"วิสาร" ถามนายกฯ งบกล้องฯ 7 พันล้านไปไหน ระบุโยกย้าย ตร.ต้องจ่าย

การเมือง
2 ก.ย. 64
14:46
649
Logo Thai PBS
"วิสาร" ถามนายกฯ งบกล้องฯ 7 พันล้านไปไหน ระบุโยกย้าย ตร.ต้องจ่าย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติล้มเหลว มีการซื้อขายตำแหน่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น พร้อมกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ส่อทุจริตโครงการ 191

วันนี้ (2 ก.ย.2564) นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี เรื่องความล้มเหลวและการทุจริตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะงานด้านความยุติธรรมและการบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557 กำกับในฐานะนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม มาดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

แต่จากความใจดีของ พล.อ.ประวิตร ทำให้เกิดความล้มเหลวผิดพลาดในวงการตำรวจ มีการคิดค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งโยกย้าย ไม่มีการแต่งตั้งตามลำดับอาวุโส ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดความล้มเหลว

มีกองบัญชาการหนึ่ง จะมีคนเข้ารับตำแหน่งในเดือน ต.ค.นี้ ในตำแหน่งผู้บัญชาการ มีคนบอกว่า ลง 200 ล้านบาท ไม่ได้ แล้วคนที่ได้ต้องลงเท่าไหร่ ผู้บัญชาการไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งผู้บังคับการ ผู้บังคับการก็ไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งผู้กำกับการ มีผู้กำกับการอายุไม่ถึง 40 ปี แล้วจะอยู่กันอย่างไร

ในอดีตการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจไม่เลวร้ายขนาดนี้ ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง การซื้อขายตำแหน่งเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด เพราะตำรวจเป็นคนถือกฎหมาย การซื้อขายตำแหน่งส่งผลกระทบกับประชาชน เพราะตำรวจเรียกรับส่วย เหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่ควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ส่อทุจริตโครงการ 191

นายวิสาร ระบุว่า ยังมีที่เรื่องทุจริตในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมขอกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทุจริตโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (191) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดระดับจังหวัดและระดับภาคทั่วประเทศ โดยใช้เพียงหมายเลข 191 ในการแจ้งเหตุภัยต่าง ๆ โดยนำเงินมาจากกองทุน กสทช.จำนวน 7,000 ล้านบาท

โครงการนี้จะรวมศูนย์ที่ตำรวจ ถ้ามีไฟไหม้ น้ำท่วม ก็แจ้งมาที่ 191 ได้ แต่ทุกวันนี้ท้องถิ่นเขาจัดการปัญหาต่าง ๆ กันดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีโครงการนี้

 

โครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ มีพฤติกรรมส่อให้เห็นการล็อกสเปค โครงการนี้มีตั้งแต่ปี  2561 มีการเปิดประมูลแบบ e-bidding แต่ปี 2563 กลับยกการประมูลดังกล่าว แบบไม่มีเหตุผล หลังจากนั้น 2-3 เดือน มีการใช้วิธีพิเศษ แต่ก็มีการยกเลิกอีก และหลังจากนั้นก็มีการแก้ไขทีโออาร์ 

การเปลี่ยนแปลงการประมูลและการยกเลิกครั้งแล้วครั้งเล่า ส่อให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงการ งานด้านเทคโนโลยีต้องมีการอัปเดตทุก ๆ 6 เดือน แต่โครงการนี้ล่วงเลยเวลามา 2 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ เทคโนโลยีที่นำมาใช้น่าจะไม่ทันสมัยแล้ว 

โครงการนี้ตังทอนจะไปที่ไหน เรื่องนี้นายกฯ ต้องตอบ ประมูลแล้วยกเลิก จะประมูลใหม่ เพื่อให้ได้บริษัทที่อยากได้หรือเปล่า ผมกล่าวหาว่า โครงการ 7,000 กว่าล้านบาทนี้ ส่อเจตนาทุจริต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง