ทวี อภิปราย “ประยุทธ์-เฉลิมชัย” ทุบราคายางตกต่ำ

การเมือง
31 ส.ค. 64
16:40
317
Logo Thai PBS
ทวี อภิปราย “ประยุทธ์-เฉลิมชัย” ทุบราคายางตกต่ำ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ร่วมทุจริตทุบราคายางตกต่ำ ปูดขบวนการฮั้วประมูล สร้างความเสียหายร้ายแรง ต้องใช้หนี้สาธารณะจำนวนมาก

วันนี้ (31 ส.ค.2564) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ มีตำแหน่งเป็นรองประธานฯ ตนมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่า ทั้งสองคนทำผิดกฎหมายหลายฉบับ

เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันบงการใช้จ้างวานและยุยงส่งเสริม ให้การยางแห่งประเทศไทยกระทำผิด นำเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยฮั้วประมูล กระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผิดวินัยการเงินการคลัง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ทั้งสองคนนำยางในสต็อกของรัฐบาล 1.4 แสนตัน จาก 17 โกดัง ไประบายฮั้วประมูล โดยเป็นยางที่เกิดจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 5.3 หมื่นตัน และโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 5.1 หมื่นตัน

พ.ต.อ.ทวีอภิปรายต่อว่า ที่บอกว่าฮั้วประมูล เพราะสั่งให้นำยางไปขายในราคา กก.ละ 37 บาท ขณะที่ราคายางขณะนั้นอยู่ที่ กก.ละ 65 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเกือบ 30 บาท ทั้งที่เป็นยางคุณภาพดี สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อรัฐบาล ต่อระบบธุรกิจ และกับเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.7 ล้านครอบครัว พื้นที่ปลูกยางรวมกว่า 21 ล้านไร่

ผมขอเรียกว่า เป็นแผนประทุษร้ายเกษตรกรและเศรษฐกิจในประเทศ เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายว่า คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และนายเฉลิมชัย เป็นรองประธาน จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2563 มีดำริให้ระบายยางในสต็อก ปรากฏว่า วันที่ 14 ก.ค.2563 ทั้งสองคน ได้แต่งตั้งผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย คนใหม่

จุดที่เริ่มไปสู่หายนะของวงการยาง คือเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 นายเฉลิมชัย เสนอ ครม.ขอขายยาง ต่อมา 3 พ.ย.2563 ครม.มีมติให้เร่งรัดระบายยางให้หมดโดยเร็ว ทั้งที่ราคายางไม่มีเสถียรภาพ ราคามีแต่จะต่ำลง

ท่านไม่มีสิทธินำมาขายด้วยซ้ำ นี่คือคำสั่งบงการใช้จ้างวานสั่งให้ รมว.เกษตรฯ ไปขาย ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าวส่อไปทางผิดกฎหมายหลายประการ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า มติ ครม.ดังกล่าว ส่อผิดกฎหมายหลายประการ เช่น ข้อบังคับ คกก.ยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์ พ.ศ.2561 ข้อ 6 ออกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 8 ที่ต้องคุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ที่ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง

นอกจากนี้ มีการทุบราคายางผ่านคณะกรรมการบริหารสต็อกยาง โดยเมื่อเดือน มี.ค.64 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 37 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 67 บาท ทีโออาร์ก็ล็อกสเปกต้องเหมาทั้ง 17 โกดัง แสนกว่าตัน ต้องแสดงหลักฐานการเงิน 1 พันล้านบาท วางหลักประกัน 200 ล้านบาท

สุดท้ายวันที่ 20 เม.ย.2564 มีเพียงบริษัทเสนอราคารายเดียวและชนะประมูล ซึ่งราคาส่วนต่างนี้ทำให้เงินหายไปมาก เป็นหนี้สาธารณะ เป็นภาษีอากรของคนตัวเล็กตัวน้อย และหลังจากเซ็นสัญญาซื้อขาย ครม.แปลงสารโดยสั่งให้ระบายยางออกให้หมดโดยเร็ว ซึ่งนอกจากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทุบราคาแล้ว ยังปิดบังสัญญาซื้อขายด้วย

จากพฤติกรรมดังกล่าวทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และนายเฉลิมชัย ทุจริตเชิงนโยบาย เอายางที่ต้องใช้รักษาเสถียรภาพราคาเอาออกมาขาย อาชญากรไม่ได้หมายความถึงผู้ที่กระทำอาชญากรรมเท่านั้น เขาให้หมายความรวมถึงคำสั่งของคณะรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมาย การขายยางครั้งนี้จะเกิดขึ้นไมได้เลยถ้าไม่มีมติ ครม.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการทุจริต สร้างความเสียหายร้ายแรง ทำให้เราต้องใช้หนี้สาธารณะจำนวนมาก ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพราคายางได้ รับใช้นักธุรกิจ ทุจริตโดยการทุบราคายาง ผมจึงไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และนายเฉลิมชัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง