"นายกฯ"ย้ำให้ความสำคัญแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วงโควิด

การเมือง
1 ก.ย. 64
16:27
1,066
Logo Thai PBS
"นายกฯ"ย้ำให้ความสำคัญแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วงโควิด
นายกฯระบุใช้นโยบายการเงินขนาดใหญ่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจช่วง COVID-19 ยืนยันแก้ไขปัญหา COVID-19 เต็มที่ ชี้ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อของไทยอัตราเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

วันนี้ (1 ก.ย.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รมว.กลาโหม ชี้แจงการอภิปรายไม่วางใจ โดยระบุถึงการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญด้านการเกษตรอย่างยิ่งยวด ขณะที่พืชหลัก 6 ชนิดวันนี้ไม่เหมือนเดิม ในตลาดโลกเปลี่ยนไปแล้ว เช่นการระบุว่า ราคายางควรอยู่ที่ กก.ละ 120 บาท ข้าวควรจะอยู่ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งถามว่า แล้วท่านจะไปขายให้ใคร ในราคาที่ว่านี้

ขณะนี้มีการดำเนินโครงการประกันราคาข้าวตาม ม.28 อยู่ โดยดำเนินการอย่างเต็มจำนวนแล้ว เพราะฉะนั้นราคาข้าว ไม่ใช่ราคาที่เราตั้งได้เอง ก็ต้องตามกติกาสากล การส่งออก ปลูกเยอะ โรงสีจะซื้อหรือไม่จะแข่งขันได้หรือไม่ จะไปแข่งขันได้หรือไม่ ต้องแก้ไขทั้งต้นทางไปจนถึงปลายทาง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า งบประมาณเงินกู้ชี้แจงไปหลายครั้ง ใช้ไปจำนวนมาก และดำเนินการตามระเบียบ รับรองเงินหลวงตกน้ำไม่ใช้ในทางที่ไม่ควร มีปัญหาก็ให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ เรื่องวัคซีนเตรียมมาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ขณะนั้นยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจน ก็ทยอยจัดหา เพราะเป็นวัคซีนฉุกเฉิน ขณะนี้ก็เข้ามาหลากหลายชนิด การเสียชีวิตของประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ผมจะมีความสุขได้เลย

ขณะที่เรื่องของการเดินทางกลับบ้านในช่วงแรกมีปัญหา แต่ช่วงหลังจัดรูปแบบให้อยู่ในโรงพยาบาลสนาม Home isolation และ Community Isolation ก็ดีขึ้น วันนี้สถิติทุกอย่างเริ่มดีขึ้นทุกอย่าง แต่ก็ต้องมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่เสมอ เพราะต้องทำงานให้กับคนจำนวนมาก

พล.อ.ประยุทธ์ ยังชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหา COVID-19 โดยระบุว่า เป็นวิกฤตระดับโลก ซึ่งสัมพันธ์ไปทางการบิน การเดินทาง ไม่เคยมีรัฐบาลเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่ก็ทำอย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยมาตรการต่างๆ ผ่านการปรึกษาแพทย์ และหน่วยงานสาธารณสุขทั้งมาตรการต่าง ๆ เช่น จำกัดการเคลื่อนที่ และมาตรการอื่น ๆ

เดินหน้า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”

พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลนี้ทำมาหลายอย่างแล้ว และผลกระทบมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ ซึ่งต้องหนักแน่นอน เพราะทุกประเทศก็เจอเหมือนกัน โดยปี 2562 การท่องเที่ยวสร้างรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท

ซึ่งเมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยในปี 63 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 6.7 ล้านคน และในปี 2564 อาจจะต่ำกว่า 1 ล้านคน เนื่องจากมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งนี้พยายามทยอยเปิดการท่องเที่ยวเช่น "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" และหลายประเทศก็นำไปเป็นตัวอย่าง

 

ยอด “ติดเชื้อ-เสียชีวิต” ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เมื่อหากเทียบกับต่างประเทศก็พบว่าปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลกและภูมิภาค

 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า อัตราการติดเชื้อต่อประชากรของไทย เมื่อวันที่ 31 ส.ค.มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 1.77 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ที่ร้อยละ 2.97 ซึ่งคือขีดความสามารถของเรา ในเรื่องของการบริหารจัดการปัญหา COVID-19

ขณะที่อัตราการเสียชีวิต ค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 0.95 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ร้อยละ 2.07 ขอย้ำว่า ตายคนเดียวผมก็ไม่มีความสุข รัฐบาลก็ต้องการให้ดีกว่านี้ไม่อยากให้มีการสูญเสียแม้แต่เพียงคนเดียว หรือใครอยากให้มีการสูญเสียเพื่อนำมากล่าวในสภาฯ

ใช้นโยบายการเงินการคลัง ขนาดใหญ่ แก้ศก.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวใช้มาตรการทางการเงินขนาดใหญ่ เพื่อเยียวยาและรักษาเสถียรภาพ เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงโดยยกรายงานธนาคารโลก ที่ระบุว่า การระบาดหลายระลอกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ครึ่งแรกปี 2564 ที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางการคลังขนาดใหญ่ ทั้งมาตรการเงินเยียวยา เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายเอกชน ช่วยกลุ่มเปราะบาง และรัฐบาลได้ช่วยเหลือแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ จากร้อยละ 0.8 ของจีดีพี เป็น ร้อยละ 3.2 ของจีดีพีในปี 2563 ซึ่งก็ยังน้อยอยู่เพราะว่าความเดือดร้อนนั้นมากโดยช่วยทั้งเงินกู้ งบกลาง และอื่น ๆ

ขณะที่การจัดสรรเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยจ่ายเงินตรงไปยังบัญชีซึ่งแก้ไขปัญหาการทุจริตด้วย และเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ขณะที่การแก้ไขความยากจนจะแก้ไขในครัวเรือน

นอกจากนี้ จากรายงานของธนาคารโลก ยังวิเคราะห์ระดับหนี้สาธารณะของไทยว่า ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และไม่ส่งผลกระทบในระยะปานกลาง

ขณะที่ IMF รายงานว่า ไทยใช้นโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาโควิดขนาดใหญ่ประมาณ ร้อยละ 11.4 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 รองจากชิลี และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศเศรษฐกิจแนวหน้าเช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น

ดังนั้นจากรายงานของทั้ง 2 แห่งพบว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเฉลี่ยทั้งโลกแตะระดับร้อยละ 99 ของจีดีพี แต่ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 60

เร่งลดภาระให้ประชาชน

ขณะที่การเยียวยาประชาชนพบว่า ปริมาณเงินที่เข้าสู่กระเป๋าประชาชนโดยตรงประมาณ 8.5 แสนล้านบาท ไปสู่ประชาชนโดยตรงกว่า 42.3 ล้านคน แม้ว่าจะกู้เงินมาแต่ยังคงรักษาวินัยการคลังและมีเพดานหนี้ที่ต่ำกว่า โดย เงินจำนวน 8.5 แสนล้านบาทคือกว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร้อยละ 5 ของจีดีพี

นอกจากนี้ยังมีการลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟ ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมและอื่น ๆ และผ่อนปรนการชำระหนี้และลดภาระหนี้ ไปจนถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย และได้ลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยออกกฎหมายเป็นการถาวร และช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนไปแล้ว 5.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวมกว่า 1.91 ล้านล้านบาท

ขณะที่ลูกหนี้ภาคธุรกิจช่วยเหลือกว่า 8.9 แสนราย ยอดหนี้กว่า 1.94 ล้านล้านบาท รวมถึงแก้ไขหนี้ กยศ. จำนวน 6.4 ล้านราย ยอดหนี้ 4.5 แสนล้านบาท แก้ไขหนี้สินครู 9 แสนราย ยอดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท

ปฏิเสธเอื้อประโยชน์นายทุน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ขณะที่การอภิปรายการใช้งบประมาณที่ระบุว่าเกี่ยวข้องกับนายทุน พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไม่เคยทำเช่นนั้น

เรื่องการใช้บประมาณและพูดว่าผมไปพินอบพิเทาเจ้าสัว นายทุน ซึ่งตนเองไม่เคย ไม่เคยต้องทำเช่นนั้นกับใคร มีศักดิ์ศรี ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เคยเจรจานอกรอบ นอกกรอบ กับใคร ไม่ใช่นิสัยของผม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง