"พล.อ.ชัยชาญ" ชี้แจงซื้อ "เครื่องบิน-ซ่อมรถ-เรือดำน้ำ" ยึดกฎหมาย

การเมือง
2 ก.ย. 64
19:46
147
Logo Thai PBS
"พล.อ.ชัยชาญ" ชี้แจงซื้อ "เครื่องบิน-ซ่อมรถ-เรือดำน้ำ" ยึดกฎหมาย
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม แจงกองทัพ ซื้อเครื่องบิน ซ่อมรถยนต์ เรือดำน้ำจีทูจี คำนึงถึงกฎหมาย ย้ำจำเป็นต้องมียุทโธปกรณ์ปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงทางทะเล

วันนี้ (2 ก.ย.2564) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินการกำกับและสั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องป้องกันและแก้ไขสถานการณ์โควิดในส่วนที่รับผิดชอบ ที่ระบุว่า มีอัตราแสนรายเศษนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกำลังตำรวจ เพราะว่ามีกำลังตำรวจอยู่ทั่วประเทศ มีกำลังกองทัพบก และกำลังตามแนวชายแดน ทั้งหมดเป็นกำลังที่ส่วนใหญ่ปฎิบัติอยู่แล้ว แต่นำเข้าไปอยู่ในกรอบของ ศปม.

งบประมาณจะเป็นเบี้ยเลี้ยง 92% ให้กับผู้ที่ออกปฎิบัติงานเท่านั้น ในที่ตั้งปกติก็จะไม่ได้รับ เบิกคนละ 200 บาทต่อวัน ส่วน 420 บาท นั้นก็คือ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

"เรื่องสิทธิวันทวีคูณนั้นเป็นการปฎิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เรื่องของสิทธิเรื่องของวันทวีคูณ และไม่ได้ย้อนหลังอะไร"

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ในงบกลาง นอกจาก รพ.สนามแล้ว ยังนำไปสร้างห้องความดันลบ ระบบออกซิเจน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ การตั้งโรงพยาบาลสนามไม่ใช่ว่ามีแค่เตียงอย่างเดียว ก็จะมีระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบอากาศ สาธารณูปโภค สาธารณสุขต่าง ๆ ด้วย

ส่วนตามแนวชายแดนที่มีเรื่องของงบประมาณเพิ่มเติมนั้น ก็เป็นงบประมาณที่ได้จัดกำลังไปเพิ่มเติม ในจุดเส้นทางที่คาดว่าจะมีการลักลอบเข้ามา ตามแนวชายแดน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของเบี้ยเลี้ยง

 

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า ส่วนการจัดหาเครื่องบินอเนกประสงค์ที่ใช้หลากหลายภารกิจ 1,272 ล้านบาท ไม่มีส่วนต่าง เพราะกรอบงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.

ส่วนโครงการซ่อมปรับปรุงรถ M35 กองทัพบกได้พิจารณาแล้วเห็นว่า รถที่มี 2,600 คัน นั้นชำรุดประมาณ 1,000 คัน เดิมจะมีโครงการจัดหา แต่ต้องมีระยะเวลาดำเนินการเพราะต้องคัดเลือกแบบ แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่เอื้ออำนวย จึงปรับปรุงรถที่มีอยู่เพื่อให้ใช้งานได้ต่อไปอีก 10 ปี การปรับปรุงได้มอบหมายให้หน่วยสรรพาวุธดำเนินการ คันละ 2 ล้านบาท

ส่วนมาตรฐานในการปรับปรุงนั้น กองทัพจัดทำรถต้นแบบเพื่อเป็นมาตรฐาน และกรรมการกองทัพบกได้ทดลองใช้ในภูมิประเทศต่าง ๆ สามารถใช้ได้ดี และได้ดำเนินการมาแล้ว 100 คัน จึงมีแนวความคิดปรับปรุงเพื่อยืดอายุการใช้งาน โครงการเดิมคือจะจัดหาเพิ่มเติม 169 คัน แต่หากปรับปรุงจะทำให้ได้ 259 คัน

ส่วนรถ Unimog หากจัดหาใหม่ในตอนนี้ ประมาณคันละ 8.2 ล้านบาท จึงคิดว่าหากปรับปรุง 201 คัน ทำให้ได้รถที่สามารถปฏิบัติการในภูมิประเทศที่ยากลำบากและตอบสนองภารกิจได้มากกว่ารถที่ถูกยกมาเปรียบเทียบ ในส่วนของการทำงาน นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้กองทัพบกคำนึงถึงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ และทำให้มีประสิทธิภาพ 

 

พล.อ.ชัยชาญ ยังกล่าวถึงจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือ ที่มีความสำคัญและมีขีดความสามารถในการคุ้มครองผลประโยชน์โดยรวม ความมั่นคงของชาติทางทะเล ขณะที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ปี 2564 มีเรือดำน้ำเข้าประจำการหลายประเทศ เช่นอินโดนีเซียมี 5 ลำ กำลังจัดหาเพิ่มอีก 3 ลำ เป็น 8 ลำ สิงค์โปรมี 4 ลำ จัดหาเพิ่มอีก 2 ลำ เวียดนาม ปัจจุบันมี 6 ลำ ส่วนไทยอยู่ระหว่างการสร้างเรือ 1 ลำ 

ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเชื่อม 2 มหาสมุทร อาณาเขตทางทะเลคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ทางบก ทั้ง 2 ด้านมีพื้นที่ 323,488 ตร.กม. ขณะที่พื้นที่ทางทะเลมีการอ้างสิทธิโดยเฉพาะสถานการณ์ที่หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ที่มีการแข่งขันในเรื่องมหาอำนาจค่อนข้างมาก ฉะนั้นจึงต้องเตรียมการหากมีสถานการณ์เกิดขึ้นก็พร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ได้ การดำเนินการต่าง ๆ ไม่ได้เป็นการแข่งขันที่จะสะสมอาวุธ

"สำคัญคือเราต้องมีเครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ ที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ และคุ้มครองการขนส่งทางทะเล ความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาค"

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำที่ถูกยกสัญญาแบบรัฐต่อรัฐมาเปรียบเทียบ โดยมีฉบับที่เสียภาษีกับไม่เสียภาษี นั้น โรงงานวัตถุระเบิดต้องเสียภาษีเช่นกัน ซึ่งการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เป็นวิธีจัดซื้อจัดจ้าง มีรัฐเป็นคู่สัญญา และรับประกันความสำเร็จ การจัดซื้อต้องเสียภาษีตามประมวลกฎหมายรัษฎากร ที่ผ่านมากองทัพเรือได้ปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงการคลัง มีหนังสือชี้แจง แต่บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศ ทางกองทัพเรือได้หักภาษี 7% เพื่อส่งคืนคลัง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง