ภาคประชาชน ค้านต่ออายุนำเข้าขยะ - เสนอจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบนำเข้าขยะ

สิ่งแวดล้อม
2 ก.ย. 64
18:24
1,189
Logo Thai PBS
ภาคประชาชน ค้านต่ออายุนำเข้าขยะ  - เสนอจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบนำเข้าขยะ
ภาคประชาชนย้ำจุดยืนคัดค้านนำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มในปี 64 ชี้กฎหมายมีช่องโหว่ เสนอกรมควบคุมมลพิษจัดตั้งหน่วยงานพิเศษตรวจสอบการนำเข้าและให้สัตยาบันตามอนุสัญญาบาเซล ชี้กระทบซาเล้ง

วันนี้ (2 ก.ย.2564) ภาคประชาชนแถลงคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติก ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หลังบางส่วนไม่สามารถเข้าร่วมในการประชุมของคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ในวันนี้ได้

 

รุ่งธิวา ฝัดศิริ ตัวแทนผู้ประกอบการซาเล้ง กล่าวว่า การนำเข้าเศษพลาสติกจะทำให้กลไกราคาเปลี่ยน ซาเล้งทำงานไม่ได้ และซาเล้งจะไม่เก็บขยะไปขาย ซึ่งซาเล้งเป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่ไม่เคยได้รับสวัสดิการใด ๆ จากภาครัฐเลย

ซาเล้งทำงานเก็บขยะ แต่ได้รับแค่เศษเงิน แต่พวกคุณอาจจะได้เศษเงินจากนักลงทุน จากการยอมอนุมัติในวันนี้ จำไว้นะ คุณได้ทำลายคนจนๆ ที่เขามีอาชีพเก็บขยะในประเทศนับร้อยคน

ขณะที่นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้ก่อตั้งเพจ "ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป" กล่าวว่า การตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก แต่ว่าผลการทำงานที่ออกมาสวนทางกัน โดยอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติกในช่วงเวลาที่จำกัด ซึ่งไม่ค่อยเข้าท่า เนื่องจากประชาชนก็จะสงสัยในเหตุผลเดียกัน คือ ขยะในประเทศไม่เพียงพอหรือไม่ และนำเข้ามาด้วยเหตุผลใด บอกได้คำถามเดียวว่า ภาคประชาชนไม่พอใจ

 

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง คือแก้ที่ต้นเหตุ เช่น หากระบุว่า ขยะในประเทศไม่เพียงพอและไม่สะอาดพอ ก็ต้องไปปรับปรุงตรงนั้น ซึ่งไม่ใช่การต่อเวลาโควต้านำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งควรงดการนำเข้าต่อไป 2 ปี เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ซาเล้ง เพราะผู้รับซื้อมีขยะในราคาที่ถูกกว่ามาทดแทนและสะอาดกว่า ซึ่งกระบวนการในประเทศจะล่มแน่นอน

เราพยายามให้ความร่วมมือ แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากอีกฝั่งคือ ภาคอุตสาหกรรมต้องการขยะแบบไหน สเป็กอย่างไร ใช้ในเมืองไทยกี่เปอร์เซนต์ก็ไม่ค่อยได้รับคำตอบ และถูกกีดกันในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

นายชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า รู้สึกเสียใจในการถูกดีดออกมาจากที่ประชุม (ผ่านโปรแกรมซูม) ในช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยซาเล้งถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างน้อยควรได้เข้าไปนั่งฟังแต่ในครั้งนี้ไม่มีโอกาสได้พูดและฟัง

 

มติสมาคมซาเล้งขอยืนยัน 3 ข้อ คือ 1.คัดค้านการอนุมัติการนำเข้าเศษพลาสติกที่กำลังพิจารณาในขณะนี้ 2.สมาคมขอคัดค้านอนุญาตให้การนำเข้าเศษพลาสติกในเขตฟรีโซน ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้า โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายคนละฉบับ 3.การนำเข้าตามพิกัดศุลกากร 3915 ซึ่งเป็นพิกัดการรวมทุกชนิดของขยะพลาสติกเป็นการเปิดช่องให้นำเข้ามาได้

เหตุผลคือ 3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงปี 61-63 จากข้อมูลกรมศุลกากร พบนำเข้าขยะกว่า 1 ล้านตัน โดยรีไซเคิลเสร็จและส่งออกไปต่างประเทศจำนวน 4 แสนตัน และเหลือคงค้าง 6 แสนตัน และอ้างว่าเป็นขยะที่สะอาดและราคาถูก ซึ่งขยะที่คงค้างกว่า 6 แสนตันควรนำไปใช้ให้หมดก่อนจึงจะนำเข้าอีกครั้ง

นายชัยยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ผู้ประกอบการนำเข้าก็ทราบดีว่า วัตถุดิบมีไม่เพียงพอ และควรพัฒนาศักยภาพโรงงานโดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุมัตินำเข้าเม็ดพลาสติกให้ฉีดเป็นชิ้นงานขายในและต่างประเทศ ให้ตัวเลขส่งออกสูงขึ้น และภาคการรีไซเคิลจากดีขึ้น และทรัพยากร อาชีพซาเล้ง ทุกอย่างจะดีขึ้น และจะติดตามดูต่อไปว่า จะมีการอนุญาตให้นำเข้าต่อไปอีกในช่วง 2-5 ปีนี้หรือไม่

ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเข้าร่วมประชุมในช่วงเช้าที่ผ่านมา และแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม โดยระบุว่า วันนี้ได้รับเชิญให้เข้าไปให้ข้อมูล ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ และแสดงความคิดเห็นและนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้รับทราบข้อมูล และเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าจะดำเนินในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ น่าจะอยู่ผิดกระทรวง น่าจะอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมเพราะไม่มีมิติของสิ่งแวดล้อมหรือการรักษาทรัพยากรของประเทศเลย และยังตั้งคำถามว่า วันนี้มีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้เลย จากนั้นก็ถูกดีดออกจากการประชุมทีละคน ทั้งที่ได้รับเชิญถูกต้อง

“สุริยะ” เคยเบรกนำเข้าขยะ

เพ็ญโฉม ยังระบุว่า ได้กล่าวในการประชุมว่า เรื่องการนำเข้าพลาสติกประเด็นระดับโลกไม่ใช่เพียงระดับท้องถิ่น ไม่อยากให้รัฐบาลไทยเสียภาพลักษณ์จากการปรับเปลี่ยนไปมา

ก่อนหน้านี้ทราบว่า นายวราวุธได้เคยพูดคุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายสุริยะได้พูดว่า ทำไมจึงจะขยายเวลาการนำเข้าขยะไปอีก 5 ปี ซึ่งการนำเข้าขยะควรสิ้นสุดในปี 2564 จึงมีความสับสนว่า ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่าง รมว.อุตสาหกรรม ขัดแย้งภายในกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ หรือมีนโยบายที่ขัดแย้งกันเอง และเจตจำนงที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าขยะพลาสติกเป็นอย่างไร

มีคำถามว่าตัวแทนจากภาคเอกชนอยู่ในการประชุมตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ถูกดีดออกซักคนเดียว แต่ภาคประชาชนถูกดีดออกมา

จี้ตรวจสอบอำนาจนำเข้า “ขยะพลาสติก”

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ระบุว่า ได้ยุติการนำเข้าเศษขยะพลาสติกแล้วตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า ยุติการอนุมัติจริงหรือไม่ ซึ่งพบว่า โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าพลาสติก ได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

แม้ว่าจะมีความพยายามปฏิเสธ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าไม่มีอำนาจ อำนาจอยู่ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของกฎหมายพบว่า กระทรวงพาณิชย์ได้โอนอำนาจการนำเข้าขยะไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามกฎหมายและบทบาท จนถึงทุกวันนี้

อยากให้มีการสอบสวนจริง ๆ ว่า ใบอนุญาตที่มีการอนุมัติให้นำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561-2563 หรือจนถึงปัจจุบันที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำเข้าขยะ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กระทำผิดหรือละเมิดอำนาจหรือไม่ หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อสังคมหรือไม่

ทั้งนี้ได้แจ้งข้อมูลต่อนายวราวุธในทุกประเด็น รวมถึงข้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ที่ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกฎหมายที่กำลังทยอยออกของกรมศุลกากร ซึ่งรัฐมนตรีเพิ่งทราบว่า มีระบบโควตา ที่อนุมัติให้นำเข้าเป็นระบบเหมาเข่ง ซึ่งทำให้มีการนำเข้าเกินโควตาและอาจนำเข้าผิด


ตั้งข้อสังเกตผู้ถือใบอนุญาตนำเข้าขยะ

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ถือใบอนุญาตนำเข้ามีความหลากหลายมาก ทั้งการคัดแยก ล้าง บด และหลอมพลาสติก รวมถึงมีโรงงานและบริษัทนำเข้าจำนวนหนึ่งที่ถือใบอนุญาตเฉพาะการคัดแยก และอีกหลายร้อยแห่งที่ถือใบอนุญาตเฉพาะเรื่องประกอบการขนส่ง

เพ็ญโฉม กล่าวต่อว่า คำถามหลักคือ บริษัทที่ถือใบอนุญาตเฉพาะการคัดแยก กับผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมาย ซึ่งการถือใบอนุญาตเฉพาะการคัดแยก จะเป็นการนำเข้าเศษพลาสติกมาเพื่อคัดแยกหรือไม่ ซึ่งจะสวนทางจากการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม อนุมัติให้นำเข้านั้นเป็นพลาสติกที่คัดแยกแล้วและสะอาด

รวมถึงบริษัทผู้ประกอบการขนส่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าพลาสติก คำถามคือ บริษัทเหล่านี้นำเข้ามาเพื่อคัดแยกและส่งต่อหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ห้ามส่งต่อซึ่งควรมีการสอบสวน

ช่องโหว่กฎหมายหลายฉบับ

นอกจากนี้ กรมโรงานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกรมศุลกากร มีความขัดแย้งกันพอสมควรเพราะแต่ถือกฏหมายที่ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตนเองไม่สามารถที่จะก้าวก่ายกันได้

ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการนำเข้าขยะนับแสนตันได้อย่างไร เช่น การนิคมอุตสาหกรรมสามารถอนุมัติให้นำเข้าพลาสติกในเขตประกอบการเสรี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาของคณะอนุหกรรมการชุดนี้และการอนุมัตินำเข้าของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

ขณะที่กรมศุลการกร จัดตั้งเขตปลอดอากร โดยระบุว่า เขตปลอดอากรไม่สามารถนำเข้าเศษพลาสติกมาได้ ยกเว้นการนำเข้าเศษพลาสติกมาเพื่อรีไซเคิลเพื่อส่งออก โดยกรมศุลกกรระบุว่า ตนเองมีอำนาจแค่ประกาศเขตปลอดอาการ แต่อำนาจการให้นำเข้าเศษพลาสติกอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงเป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน

เสนอตั้งหน่วยงานพิเศษตรวจสอบนำเข้าขยะ

เพ็ญโฉม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเสนอให้ที่ประชุม โดยให้กรมควบคุมมลพิษ ตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาดูแล เนื่องจากหน่วยงานตำรวจสากลเคยทำรายงานออกมาเมื่อเดือน ส.ค.2563 ว่า การนำเข้าขยะข้ามแดนเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมและอาชญกรรมข้ามชาติ

 

ทั้งนี้หน่วยงานพิเศษนี้อาจทำงานร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากการนำเข้าทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะเศษพลาสติกมีการนำเข้าที่สำแดงเท็จ และเกินโควตา ไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งที่ยังคงมีอยู่ในขณะนี้

หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในปี 2570 ว่าจะต้องรีไซเคิลพลาสติกในไทย 100 % ต้องมีหน่วยงานเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อติดตามจับกุม สอบสวนดำเนินคดีผู้นำเข้าพลาสติกที่ผิดสำแดง ผิดกฎหมาย หรือบิดเบือน

ทั้งนี้ จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ต่อและยืนยันข้อเรียกร้อง ในการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากร 3915 ซึ่งพิกัดนี้คือขยะ คือ พลาสติกที่ใช้แล้ว เนื่องจากไทยมีทรัพยากรเหล่านี้เพียงพอโดยไม่ต้องนำเข้า และการคัดแยกคุณภาพพลาสติกในไทยดีขึ้นเรื่อย ๆ

เพ็ญโฉมกล่าวว่า ย้ำว่าห้ามนำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มในปีนี้ เสนอกรมควบคุมมลพิษจัดตั้งหน่วยงานพิเศษตรวจสอบการนำเข้า และให้สัตยาบันตามอนุสัญญาบาเซล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง