ธุรกิจการบินกลับสู่รันเวย์ ดิ้นขอซอฟต์โลนต่อลมหายใจ

เศรษฐกิจ
3 ก.ย. 64
19:30
465
Logo Thai PBS
ธุรกิจการบินกลับสู่รันเวย์ ดิ้นขอซอฟต์โลนต่อลมหายใจ
วันนี้ (3 ก.ย.) ธุรกิจการบินกลับมาทำการบินวันแรกอีกครั้งในประเทศ หลังจากปีที่ 2563 จำนวนผู้โดยสารหายไปจากวิกฤตโควิด-19 เหลือเพียง 50 ล้านคน หรือหายไป 60% ขณะที่ผู้ประกอบการพยายามขอสินเชื่อซอฟต์โลน แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ

วันนี้ (3 ก.ย.2564) หลังจาก ศบค.มีปลดล็อกกิจการ กิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 ซึ่งมีการอนุญาตให้ทำการบินได้อีกครั้ง แต่ในวันนี้เป็นวันที่สายการบินในประเทศกลับมาให้บริการครบทุกสายการบินเป็นวันแรก บนมาตรการที่ต้องควบคุมโรคเข้มข้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

อย่างไรก็ตาม การขึ้นเครื่องบินไปที่ไหนจะต้องดูกฎกติกาของต้นทางและปลายทางด้วย เช่น หากจะเดินทางไป จ.เชียงใหม่ จะต้องมีเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดง เช่น ฉีดวัคซีนแล้วตามเกณฑ์

หรือหากยังไม่ฉีดจะต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นลบจากห้องแล็บที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ หรือเป็นโควิด-19 แล้วหายไม่เกิน 90 วัน ส่วน จ.อุดรธานี จ.นครศรีธรรมราช มีข้อจำกัดมากกว่า

ขณะที่บางคนต้องเลือกเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือเลือกเดินทางไปลงสนามบินอื่นแทนตามที่เข้ากฎเกณฑ์ของจังหวัดนั้นๆ ได้ เมื่อมีปัญหาเอกสารรับรอง และอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เข้าใจถึงความปลอดภัย

ล็อกดาวน์กระทบธุรกิจหนัก

จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ ที่ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด และสายการบินถูกสั่งหยุดบินในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ทั้งนั้น ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2564 และผ่อนคลายเมื่อไม่กี่วัน

ทั้งนี้ หากย้อนไปไกลกว่านั้น นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่โควิด-19 เริ่มระบาด 3 ระลอก แม้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยไม่สั่งหยุดบิน แต่ผู้โดยสารมีน้อยจนสายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินไปโดยปริยาย

สถานการณ์การบินในประเทศบินได้ประมาณ 4-5 เดือน ก่อนมาเจอระลอกใหม่และนำมาสู่คำสั่งครั้งล่าสุด

จำนวนผู้โดยสารหายไป 60%

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารก่อนโควิด-19 ประมาณ 165 ล้านคน เมื่อการเดินทางไม่ปกติปีที่แล้ว เหลือเพียง 50 ล้านคน หรือผู้โดยสารหายไป 60% เครื่องบิน 170 ลำจอดสนิท พนักงาน 20,000 คนต้องดูแล ต้นทุนยังต้องจ่าย แต่รายได้หลายเดือนเป็นศูนย์

รายได้รวมของ 9 สายการบิน ก่อนโควิด-19 กว่า 300,000 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ 80,000 ล้านบาท ซึ่งรวมรายได้ของนกสกู๊ต กับการบินไทย แต่ในปัจจุบัน นกสกู๊ตได้เลิกกิจการในไทยไปแล้ว

จากตัวอย่างผลประกอบการสายการบินแอร์เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำที่ได้ชื่อว่าแข็งแรงที่สุด ขาดทุนตั้งแต่เริ่มมีการระบาด มาจนถึงไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมาล่าสุดขาดทุนเกือบ 1,700 ล้านบาท เป็นเหตุผลที่ผู้บริการแต่ละสายการบินต้องร้องขอเงินกู้จากรัฐ

จากวงเงินซอฟต์โลน 7 สายการบินที่ร้องขอ 24,000 ล้านบาท ลดเหลือ 5,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ สายการบินเตรียมหารือกับ รมว.คลัง ติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง วันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งจะนำเงินมาจ่ายค่าจ้างพนักงานช่วงครึ่งหลังของปี 2564

"แอร์ฯ - นักบิน" ปรับตัวรับโควิด

ปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาหลักของสายการบินยังไม่ได้คลายล็อก แต่สิ่งที่พนักงานต่างเฝ้ารอคอย คือการได้กลับมาทำงาน

น.ส.ภัทรภรณ์ พัวพงษ์ไพโรจน์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน กล่าวว่า เดือน ก.ย.นี้ จะมีบินแค่ 2 วัน โดยที่ผ่านมา ผลกระทบจากการหยุดบิน ทำให้รายได้หายไป จนบางเดือนเป็นศูนย์ ต้องปรับตัวหารายได้เสริม ลองทำทั้งขับแกร็บ ขายของ รวมทั้งเป็นนักพยากรณ์ หรือหมอดู

นายธิติวัฒน์ พจนานนท์ นักบิน กล่าวว่า ออกแบบตกแต่งร้านคาเฟ่ของตัวเอง โดยใช้คอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวข้องกับการบิน แต่กลับกลายเป็นว่าอาชีพเสริมมาทดแทนรายได้หลัก คาดว่าวงการการบินกลับมาแข็งแรงและเติบโตได้เหมือนเดิม ยังคิดถึงการบินอยู่ตลอด

อ่านข่าวอื่นๆ

จีนเรียกร้องยุติด้อยค่าวัคซีน "ซิโนแวค" โดยไร้เหตุผล

กทม.เปิดทำบัตรประชาชนวันละ 60 คน แบ่งจองคิวออนไลน์และ Walk-in

ครู-นักเรียน รร.กีฬาเทศบาลนครแม่สอด ติดโควิด 37 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง