อลดภาระเงินกู้ ทั้งนี้การคาดการณ์รายได้ของรัฐวิสาหกิจจะต่ำลง ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องอุดหนุน ปี 2565 มีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือการดูแลสมดุลฐานะการคลังและสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ โดยขอให้ใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส พิจารณาความเหมาะสมว่าบางรัฐวิสาหกิจจะให้เอกชนทำต่อไปหรือไม่ และต้องเร่งรัดดูรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่องสภาพคล่อง

 

นายกูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ส.ว. เสนอความเห็นไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ว่า 1.รัฐบาลต้องเตรียมวัคซีน เข็มที่ 4 ให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 58 ล้านคน ในปี 2565 โดยรัฐบาลต้อง เตรียมวัคซีนอย่างน้อย 232 ล้านโดส ปัจจุบันรัฐบาลมีสัญญาซื้อวัคซีน 130 ล้านโดส ยังขาดอีก 102 ล้านโดส ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งทำสัญญานำเข้าและประกาศความพร้อมฉีดวัคซีนในปี 2565

ทั้งนี้ตนไม่ใช่หมอ หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่ชำนาญบริหารความเสี่ยง ดังนั้นต้องเตรียมวัคฉีนเข็ม 4 ไว้เพราะโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนาน โดยต้องเตรียมวัคซีน ปี 2566 จำนวน 1 เข็ม และ ปี 2567 อีก 1 เข็ม 2.รัฐบาลต้อง เตรียมพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยสนับสนุนบริษัทเอกชน และสถาบันที่ทำวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อลดภาระนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และ 3.ต้องพัฒนาวัคซีนทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่มีความเป็นธรรมเท่าที่ควร งบประมาณที่ได้รับเมื่อเฉลี่ยแล้วถือว่าได้รับจัดสรรน้อย นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลยังมีนโยบายผ่อนปรนภาษีท้องที่ ทั้งการปรับลดและขยายเวลาชำระภาษี ในปี 2564 ทำให้ อปท. มีงบประมาณในการบริหารงานไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาของประชาชนมีความล่าช้า โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นปัญหาเร่งด่วน จึงขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้กับ อปท.เพิ่ม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของประชาชนทั่วถึงและเป็นธรรม ลดความเลื่อมล้ำในพื้นที่

 

ขณะที่ นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มจังหวัด ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการเท่าที่ควร ทำให้งบประมาณในบางปีมีการเบิกจ่ายไม่เต็มประสิทธิภาพ ขาดการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ จึงขอให้มีการทบทวนทิศทางการจัดสรรงบประมาณให้ทั่วถึง

สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ และให้ยึดปัญหาของพื้นที่เป็นหลักในการจัดทำโครงการ อีกทั้งต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้รวดเร็ว และขอให้นำแผนการพัฒนาตำบลที่จัดทำขึ้นโดยภาคประชาชน มาประกอบการจัดทำโครงการของภาครัฐด้วย

ด้าน พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา ทักท้วงเกี่ยวกับข้อสังเกตของกรรมาธิการที่ขอให้สำนักงบประมาณ ปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้านการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดออกจากกฎหมาย โดยขอให้มุ่งเน้นเฉพาะด้านการเยียวยา และการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร จึงขอคัดค้านและขอให้มีการทบทวนในส่วนของงบกลางใหม่อีกครั้ง เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง

นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ

ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญ พร้อมท้วงติงถึงมาตรการเยียวยานักเรียนช่วงสถานการณ์โควิด-19 รายละ 2,000 บาท เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งระบบ

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ควรมีการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ ใช้กลไกต่าง ๆ เข้ามาแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษา

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง