"โฮมสคูล บับเบิ้ล" อีกทางเลือกการศึกษาช่วงโควิด

สังคม
10 ก.ย. 64
07:25
3,702
Logo Thai PBS
"โฮมสคูล บับเบิ้ล" อีกทางเลือกการศึกษาช่วงโควิด
ลูกไม่มีความสุขต้องเรียนออนไลน์หลักสูตรโรงเรียน ตามเนื้อหาไม่ทัน พ่อแม่เครียด หลายครอบครัวเผชิญปัญหาการเรียนช่วง COVID-19 ยังไม่ชัดเมื่อใดสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับไปเรียนแบบ ON-SITE ได้ ผู้ปกครองบางส่วนตัดสินใจให้ลูกลาออก มารวมกลุ่มจัด "โฮมสคูล บับเบิ้ล"

"หาครูปฐมวัย ติดต่อคุณครูฝรั่ง-เหล่าซือจากที่ไหน ค่าใช้จ่าย รูปแบบการจัดการเรียนการสอน น้อง ๆ เรียนอะไรบ้าง" หลากหลายคำถามจากลูกเพจ Happy Homeschool Thailand ลูกเรียนเพลิน บันเทิงทั้งบ้าน

"สุทธินันท์ มณีหล่อสวัสดิ์" และเพื่อนอีก 2 คน ตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อให้คำแนะนำและคลายข้อสงสัยกับผู้ปกครอง เกี่ยวกับการเรียนแบบโฮมสคูล บับเบิ้ล พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก แต่หลายบ้านติดปัญหาค่าใช้จ่าย และไม่สามารถหาบุคลากรได้

เมื่อ ร.ร.จัดสอนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์

เธอเล่าย้อนไปถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หลัง "ลานิ" ลูกสาววัย 4 ขวบ ต้องเรียนหลักสูตรออนไลน์ของโรงเรียน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เรียนวันละ 2 วิชา 45 นาที หรือเฉลี่ย 1 วิชาใช้เวลา 22.50 นาที ถือว่าเร็วมาก สำหรับเด็กระดับชั้นอนุบาล 2 ยกตัวอย่างวิชาภาษาไทย เรียนรู้ "สระอุ สระอู" เด็กยังจำสระอุไม่ได้ ก็เข้าสู่เนื้อหาของสระอูแล้ว

ภาระหนักอยู่กับผู้ปกครอง เพื่อให้น้องเรียนตามทัน แต่ตัวเองและสามีมีงานที่ต้องทำ จึงต้องแบ่งเวลามาสอนลูกให้ทันเนื้อหาของโรงเรียนที่ค่อนข้างเร็ว

เมื่อสอนแล้วลูกไม่เข้าใจ ไม่มีเครื่องมือถ่ายทอดให้เด็กเล็กเข้าใจเนื้อหาการเรียนรู้ นำไปสู่ความเครียดสะสมของผู้ปกครอง และเด็กเรียนไม่สนุก เธอสังเกตว่า ลานิ เป็นลูกคนเดียว เกิดความเบื่อหน่ายจากเรียนออนไลน์ จึงกังวลว่าลูกจะขาดทักษะการเข้าสังคมและไม่ได้พัฒนาด้านภาษา

 

"สุทธินันท์" เชื่อว่าหากปล่อยไปเรื่อย ๆ ลูกสาวอาจมีภาวะถดถอย ไม่ได้พูดคุยภาษาอังกฤษและจีนเหมือนการเรียนปกติ จึงไปคุยกับทางโรงเรียนให้แก้ปัญหา เช่น ขยายเวลาสอนเป็น 1 ชั่วโมง ให้เด็กฝึกภาษาทุกวัน หรือเสริมอุปกรณ์การเรียน แต่ผ่านไป 1 เดือนไม่ได้รับการตอบรับ

อีกทั้งประเมินว่า อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2564 ที่สถานการณ์ COVID-19 จะมีแนวโน้มดีขึ้น จึงคุยกับผู้ปกครองเพื่อนของลูก คือ แม่น้องสกาย แม่น้องเซนกิ ที่ละแวกบ้านอยู่ใกล้กัน ขับรถไม่เกิน 5 นาที ทั้ง 2 คนได้สะท้อนปัญหาจากการจัดการเรียนออนไลน์ของทางโรงเรียนไม่ต่างกัน

ต่อมาทางโรงเรียนยื่นข้อเสนอส่วนลดค่าเทอม 10 % จาก 150,000 บาท แต่เมื่อคำนวณว่าต้องจ่าย 2 ทางกับการทำโฮมสคูล บับเบิ้ล 3 ครอบครัว ที่ตกครอบครัวละเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว เธอจึงตัดสินใจให้ลูกลาออกจากโรงเรียน และเดินหน้าจัดการเรียนการสอนแบบหลัง

"โฮมสคูล บับเบิ้ล" เด็กเรียนสนุก-ผู้ปกครองแฮปปี้

โฮมสคูล บับเบิ้ล จัดการเรียนการสอนที่บ้าน จ้างครูปฐมวัยที่เข้าใจธรรมชาติและการเรียนรู้ ดูแลเด็กตั้งแต่ 10.00-17.00 น. และกินอยู่ที่บ้านผู้ปกครองได้ เพื่อลดความเสี่ยง COVID-19 ทำหน้าที่สอนภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ในช่วงที่เด็กเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติ วันละ 2 ชั่วโมง และภาษาจีนกับเหล่าซือ วันละ 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นสูตร 30-30-30

 

สุทธินันท์ อธิบายลักษณะการสอนว่า เธอไม่ได้ต้องการให้ลูกท่องจำทุกอย่าง แต่อยากให้ได้ประสบการณ์ ยกตัวอย่างคลาสภาษาอังกฤษ มีทั้งการเต้น เล่นเกม ตัดกระดาษ ตลอด 2 ชั่วโมง จะใช้การพูดโต้ตอบภาษาอังกฤษ

เช่นเดียวกับคลาสภาษาจีนที่มีการเล่านิทาน ระบายสี ร้องเพลง โดยตั้งเป้าหมายอยากให้ลูกสอบ YCT หรือ Youth Chinese Test การทดสอบความรู้ภาษาจีนกลางสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนภาษาอังกฤษ เน้นให้เด็กรู้อวัยวะ นับเลข วันเวลา และภาษาไทย เนื้อหา แม่ ก กา สะกดคำ ผันวรรณยุกต์

สิ่งที่ต้องการคือให้เขาได้ประสบการณ์ ได้ใช้ภาษา พัฒนา EF (Executive Function) รู้จักคิดต่อยอด

นอกจากนี้ ยังเวียนบ้านจัดการเรียนการสอน สัปดาห์ละ 1 บ้าน เจ้าบ้านหรือผู้ปกครองจะคอยจัดหาอาหารให้เด็ก จัดกิจกรรมทำส้มตำ ซูชิ เพื่อให้เด็กมีโอกาสเป็นเจ้าภาพ เรียกว่าโรงเรียนสกาย โรงเรียนเซนกิ โรงเรียนลานิ ซึ่งเด็กจะมีความรู้สึกถึงการแบ่งปัน ได้ดูแลเพื่อน ลดภาระพ่อแม่ และจัดเวลาได้ดีขึ้น

ทั้ง 3 ครอบครัวมีพันธสัญญาทางใจว่า จะดูแลรับผิดชอบลูกของครอบครัวอื่นด้วย ต้องดูแลตัวเองอย่างดี ฉีดวัคซีนทุกคน และให้ครูสวมแมสก์ขณะสอนลูก

ผ่านมาเกือบ 2 เดือนของการจัดโฮมสคูล บับเบิ้ล สุทธินันท์ ยืนยันว่า เห็นพัฒนาการของลูกและเพื่อน ๆ มากกว่าการเรียนหลักสูตรเรียนออนไลน์ของทางโรงเรียน

ลูกสนุกสนานในการเรียน วิ่งเล่นกัน ทักษะทางภาษาพัฒนาได้ดี ไม่เพียงจำคำศัพท์ แต่พูดโต้ตอบเป็นประโยคง่าย ๆ กับครูภาษาอังกฤษและจีนได้ อีกทั้งมีวินัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเอ่ยคำขอโทษและให้อภัยเพื่อน

ขั้นตอนต่อไป คือ การจดทะเบียนโฮมสคูลให้ลูก และประเมินสถานการณ์ COVID-19 อีกครั้งในปี 2565 ว่า จะให้ลูกกลับเข้าชั้นอนุบาล 3 ในโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่า การเตรียมความพร้อมอย่างดีจะไม่เกิดปัญหาเมื่อต้องสอบเข้า หรืออีกทางเลือก คือ ให้โฮมสคูลจนจบชั้นอนุบาล 3 และเข้าโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

คุยครูพี่เลี้ยง โฮมสคูล บับเบิ้ล

เดือนเพ็ญ เป็นเชื้อสาย (ครูโมลี) นำความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชาปฐมวัย พร้อมทั้งใจที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นครู มาทำหน้าที่เป็น "ครูพี่เลี้ยง" ให้กับนักเรียนตัวน้อย ที่จัดขึ้นเป็นกรุ๊ปเล็ก ๆ ภายในบ้าน

ผ่านมาเกือบ 2 เดือน คลุกคลีอยู่กับเด็ก ๆ ทุกคนมีความสุข และสนุกกับการเรียน

ครูโมลี เล่าให้เห็นบรรยากาศถึง "ห้องเรียน" ในบ้านที่เต็มไปด้วยการเรียนที่สนุกสนาน โดยตารางเรียนในแต่ละวันของเด็ก ๆ จะเริ่มตั้งแต่ 10.00-17.00 น. พักกลางวัน 12.00-13.00 น.

 

ช่วงเช้าจะเป็นการเรียนภาษาอังกฤษ และช่วงบ่ายเป็นภาษาจีน ซึ่งครูจะทำหน้าที่คอยช่วยดูเด็ก ๆ ขณะเรียนออนไลน์ให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเรียนมากที่สุด หากเด็กๆ เริ่มเล่น ก็จะคอยบอก ดึงความสนใจกลับมาให้ได้

เสริมพัฒนาการอารมณ์-จิตใจ

ช่วง 15.00-17.00 น. พักจากการเรียน ก็จะนำเด็ก ๆ ทำกิจกรรมพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ จัดกิจกรรมให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ และเล่นเป็นกลุ่ม ทั้งร้องเพลง เต้นเข้าจังหวะ อ่านหนังสือ บวกลบเลข ปั้นดินน้ำมัน ในแต่ละวันจะใช้ 3 กิจกรรม คือ อ่าน เขียน กิจกรรมสร้างสรรค์ แต่ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กในวันนั้น ๆ ด้วย

ก่อนเรียนได้ให้เด็ก ๆ คิดจำลองสถานการณ์ว่า นี้เป็นห้องเรียนในโรงเรียน การเรียนควบคู่ไปกับการเล่น เพราะฉะนั้นกิจกรรมก็ปรับให้ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก บางครั้งผู้ปกครองเสนอแนะว่า อยากให้ครูสอนเรื่องใดก็ปรับกันไป หากวันไหนเด็ก ๆ อารมณ์ดีก็จะพาเขียน อ่านมากขึ้น

การเรียนก็จะให้รู้สึกว่า ได้เล่นไปด้วย จะได้รู้สึกไม่เครียด อาจพัก 15 นาที อีก 20 นาที ก็จะนำเด็ก ๆ อ่านหนังสือเป็นสระพื้นฐาน นับเลข 1-50 ท่องเอ บี ซี แต่บางวันก็อาจจะยืดหยุ่นให้เลือก 2 อย่าง ยึดเสียงส่วนมาก เช่น เล่นบทบาทสมมุติที่พวกเขาชอบ

เด็กดูสนุก ครูก็มีความสุขไปกับเด็ก ๆ ด้วย

ครูโมลี เล่าว่า ลักษณะการสอนจะคล้ายกับการเป็นครูสอนพิเศษมากกว่า ยกตัวอย่างโรงเรียนจะมีการวางกฎไว้อีกแบบหนึ่ง เพราะต้องดูแลเด็ก 40 คน อาจจะไม่ค่อยได้เล่นกับเด็กมากแต่การเรียนในรูปแบบนี้เหมือนอยากให้เด็กได้ผ่อนคลายและสนุกมากกว่า ไม่ได้ตั้งกฎอะไรมาก

ช่วงแรกรู้สึกกดดัน เพราะตนเองไม่ได้สอนแบบนี้มานานแล้ว ไม่รู้พื้นฐานแต่ละคน แต่ละครอบครัวเลี้ยงเด็กมาอย่างไร แต่โชคดีมากที่ครอบครัวน้อง ๆ ทุกคนน่ารัก ขณะนี้รู้สึกสบายใจ และอยากสอนเขาไปเรื่อย ๆ จนโรงเรียนเปิด

บ้านนี้ให้บทบาทเราเต็มที่ บอกว่าดุได้นะสอนน้อง ก็เลยอุ่นใจอยู่ ตอนแรกกะว่าจะมาทำแค่ 3 เดือน ตอนนี้เริ่มสนุก 

 

ครูโมลี เล่าว่า ตนเองเรียนจบในสาขาปฐมวัย 5 ปี จากนั้นเข้าไปทำงานที่โรงเรียนเอกชนใน จ.ชลบุรี 2 ปี และอยากหาประสบการณ์ใหม่ จึงสมัครเข้าโครงการออแพร์ (Au Pair) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม ผ่านการเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย 2 ปี ก่อนกลับมาทำงานโรงแรมเพื่อไปสอบทำงานบนเรือ แต่สถานการณ์ COVID-19 ยาวนาน จึงมาสมัครเป็นครูพี่เลี้ยง รายได้จากโรงเรียนเอกชนต่างกับการมาพักอยู่กับครอบครัวของเด็กเลย ซึ่งโชคดีว่าครอบครัวนี้อบอุ่น

ขณะที่เพื่อนครูเอกชนจะพูดคุยสอบถามกันตลอด นำประสบการณ์ ความรู้ และเทคนิคการสอนมาแลกเปลี่ยนประยุกต์ใช้กัน ปัญหาของเพื่อนพบในช่วงการเรียนออนไลน์ คือ บางครั้งผู้ปกครองจะเครียด เมื่อเด็กไม่ฟัง ไม่เรียน ส่วนครูต้องเผชิญความคาดหวังจากผู้ปกครองในภาวะที่การสอนออนไลน์ยากกว่าการสอนแบบปกติ

การเรียนการสอนแบบโฮมสคูล บับเบิ้ล ที่ผู้ปกครองร่วมลงขันจ้างครูสอนลูก ๆ เป็นทางเลือกใหม่สำหรับครอบครัวที่มีความพร้อม ขณะที่หน่วยงานรัฐอาจต้องทบทวนจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมเพื่อเดินหน้าการศึกษาไทยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง