"สุพัฒนพงษ์" โต้ปมเศรษฐกิจล้ม ยันไทยยังเข้มแข็ง-นักลงทุนเชื่อมั่น

การเมือง
2 ก.ย. 64
19:35
201
Logo Thai PBS
"สุพัฒนพงษ์" โต้ปมเศรษฐกิจล้ม ยันไทยยังเข้มแข็ง-นักลงทุนเชื่อมั่น
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ ชี้แจงปมเศรษฐกิจไทยล้มเหลว-ล้มละลาย ยืนยันไตรมาสล่าสุดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ 7.5% เอกชนยังเชื่อมั่นและสนใจลงทุน เร่งขับเคลื่อนนโยบายอุดหลุมรายได้จากภาคบริการ-ท่องเที่ยว

วันนี้ (2 ก.ย.2564) การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นวันที่ 3 เวลา 18.45 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ชี้แจงกรณีผู้อภิปรายระบุ "เศรษฐกิจไทยล้มเหลว ล้มละลาย ตกต่ำ พังเละ จมลง" ว่า อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ได้พังและล้มเหลวอย่างที่กล่าวกัน ในช่วงครึ่งปีมีอัตราการเติบโต 2% และไตรมาสล่าสุดเติบโต 7.5%

นอกจากนี้ ในกรณีผู้อภิปรายระบุถึงการล้มละลาย-โรงงานปิดจำนวนมากนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทปิดกิจการ 6,000 ราย ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 แต่ไม่มีผู้นำเสนอว่าเปิดกิจการอยู่ 46,700 ราย

ส่วนบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีกำไรครึ่งปี 2564 อยู่ 528,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2563 และปี 2562 ก่อนสถานการณ์ COVID-19 อีกทั้งตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วงครึ่งปี 2564 อยู่ที่ 386,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบกับปี 2563 จะอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท หากคาดการณ์ตัวเลขทั้งปี 2564 อยู่ที่ 700,000 ล้านบาท จะมีผู้ขอรับการลงทุนมากที่สุดในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าภาคเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศ มีความมั่นใจและสนใจเข้ามาลงทุนในไทย

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงกันว่าไทยล้มละลายจริงหรือ บริษัท Moody's Investors Service (มูดี้ส์) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ส่วนธนาคารพาณิชย์ไทยมีทุนจดทะเบียน และทุนเข้มแข็งเพียงพอ รองรับการแก้ปัญหาหนี้ทุกประเภท

อย่าเพิ่งได้รีบสรุปว่าเศรษฐกิจไทยขาดการลงทุน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของไทย ยังมีความพร้อม มีความเข้มแข็ง และพร้อมเติบโตไปข้างหน้า การกล่าวถึงความล้มเหลว จมดิ่ง เป็นการกล่าวที่เกินกว่าเหตุ

ส่วนกรณีผู้อภิปรายพูดเรื่องหลุมรายได้ ซึ่งในอดีตเคยพึ่งพารายได้จากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวถึง 20% ของจีดีพี ทำให้มีหลุมรายได้ และเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คิดนั้น นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะเป็นเรื่องของระยะเวลา แต่รัฐบาลไม่เคยหยุดนิ่ง และความร่วมมือต่าง ๆ จะปิดหลุมรายได้ดังกล่าวให้เต็ม ยกตัวอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ไม่ใช่เพียงการเปิดประเทศ แต่เป็นความร่วมมือของภาคประชาชนและทุกหน่วยงาน เป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 ที่หลายประเทศจับตามอง ขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และพร้อมเปิดรับเพิ่มในช่วงไฮซีชั่น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้ให้การส่งเสริมระบบอุตสาหกรรมใหม่ 12 ประเภท เช่น บริการดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง